สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แสงวาบรังสีแกมมาซัดสวิฟต์ถึงวูบ

แสงวาบรังสีแกมมาซัดสวิฟต์ถึงวูบ

27 ก.ค. 2553
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์พบแสงวาบรังสีแกมมาใหม่ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยตรวจวัดได้ 
แสงวาบรังสีแกมมาเป็นการปะทุสั้น ๆ ของรังสีพลังงานสูงมาก โดยเฉลี่ยเกิดขึ้นวันละครั้ง การปะทุจะเริ่มจากรังสีแกมมาแล้วจางหายไปพร้อมกับตามมาด้วยแสงเรืองค้างของรังสีในย่านความถี่ที่พลังงานน้อยถัดลงมาเรื่อย ๆ เช่นอัลตราไวโอเลต แสงขาว และอินฟราเรด
หอสังเกตการณ์อวกาศสวิฟต์ มีกล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์อยู่กล้องหนึ่ง ประจำการตั้งแต่ปี 2548 มีหน้าที่เฉพาะในการสังเกตการณ์และวัดความสว่างของแสงวาบรังสีแกมมาโดยเฉพาะ 
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน แสงวาบรังสีแกมมาหนึ่ง ชื่อว่า จีอาร์บี 100621 เอ (GRB 100621A) ได้เดินทางผ่านอวกาศมาเป็นเวลาถึงราวห้าพันล้านปีมาถึงโลกและตรวจจับได้โดยกล้องของสวิฟต์ แม้กล้องสวิฟต์จะออกแบบมาเพื่อรับมือกับรังสีพลังงานสูงโดยเฉพาะ แต่ผู้ออกแบบกล้องสวิฟต์ก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีแสงวาบเข้มข้นระดับนี้อยู่ ผลก็คือแสงวาบนั้นถึงกับทำให้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลของกล้องรังสีเอกซ์ของสวิฟต์ต้องปิดตัวเองไป
"มีโฟตอนพุ่งเข้าใส่ตัวตรวจจับของกล้องมากเกินไปจนนับไม่ทัน มันเหมือนกับเอามาตรวัดน้ำฝนไปวัดอัตราไหลของคลื่นสึนามิ" ฟิล อีวานส์ นักวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักร หนึ่งในผู้เขียนซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลของหอสังเกตการณ์สวิฟต์เปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังคงวัดความสว่างของแสงวาบรังสีแกมมานี้ได้ ด้วยการวัดโฟตอนในตำแหน่งที่ห่างจากศูนย์กลางของแสงวาบออกมา เนื่องจากที่ศูนย์กลางของแสงวาบสว่างเกินไปที่จะวัด ด้วยเทคนิคนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงทราบว่า จีอาร์บี 100621 เอ สว่างกว่าแสงวาบรังสีแกมมาทั่วไปถึง 168 เท่า และสว่างกว่าแสงวาบที่สว่างที่สุดก่อนหน้านี้ถึงห้าเท่า
ไบรอัน ชมิดท์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียในแคนเบอร์รา เชื่อว่า การค้นพบจีอาร์บี 100621 เอ ได้ขยายขอบเขตจินตนาการของนักดาราศาสตร์เกี่ยวกับความแรงที่เป็นไปได้ของดาวระเบิดออกไปอีกมาก และถึงกับกล่าวว่า นี่เป็นการระเบิดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยพบเห็นเลยทีเดียว
ชมิดท์ยังกล่าวอีกว่า งานส่วนที่สำคัญที่สุดยังมาไม่ถึง นักดาราศาสตร์ยังจะต้องประเมินหาขนาดของดาวที่เป็นต้นกำเนิดของการระเบิดนี้ด้วย ลองคิดถึงความรุนแรงของการระเบิดของมันแล้ว แทบจะนึกภาพไม่ออกเลยว่าดาวที่เป็นต้นกำเนิดของมันจะใหญ่โตมโหฬารขนาดไหน 
แสงวาบรังสีแกมมาจีอาร์บี 100621 เอ (GRB 100621A) ถ่ายโดยกล้องสวิฟต์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553

แสงวาบรังสีแกมมาจีอาร์บี 100621 เอ (GRB 100621A) ถ่ายโดยกล้องสวิฟต์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 (จาก NASA/Swift/Stefan Immler)

ดาวเทียมสวิฟต์ของนาซา

ดาวเทียมสวิฟต์ของนาซา

ที่มา: