สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฮับเบิลพบดาวพิสดาร

ฮับเบิลพบดาวพิสดาร

8 มิ.ย. 2546
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อต้นเดือนมกราคม 2545 นิโคลัส บราวน์ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวออสเตรเลียถ่ายภาพกลุ่มดาวยูนิคอร์น เขาได้สังเกตว่ามีดาวอันดับความสว่าง 10 ดวงหนึ่งปรากฏอยู่ในที่ ๆ ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากที่โลกทราบข่าวการค้นพบนี้ นักดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นทั่วโลกต่างพุ่งความสนใจมายังดาวดวงนี้ และได้พบว่ามีความสว่างมากขึ้นเป็น 6.5 หลังจากนั้นจึงได้จางลงไป 

หลังจากการค้นพบไม่กี่สัปดาห์ นักดาราศาสตร์สังเกตว่า รอบ ๆ ดาว วี 838 ยูนิคอร์นมีชั้นก๊าซห่อหุ้มอยู่และดูเหมือนกับขยายขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อว่าเป็นสสารที่ถูกพ่นออกมาจากดาว วี 838 ยูนิคอร์น ในตอนแรกก้อนก๊าซมีลักษณะทึบแสง แต่ต่อมาค่อยสว่างขึ้นเนื่องจากการสะท้อนแสงไปมาระหว่างฝุ่นในชั้นก๊าซเอง 

ขณะนี้ ชั้นก๊าซยังคงขยายขึ้นและมีขนาดเชิงมุมถึงสองเท่าของดาวพฤหัสบดีแล้ว จากความรู้เกี่ยวกับการเดินทางของแสงและอัตราขยายตัวของชั้นก๊าซ ทำให้สามารถประเมินระยะห่างของวัตถุนี้ได้ 20,000 ปีแสง ที่ระยะห่างและความสว่างปรากฏเท่านี้ หมายความว่า ดาวดวงนี้มีความส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 600,000 เท่า 

การปะทุของ วี 838 ยูนิคอร์นคล้ายกับการปะทุของโนวา แม้สเปกตรัมจะแสดงชัดว่าเป็นดาวคู่ แต่ก็ไม่พบหลักฐานของการถ่ายเทสสารระหว่างดาวดังที่เกิดขึ้นในโนวา และไม่มีการพ่นสสารของเนื้อดาวออกมาดังที่เกิดในซูเปอร์โนวา จึงยากที่จะสรุปว่าวัตถุนี้คืออะไรกันแน่ วัตถุหรือปรากฏการณ์ชนิดใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยก็ได้ 

จากการสำรวจสเปกตรัมของกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดสหราชอาณาจักรในฮาวาย พบว่า วี 838 ยูนิคอร์นเป็นดาวที่เย็นมาก จริง ๆ แล้วเป็นดาวยักษ์ใหญ่ที่เย็นที่สุดเท่าที่เคยพบมาเลยทีเดียว มีขนาด 800 เท่าของดวงอาทิตย์ อุณหภูมิพื้นผิวในเดือนมีนาคม 2545 วัดได้ประมาณ 4,000 เคลวิน ซึ่งเป็นอุณหภูมิทั่วไปของดาวยักษ์ใหญ่ แต่หลังจากนั้นอีกเพียง เดือน อุณหภูมิลดลงเหลือเพียง 1,000 เคลวินเท่านั้น ซึ่งเย็นกว่าดาวแคระน้ำตาลบางดวงเสียอีก 



    ที่มา: