เมื่อปีที่แล้ว ได้มีการค้นพบหนึ่งที่น่าจะเป็นข่าวดาราศาสตร์โด่งดังที่สุดในรอบปี นั่นคือการค้นพบวัตถุไคเปอร์ยักษ์ดวงใหม่ชื่อ 2003 ยูบี 313 วัตถุดวงนี้มีขนาดใหญ่มากจนอาจจะนับเป็นดาวเคราะห์ดวงที่สิบของระบบสุริยะก็ได้ เพราะขนาดที่ประเมินไว้เบื้องต้นคือ ใหญ่กว่าดาวพลูโตราวหนึ่งในสาม การสำรวจในย่านอินฟราเรดต่อมาโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์และกล้องภาคพื้นดินก็ยืนยันว่ามีขนาดราว 3,000 กิโลเมตร (ผิดพลาดประมาณ 400 กิโลเมตร)
แต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจดาวดวงนี้ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล แต่ผลออกมากลับพบว่า 2003 ยูบี 313 น่าจะมีขนาดประมาณ 2,400 กิโลเมตร ผิดพลาดไม่เกิน 100 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าดาวพลูโตเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ตามข้อมูลของ ไมเคิล อี. บราวน์ หัวหน้าคณะนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบ 2003 ยูบี 313 การที่พบว่าวัตถุดวงนี้มีขนาดเล็กกว่าที่ประเมินไว้ แสดงว่ามีวัตถุที่มีพื้นผิวสว่างมาก สะท้อนแสงอาทิตย์ได้มากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเทียบกับวัตถุอื่นในระบบสุริยะแล้วก็เป็นรองเพียงดวงจันทร์เอนเซลาดัสเท่านั้นที่สะท้อนแสงได้มากกว่านี้
ปัจจุบัน สมาชิกใหม่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 14,500 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่เกือบไกลที่สุดในวงโคจร ความขาวสว่างของพื้นผิวดาวคาดว่าเป็นละอองแข็งของไนโตรเจนหรือมีเทนจากบรรยากาศที่ตกลงบนพื้นผิวเหมือนหิมะ