สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์แม่เหล็กในระบบสุริยะอื่น

ดาวเคราะห์แม่เหล็กในระบบสุริยะอื่น

26 ก.พ. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
การศึกษาระบบสุริยะอื่นนอกเหนือจากระบบสุริยะของเราได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว ล่าสุดนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียและสภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา สามารถตรวจพบสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นได้เป็นครั้งแรก

การค้นพบนี้เกิดจากการใช้กล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย ขนาด 3.6 เมตรในฮาวายสำรวจดาว เอชดี 179949 ดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ดวงหนึ่งอยู่ห่างออกไป 90 ปีแสง 

ก่อนหน้านี้ในปี 2543 มีการค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ประมาณดาวพฤหัสสบดีดวงหนึ่งโคจรรอบดาวดวงนี้ด้วยวงโคจรแคบ ๆ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 560,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โคจรรอบดาวแม่ครบรอบทุก ๆ 3.09 วัน

แต่การสำรวจครั้งล่าสุดนี้พบว่ามีจุดสว่างบนชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดาวที่ดูเหมือนมีการเคลื่อนที่ด้วย หลังจากติดตามตำแหน่งของจุดสว่างนี้เป็นช่วงเวลากว่าปี จึงทราบแน่ชัดว่าจุดสว่างนั้นมีการเคลื่อนที่สอดคล้องกับคาบการหมุนของดาวเคราะห์ 

  

นักดาราศาสตร์คณะนี้อธิบายว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้จะต้องมีสนามแม่เหล็กอยู่ และสนามแม่เหล็กนี้ถ่ายเทพลังงานไปสู่บรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ของดาวแม่ ทำให้เกิดความร้อนขึ้นจากเดิมที่ร้อน 7,760 องศาเซลเซียสขึ้นไปอีก 75 องศาฟาเรนไฮต์ การค้นพบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พบว่าดาวเคราะห์ทำให้ดาวฤกษ์แม่ร้อนขึ้นได้

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า สนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์เกิดจากการหมุนของแกนเหล็กแข็งภายใต้แกนชั้นนอกที่หลอมเหลวภายในโลก ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้นมา ดังนั้นการค้นพบสนามแม่เหล็กบนดาวเคราะห์ดวงอื่นจึงเป็นช่วยให้มองเห็นองค์ประกอบสภาพภายในดาวเคราะห์ดวงนั้น และอาจมองไปถึงต้นกำเนิดของดาวเคราะห์ดวงนั้นได้เลยทีเดียว

นอกจากนี้การที่พบว่าดาวเคราะห์ทำให้เกิดจุดสว่างเคลื่อนที่บนดาวฤกษ์ได้ อาจช่วยในการค้นหาดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่อาจจะเล็กจนไม่สามารถตรวจวัดด้วยวิธีอื่น แต่มีสนามแม่เหล็กให้ตรวจจับได้ 

สนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์แบบดาวพฤหัสบดีที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในระยใกล้อาจทำให้ดาวฤกษ์ร้อนขึ้นและทำให้เกิดจุดบนผิวดาวฤกษ์ได้

สนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์แบบดาวพฤหัสบดีที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในระยใกล้อาจทำให้ดาวฤกษ์ร้อนขึ้นและทำให้เกิดจุดบนผิวดาวฤกษ์ได้

ที่มา: