สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เตรียมตัวต้อนรับกล้องยักษ์รุ่นใหม่

เตรียมตัวต้อนรับกล้องยักษ์รุ่นใหม่

5 มิถุนายน 2558 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 6 ธันวาคม 2559
กล้องโทรทรรศน์กล้องแรกของโลกที่สร้างขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงไม่กี่เซนติเมตร ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษหลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างกล้องโทรทรรศน์ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อขยายขอบเขตการเรียนรู้จักรวาลให้ไกลขึ้น ละเอียดขึ้น กล้องโทรทรรศน์ชั้นนำของโลกที่สร้างขึ้นใหม่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากเป็นนิ้วเป็นระดับฟุต และต้องใช้เวลาถึง 180 ปี จึงเริ่มเข้าสู่พรมแดนของระดับเมตรเมื่อเฮอร์เชลสร้างกล้อง 40 ฟุตที่มีกระจกใหญ่ถึง 1.2 เมตรได้ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 วิทยาการของการสร้างกล้องก็แตะระดับ 10 เมตรจนได้ เมื่อกล้องเคกสร้างเสร็จสมบูรณ์ด้วยขนาดกระจกปฐมภูมิที่ใหญ่ถึง 10 เมตร

ปัจจุบัน กล้องโทรทรรศน์เชิงแสงที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือกล้องกรานเทคาน หรือ จีทีซี (Gran Telescopio Canarias) มีเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกปฐมภูมิ 10.4 เมตร ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะคะเนรี สร้างเสร็จไปเมื่อปี 2551 นี้เอง

กล้องกรานเทคาน (Gran Telescopio Canarias) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 10.4 เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงที่ใหญ่ที่สุดในโลก 


กระจกใหญ่ที่สุด

แม้กล้องกรานเทคานจะเป็นแชมป์กล้องโทรทรรศน์เชิงแสงยักษ์ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้มีกระจกปฐมภูมิใหญ่ที่สุด กล้องที่มีกระจกใหญ่ที่สุดคือกล้องฮอบบี-เอเบอร์ลี ตั้งอยู่ที่หอดูดาวแมกดอนัลในสหรัฐอเมริกา และกล้องซอลต์ของหอดูดาวแห่งชาติแอฟริกาใต้ในประเทศแอฟริกาใต้ ทั้งสองกล้องมีกระจกขนาด 11 9.8 เมตร เหตุที่กล้องฮอบบี-เอเบอร์ลีและกล้องซอลต์ไม่ได้เป็นแชมป์กล้องใหญ่ที่สุด เนื่องจากการระบุขนาดของกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงตามหลักไม่ได้วัดขนาดของกระจกจริง ๆ หากแต่วัดกันที่ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางของพื้นที่รับแสงที่จะสะท้อนเข้าไปสู่ส่วนรับภาพจริง ๆ ณ ขณะเวลาหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ช่องรับแสงยังผล กล้องส่วนใหญ่ใช้แสงจากกระจกทั้งบานอยู่แล้ว จึงใช้ขนาดของกระจกระบุเป็นขนาดของกล้องได้เลย แต่สำหรับฮอบบี-เอเบอร์ลีและซอลต์มีการออกแบบที่พิเศษไปกว่ากล้องอื่น กล้องนี้ตั้งอยู่บนฐานที่หมุนได้เฉพาะในแนวราบ ส่วนมุมเงยคงที่ การติดตามวัตถุในแนวดิ่ง จะใช้วิธีขยับชุดอุปกรณ์รับแสงที่จุดโฟกัสแทน ดังนั้นขณะเวลาใดเวลาหนึ่งจะใช้แสงจากพื้นที่กระจกไม่เต็มบาน แต่ใช้แสงจากพื้นที่เท่ากับวงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 9.2 เมตร จึงต้องนับว่ากล้องสองกล้องนี้เป็นกล้องขนาด 9.2 เมตร

กล้องฮอบบี-เอเบอร์ลี (บน) มีชุดโฟกัสที่เลื่อนตามแนวดิ่งได้ (ล่าง) ทำให้ไม่ต้องปรับทิศทางตามแนวดิ่งให้กล้องทั้งกล้อง 

เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่กล้องโทรทรรศน์เชิงแสงขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่สร้างขึ้นมีขนาดอยู่ในระดับ 10 เมตรทั้งสิ้น กล้องกล้องอื่นที่มีขนาดรองจากกล้องจีทีซีลงมา ล้วนมีขนาดไล่เลี่ยกัน ที่ 10 เมตร เช่นกล้องเคก และ เคก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกปฐมภูมิ 10 เมตร กล้องซอลต์กับกล้องฮอบบี-เอเบอร์ลี ก็มีขนาด 9.2 เมตร



อย่าได้คิดไปว่า ขนาด 10 เมตรคือขีดจำกัดของกล้องโทรทรรศน์เชิงแสง เพราะภายในไม่เกินสิบปีต่อจากนี้ จะมีกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงระดับ 25-40 เมตรสร้างเสร็จและพร้อมใช้งานถึงสามกล้อง กล้องทั้งสามจะเป็นผู้มาทำให้นิยามของคำว่ากล้องยักษ์ต้องเปลี่ยนไป กล้องยักษ์หลายกล้องที่เรียกขานกันในปัจจุบันอาจต้องกลายเป็นยักษ์แคระไปเมื่อถึงวันนั้น

ขณะนี้โครงการกล้องยักษ์ทั้งสามได้เริ่มการก่อสร้างไปแล้ว หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ใน พ.ศ. 2563 กล้องจีเอ็มที ที่มีขนาดช่องรับแสง 25.48 เมตร และกล้องทีเอ็มทีที่มีขนาดช่องรับแสง 30 เมตรจะสร้างเสร็จ กล้องทีเอ็มทีจะครองแชมป์ไปอีกราว ปี ก่อนที่จะต้องมอบตำแหน่งให้แก่กล้อง อี-อีแอลที ซึ่งมีขนาดกระจกปฐมภูมิใหญ่โตมหึมาถึง 39 เมตร

10 อันดับกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน


อันดับชื่อกล้องขนาดช่องรับแสงยังผล (เมตร)ที่ตั้ง
1กรานเทคาน (จีทีซี)10.4หอดูดาวโรเกเดลอสมูชาโช สเปน
2เคก 1, เคก 210หอดูดาวมานาเคอา ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
3ซอลต์9.2หอดูดาวแห่งชาติแอฟริกาใต้ แอฟริกาใต้
3ฮอบบี-เอเบอร์ลี9.2หอดูดาวแมกดอนัล เทกซัส สหรัฐอเมริกา
5ซุบะรุ8.2หอดูดาวมานาเคอา ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
6วีแอลที ยูที 1, วีแอลที ยูที 2, วีแอลที ยูที 3, วีแอลที ยูที 48.2หอดูดาวปารานัล ชิลี
7เจมิไนเหนือ8.1หอดูดาวมานาเคอา ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
7เจมิไนใต้8.1หอดูดาวเซอร์โรโตโลโลอินเตอร์อเมริกัน ชิลี
9เอ็มเอ็มที6.5หอดูดาวเอฟ.แอล.วิปเพิล สหรัฐอเมริกา
10แมกเจลแลน 1, แมกเจลแลน 26.5หอดูดาวลัสกัมปานัส ชิลี


กล้องจีเอ็มที

กล้องจีเอ็มที (Giant Magellan Telescope) ตั้งอยู่ที่หอดูดาวลัสกัมปานัสบนยอดเขาชื่อเดียวกัน ประเทศชิลี กระจกปฐมภูมิประกอบด้วยกระจกแผ่นกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.4 เมตร บานวางเรียงกัน ให้กำลังแยกภาพเทียบเท่ากระจกเดียวขนาด 24.5 เมตร มีพื้นที่รับแสง 368 ตารางเมตร เทียบเท่ากระจกเดี่ยวเส้นผ่านศูนย์กลาง 22 เมตร

กล้องจีเอ็มที 

แม้กระจกปฐมภูมิของจีเอ็มทีจะเป็นกระจกประกอบ แต่กระจกย่อยแต่ละบานของจีเอ็มทีก็ยังใหญ่ถึง 8.4 เมตร ซึ่งใหญ่กว่ากระจกปฐมภูมิของกล้องซุบะรุและวีแอลทีที่เป็นกล้องกระจกเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดเสียอีก แต่ละบานหนักถึง 20 ตัน ต้องใช้เวลาหล่อนาน เดือน เมื่อขึ้นรูปแล้วก็ต้องรอให้เย็นอีกครึ่งปี ก่อนที่จะเริ่มฝนโค้งและขัดเงา ซึ่งต้องใช้เวลาอีก ปีครึ่ง การทำกระจกของจีเอ็มทีจะซับซ้อนกว่าการทำกระจกของวีแอลทีหรือซุบะรุมาก เนื่องจากกระจกปฐมภูมิโค้งแบบไฮเพอร์โบลา ดังนั้นกระจก บานที่อยู่ด้านนอกจะโค้งแบบไม่สมมาตร ทำให้การขัดเงาและการตรวจสอบทำได้ยากมาก

กล้องทีเอ็มที

กล้องทีเอ็มที มีชื่อที่บ่งบอกขนาดชัดเจนว่า The Thirty Meter Telescope ตั้งอยู่ที่เขามานาเคอา รัฐฮาวาย เจ้าของโครงการของทีเอ็มทีเป็นรัฐบาลจากประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น และอาจมีประเทศอื่นเข้าร่วมด้วยในอนาคต

กล้องทีเอ็มที 

เช่นเดียวกับกล้องยักษ์ทั้งหลายที่ใช้กระจกประกอบทำเป็นกระจกปฐมภูมิ กล้องทีเอ็มทีใช้กระจกบานเล็กรูปหกเหลี่ยมขนาด 1.44 เมตรจำนวนถึง 492 บานมาประกบกัน ส่วนกระจกทุติยภูมิมีขนาด เมตร และมีกระจกตติยภูมิเป็นกระจกราบที่ทำหน้าที่สะท้อนลำแสงไปยังเครื่องมือที่ตั้งอยู่ในฐานยืดแบบเนสมิท รวมน้ำหนักกล้องและอุปกรณ์ทั้งหมดที่เคลื่อนไหวเกือบ 2,000 ตัน

กล้องทีเอ็มทีจะมีระบบปรับสภาพตามแสง ที่แม่นยำ ให้ความคมชัดดีกว่าภาพที่ได้จากกล้องฮับเบิลถึง 10 เท่า

กล้องอี-อีแอลที

กล้องอี-อีแอลที (The European Extremely Large Telescope (E-ELT)) ดำเนินงานโดยหอดูดาวยุโรปซีกใต้

ตั้งอยู่ที่เซอร์โรอาร์มาโซเนส ในทะเลทรายอะตากามา ทางตอนเหนือของชิลี กล้องนี้มีชื่อที่บอกลักษณะตัวเองได้ดีที่สุด ด้วยขนาดของกระจกปฐมภูมิถึง 39.3 เมตร ทำให้มีพื้นที่รับแสงรวมมากถึง 978 ตารางเมตร ซึ่งมากเกือบเท่ากับพื้นที่ของทีเอ็มทีกับจีเอ็มทีรวมกัน แม้แต่กระจกทุติยภูมิก็ยังมีขนาดถึง 4.2 เมตร กระจกปฐมภูมิประกอบด้วยกระจกย่อยรูปหกเหลี่ยมขนาด 1.45 เมตรจำนวน 798 บาน น้ำหนักของกล้องเฉพาะส่วนหลักประมาณ 2,800 ตัน

กล้องอี-อีแอลที 

ก่อนหน้านี้ หอดูดาวยุโรปซีกใต้เคยริเริ่มโครงการสร้างกล้องที่มีขนาดใหญ่ถึง 100 เมตรมาก่อน มีชื่อว่าอาวล์ (OWL--Overwhelmingly Large Telescope) แม้แต่กระจกทุติยภูมิของกล้องนี้ก็ยังมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากล้องอี-อีแอลที แต่เนื่องจากงบประมาณกับเทคโนโลยีในการสร้างอยู่ไกลเกินเอื้อม อีเอสโอจึงต้องยกเลิกโครงการอาว์ลไป แล้วหันมาสร้างกล้องอี-อีแอลทีแทน


ขนาดของกระจกสะท้อนแสงมีความสำคัญอย่างไรหรือ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องพยายามหาวิธีสร้างกล้องที่ใหญ่ขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด กระจกที่ใหญ่ขึ้นไม่ได้เพิ่มกำลังขยายภาพ แต่กระจกที่ใหญ่ขึ้น หมายถึงพื้นที่รับแสงดาวเพิ่มขึ้น กำลังรวมแสงก็เพิ่มขึ้น พื้นที่รับแสงเป็นสัดส่วนกำลังสองต่อเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจก กล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง เมตรมีกำลังรวมแสงมากกว่ากล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง เมตร เท่า กล้องอี-อีแอลทีซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจก 39.3 เมตร ใหญ่กว่ากล้องเคก 3.9 เท่า ก็จะมีกำลังรวมแสงมากกว่ากล้องเคกถึง 15.5 เท่า!

กล้องที่มีกำลังรวมแสงมาก ก็จะถ่ายภาพดาวที่มีแสงหรี่มากได้ดีขึ้น แสดงรายละเอียดของวัตถุที่แสงจางได้มากขึ้นด้วย ปริมาณแสงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาสเปกตรัม กล้องอี-อีแอลทีที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางกระจกปฐมภูมิ 39.3 เมตร จะมองเห็นได้แม้แต่ดาวที่มีอันดับความสว่าง 36! ในขณะที่กล้องฮับเบิลมองเห็นได้จางที่สุดถึง 31.5 เท่านั้น

กระจกปฐมภูมิที่มีขนาดใหญ่ ยังมีผลต่อคุณสมบัติสำคัญของกล้องอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ กำลังแยกภาพ ตัวเลขนี้เป็นตัวบอกว่ากล้องนี้จำแนกรายละเอียดได้มากน้อยเท่าใด กำลังแยกภาพที่สูงจำเป็นสำหรับการสังเกตการณ์ที่ต้องการรายละเอียดสูง เช่น การสังเกตดาวคู่ การตรวจหาดาวเคราะห์ต่างระบบ

ด้วยสมบัติพื้นฐานด้านการเลี้ยวเบนของแสง ทำให้กำลังแยกภาพของกล้องถูกจำกัดด้วยขนาดของกระจก กระจกยิ่งใหญ่กำลังแยกภาพยิ่งสูง กำลังแยกภาพระบุด้วยขนาดเชิงมุมที่เล็กที่สุดที่กล้องแยกแยะได้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมีกำลังแยกภาพ 0.05 พิลิปดา หมายความว่าวัตถุที่มีขนาดเชิงมุม 0.05 พิลิปดาจะกินพื้นที่ภาพ พิกเซลในภาพที่ถ่ายโดยฮับเบิล แต่การเพิ่มขนาดกระจกจะไร้ประโยชน์หากกล้องตั้งอยู่ในบรรยากาศที่ปั่นป่วนพลิ้วไหวตลอดเวลา ความพลิ้วไหวของบรรยากาศเป็นศัตรูตัวสำคัญของนักดาราศาสตร์มาทุกยุคทุกสมัย จนถึงกับต้องมีแนวคิดในการเอากล้องโทรทรรศน์ไปไว้นอกชั้นบรรยากาศ เช่น กล้องฮับเบิล ไอแรส เคปเลอร์

นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบปรับสภาพตามแสง (adaptive optics) ขึ้นมาตั้งแต่ครึ่งศตวรรษก่อน เป็นวิธีแก้ไขความเพี้ยนของภาพดาวที่เกิดจากความพลิ้วไหวของบรรยากาศโดยการเพิ่มกระจกหรือเลนส์ที่บิดโค้งหรือหันเหต่อต้านสภาพอากาศได้ วิธีนี้ทำให้กล้องที่อยู่บนพื้นโลกสร้างภาพได้คมชัดไม่แพ้กล้องที่อยู่ในอวกาศเลยทีเดียว เทคโนโลยีระบบปรับสภาพตามแสงได้กลายมาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในหอดูดาวสมัยใหม่ รวมถึงกล้องยักษ์ใหญ่ทั้งสามกล้องที่กล่าวถึงด้วย ด้วยระบบปรับสภาพตามแสงที่ทรงประสิทธิภาพ ทำให้นักดาราศาสตร์คาดว่าภาพจากอี-อีแอลทีจะคมชัดกว่าภาพที่ได้จากฮับเบิลถึง 15 เท่า

กล้องยักษ์ทั้งสามกล้องเป็นกล้องสะท้อนแสงแบบริตชีย์-เกรเตียง กล้องแบบริตชีย์-เกรเตียงเป็นชนิดที่ดัดแปลงมาจากแคสซิเกรน โดยทำให้ทั้งกระจกปฐมภูมิและทุติยภูมิเป็นกระจกโค้งไฮเพอร์โบลา ข้อดีของกล้องแบบนี้คือ ขจัดความคลาดแบบพู่ได้เกือบทั้งหมด ความคลาดแบบพู่คือความคลาดที่ทำให้ภาพดาวที่อยู่เยื้องไปจากกลางกรอบภาพมีรูปร่างเป็นทรงพู่ หรือคล้ายดาวหางที่หันหัวเข้าหากึ่งกลางภาพ ข้อดีอีกข้อหนึ่งก็คือ เป็นระบบที่ลำกล้องสั้น เมื่อเทียบกับกล้องแบบอื่นที่ความยาวโฟกัสปฐมภูมิเท่ากัน กล้องริตชีย์-เกรเตียงจะสั้นที่สุด กล้องที่สั้นลงหมายถึงน้ำหนักของกล้องที่ลดลง ขนาดของโดมหอดูดาวก็เล็กลง เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ล้วนแต่เป็นกล้องระบบนี้ทั้งสิ้น



ในปี 2518 สหภาพโซเวียตได้เปิดใช้งานกล้องโทรทรรศน์บีทีเอ-6 ที่หอดูดาวบนเทือกเขาคอเคซัส ด้วยขนาดของกระจกปฐมภูมิถึง เมตร ทำให้กล้องนี้เป็นกล้องมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างกล้องเฮลไปถึง เมตร บีทีเอ-6 ครองตำแหน่งอยู่ 15 ปีก่อนที่จะถูกกล้องเคก-1 แซงหน้าไป กล้องบีทีเอ-6 อาจมีผลงานไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับกล้องอื่นในระดับเดียวกัน สาเหตุหนึ่งเนื่องจากคุณภาพของกระจกที่มีจุดบกพร่องหลายจุด ทำเลการตั้งกล้องที่ไม่เหมาะสม และการออกแบบโดมที่ใหญ่เกินจำเป็น แต่กล้องบีทีเอ-6 ได้สร้างนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่กลายมาเป็นมาตรฐานของกล้องขนาดใหญ่ในยุคถัดมา นั่นคือ ฐานยึดมุมเงยมุมทิศ

กล้องบีทีเอ-6 

ในโลกของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ใช้กล้องขนาดเล็ก ฐานยืดมุมเงยมุมทิศคือตัวเลือกสำหรับความประหยัด การปรับทิศทางของกล้องในระบบนี้ทำได้โดยการเปลี่ยนมุมราบและมุมเงย แต่เนื่องจากการกวาดกล้องในระบบนี้ไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนของดาวที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ฐานยึดระบบนี้จึงเป็นระบบที่ใช้ในงานดูดาวแบบไม่จริงจัง หรือดูดาวโดยไม่มีการถ่ายภาพหรือตรวจวัดเพื่องานศึกษาเบื้องลึก หากต้องมีการถ่ายภาพหรือการสังเกตการณ์อย่างมืออาชีพแล้ว จะต้องมีระบบติดตามดาวที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ซึ่งก็คือฐานยึดระบบพิกัดศูนย์สูตร

ด้วยการบุกเบิกของกล้องบีทีเอ-6 ทำให้ฐานยึดพิกัดศูนย์สูตรไม่ใช่ทางเลือกสำหรับกล้องยักษ์ที่ระดับหลายเมตรอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้า วิศวกรจึงเลือกที่จะให้กล้องยักษ์กลับมาหากลไกที่เรียบง่ายของฐานยึดมุมเงยมุมทิศอีกครั้ง ฐานยึดระบบนี้มีการเคลื่อนไหวกล้องที่เรียบง่าย โดมของกล้องจึงมีขนาดไม่ต้องใหญ่กว่ากล้องมากอย่างในอดีต เป็นการลดต้นทุนการก่อสร้างลงได้อีกมาก ส่วนการควบคุมการเคลื่อนที่ให้สอดคล้องกับการหมุนรอบตัวเองของโลก ปล่อยให้คอมพิวเตอร์ควบคุมแทนที่จะให้เป็นหน้าที่ของกลไก กล้องยักษ์ในรุ่นหลังจึงเลือกใช้ฐานยึดแบบมุมเงยมุมทิศเกือบทั้งหมด

เปรียบเทียบขนาดกระจกปฐมภูมิของกล้องยักษ์บางตัวกับสนามบาสเก็ตบอล 

นับแต่ที่เราเริ่มแหงนหน้าดูท้องฟ้า เราก็เริ่มตั้งคำถามว่า มีดาวเคราะห์แบบโลกที่ไหนอีกหรือเปล่า เราอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเอกภพหรือไม่ มีใครอยู่ที่ดาวดวงนั้นไหม ในขณะที่นักเอกภพวิทยาตั้งคำถามว่าดาราจักรแรกในเอกภพเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สสารมืดและพลังงานมืดคืออะไรกันแน่ ชะตาของเอกภพจะดำเนินไปอย่างไร ขอบเขตการเรียนรู้ที่เคยถูกจำกัดด้วยความสามารถของกล้องในปัจจุบันกำลังจะขยายออก คำถามคาใจเหล่านี้ของนักดาราศาสตร์อาจได้รับคำตอบเมื่อถึงวันที่กล้องยักษ์ทั้งสามกล้องสร้างเสร็จ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้านี้

บทความเผยแพร่ครั้งแรกในวารสารทางช้างเผือก ฉบับกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2557