สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เพื่อนบ้านใหม่ของทางช้างเผือก

เพื่อนบ้านใหม่ของทางช้างเผือก

3 พ.ค. 2548
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ชุมชนทางช้างเผือกของเราดูเหมือนจะใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อย เมื่อเบท วิลล์แมนจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กค้นพบดาราจักรบริวารของทางช้างเผือกอีกดาราจักรหนึ่ง นับเป็นดาราจักรบริวารที่สิบสามของทางช้างเผือกที่เคยค้นพบ

ดาราจักรเพื่อนบ้านใหม่นี้มีชื่อว่า ดาราจักรหมีใหญ่ ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวที่พบ เป็นดาราจักรแคระ อยู่ห่างเพียง 350,000 ปีแสง มีความกว้างเพียง 1,600 ปีแสง และมีความสว่างรวมทั้งดาราจักรเท่ากับดวงอาทิตย์ 40,000 ดวงเท่านั้น จัดเป็นดาราจักรที่มีสภาพส่องสว่างต่ำที่สุดเท่าที่เคยรู้จักกันมา 

คณะของวิลล์แมนค้นพบดาราจักรนี้จากฐานข้อมูลของเอสดีเอสเอส (SDSS--Sloan Digital Sky Survey) การค้นพบเกิดขึ้นเมื่อคณะนักสำรวจได้สังเกตพบจำนวนของดาวยักษ์แดงมากผิดปรกติในกลุ่มดาวหมีใหญ่ จึงได้สำรวจเพิ่มเติมในต้นเดือนมีนาคมโดยใช้กล้องไอแซกนิวตันขนาด 2.5 เมตรในหมู่เกาะคะเนรี และการสำรวจนี้ก็ได้ยืนยันสิ่งที่พบ สรุปได้ว่าดาวเหล่านั้นแท้จริงเป็นสมาชิกของดาราจักรแคระอยู่ห่างออกไป 350,000 ปีแสง ดาวแต่ละดวงมีอายุมากเกือบ 13,000 ล้านปี 

ความจริงจะเรียกว่าเพื่อนบ้านใหม่ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะดาราจักรนี้ได้อยู่ของมันอย่างนั้นมานานแล้ว เพียงแต่นักดาราศาสตร์เพิ่งไปค้นพบเท่านั้น สาเหตุที่เพิ่งพบเพราะว่าดาราจักรนี้มีดาวเพียงไม่กี่หมื่นดวงและแต่ละดวงก็จางมาก จนกลมกลืนไปกับดาวอื่นในดาราจักรทางช้างเผือกที่เป็นฉากหน้าจนหมด จึงหลุดพ้นสายตาของนักดาราศาสตร์มานานกระทั่งเพิ่งมาค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้

การค้นพบนี้ไม่เพียงแค่รู้จักดาราจักรอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น หากยังมีความสำคัญในด้านจักรวาลวิทยาอีกด้วย เพราะการที่เพิ่งพบดาราจักรใหม่ทั้ง ๆ ที่อยู่ใกล้แค่นี้ ย่อมหมายความว่าในอวกาศอันกว้างใหญ่ยังมีดาราจักรที่ยังซ่อนเร้นที่ยังรอคอยการค้นพบอีกมาก ซึ่งอาจให้เบาะแสบางอย่างเกี่ยวกับวัตถุมืดก็ได้

วิลล์แมนกล่าวว่า การค้นพบนี้สำคัญมาก และอาจช่วยตอบปัญหาข้อหนึ่งในวิชาดาราศาสตร์สาขาจักรวาลวิทยา ปัญหานี้เรียกกันว่า ปัญหาดาราจักรสูญหาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสสารมืด ปัญหาข้อนี้เกิดจากการที่พบว่าจำนวนดาราจักรที่จำเป็นในการทำให้ดาราจักรต่าง ๆ มีการเกาะกลุ่มกันเป็นกระจุกและเรียงร้อยกันเป็นสายดังที่ปรากฏในปัจจุบันมีมากกว่าจำนวนที่สำรวจพบจริง ๆ มาก นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าน่าจะมีดารจักรแคระจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ระหว่างดาราจักรขนาดใหญ่แต่สำรวจไม่พบ บางทีดาราจักรแคระหมีใหญ่นี้อาจเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นก็ได้

ดาราจักรแคระหมีใหญ่นี้ยังเป็นเหมือนประตูเวลาที่นำไปสู่เอกภพในยุคเริ่มต้นอีกด้วย เนื่องจากดาราจักรต่าง ๆ มีวิวัฒนาการแบบรวมเล็กเป็นใหญ่ กล่าวคือ ในช่วงเริ่มต้นของเอกภพ ดาราจักรที่เกิดขึ้นเป็นดาราจักรแคระ ต่อมาดาราจักรเล็กน้อยเหล่านั้นได้หลอมรวมกันเป็นดาราจักรที่ใหญ่ขึ้น การค้นพบและศึกษาดาราจักรแคระที่จางมากเช่นนี้ย่อมช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจการกำเนิดดาราจักรเป็นอย่างดี

ดาราจักรแคระหมีใหญ่มีใจกลางอยู่ที่ไรต์แอสเซนชัน 10 ชั่วโมง 34 นาที 56 วินาที เดคลิเนชัน +51o 54' 43" ความกว้างประมาณ 1/3 องศา แม้จะจางมาก แต่ก็มีดาวที่มีอันดับความสว่างถึง 19 อยู่หลายดวง 

ข่าวที่คล้ายกัน:

    ตำแหน่งของดาราจักรแคระหมีใหญ่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (กากบาทแดง) บริวารของดาราจักรทางช้างเผือกล่าสุด

    ตำแหน่งของดาราจักรแคระหมีใหญ่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (กากบาทแดง) บริวารของดาราจักรทางช้างเผือกล่าสุด

    ที่มา: