สมาคมดาราศาสตร์ไทย

หอสังเกตการณ์ใหม่ไขปัญหานิวทริโน

หอสังเกตการณ์ใหม่ไขปัญหานิวทริโน

11 พ.ค. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ที่ประชุมดาราศาสตร์อเมริกาที่นิวเม็กซิโกเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้แสดงผลการสำรวจจากหอสังเกตการณ์นิวทริโนแห่งใหม่ของแคนาดาที่พิสูจน์ชัดว่า นิวทริโนมีมวลจริง และสามารถไขปริศนานิวทริโนของดวงอาทิตย์ได้อย่างสิ้นเชิง 

เอสเอ็นโอ (SNO -- Sudbury Neutrino Observatory) เป็นหอสังเกตการณ์นิวทริโนของแคนาดา เริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2542 เป็นหอสังเกตการณ์นิวทริโนที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ ความจริงแล้วไม่ได้เป็นหอ แต่เป็นฐานใต้ดิน ตั้งอยู่ในเหมืองนิกเกิลใกล้เมืองซัดเบอรี ออนทาริโอ ลึกลงไปใต้ดิน กิโลเมตร ประกอบด้วยถังน้ำพลาสติกขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร ภายในบรรจุเฮฟวีวอเตอร์บริสุทธิ์ 1,000 ตัน ล้อมรอบด้วยตัวตรวจจับแสงระบบโฟโตมัลติพลายเออร์เกือบ 10,000 ตัว ทำหน้าที่จับแสงวาบที่เกิดจากอนุภาคนิวทริโนชนเข้ากับเฮฟวีวอเตอร์ 

ในแต่ละวัน เอสเอ็นโอตรวจจับแสงวาบจากนิวทริโนประมาณ 10 ครั้ง นิวทริโนราว 99 เปอร์เซ็นต์ที่ตรวจจับได้มีแหล่งกำเนิดมาจากใจกลางดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นผลจากปฏิกิริยาหลอมนิวเคลียส (nuclear fusion) ปฏิกิริยานี้ทำให้เกิดนิวทริโนชนิดหนึ่งเรียกว่าอิเล็กตรอนนิวทริโน ซึ่งเป็นนิวทริโนชนิดหนึ่งในจำนวน ชนิด นิวทริโนอีก ชนิดที่เหลือคือ มิวออนนิวทริโน และเทานิวทริโน 

นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบนิวทริโนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้ว แต่การค้นพบได้ทำให้เกิดปัญหาข้อหนึ่งขึ้นมา เนื่องจากนิวทริโนจากดวงอาทิตย์ที่ตรวจพบมีน้อยกว่าจำนวนที่ควรจะมีตามทฤษฎีมาก นี่หมายความว่าต้องมีบางสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น อาจเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ หรือทฤษฎีเกี่ยวกับนิวทริโน ปัญหานี้จัดเป็นหนึ่งในสุดยอดปริศนาในดาราศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ ปริศนานิวทริโนของดวงอาทิตย์ 

หอสังเกตการณ์นิวทริโนในอดีตตรวจจับได้เพียงอิเล็กตรอนนิวทริโนเท่านั้น ส่วนเอสเอ็นโอเป็นตัวตรวจจับนิวทริโนตัวแรกที่สามารถตรวจจับนิวทริโนได้ทั้งสามชนิด และด้วยความสามารถในข้อนี้ของเอสเอ็นโอทำให้สามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ผ่านมาทฤษฎีดวงอาทิตย์ไม่มีอะไรผิด จำนวนของนิวทริโนที่วัดได้ตรงกับจำนวนที่ได้ตามทฤษฎี จำนวนนิวทริโนที่แตกต่างกันตามที่วัดกันได้ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเนื่องจากนิวทริโนส่วนใหญ่ของอิเล็กตรอนนิวทริโนได้เปลี่ยนไปเป็นนิวทริโนชนิดอื่นในขณะที่นิวทริโนพุ่งจากแกนของดวงอาทิตย์ออกมาสู่ภายนอก 

ขณะที่นักดาราศาสตร์ภูมิใจในผลงานของเอสเอ็นโอที่สามารถคลี่คลายปริศนานิวทริโนไปได้ แต่ปริศนาข้อใหม่ก็เกิดขึ้นในทันที เนื่องจากนิวทริโนจะเปลี่ยนชนิดได้ก็ต่อเมื่อมีมวลเท่านั้น แต่ตามแบบจำลองมาตรฐานของทฤษฎีฟิสิกส์อนุภาคระบุว่านิวทริโนทุกชนิดไม่มีมวล ทั้งยังไม่มีประจุอีกด้วย 

หรือนี่หมายความว่า แบบจำลองมาตรฐานถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง 

ใจกลางของหอสังเกตการณ์ซัดเบอรี เป็นถังน้ำขนาดใหญ่บรรจุเฮฟวีวอเตอร์ถึง 1,000 ตัน

ใจกลางของหอสังเกตการณ์ซัดเบอรี เป็นถังน้ำขนาดใหญ่บรรจุเฮฟวีวอเตอร์ถึง 1,000 ตัน

ที่มา: