สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุไคเปอร์ยักษ์ ใหญ่กว่าคารอน

วัตถุไคเปอร์ยักษ์ ใหญ่กว่าคารอน

17 ต.ค. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียหรือคาลเทค ได้ค้นพบวัตถุไคเปอร์ดวงใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าคารอนซึ่งเป็นดวงจันทร์ของดาวพลูโต นับเป็นวัตถุไคเปอร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จัก หากไม่นับพลูโต และเป็นครั้งแรกที่สามารถวัดขนาดของวัตถุไคเปอร์ได้โดยตรง 

วัตถุดวงใหม่นี้มีชื่อว่า 2002 LM60 ค้นพบโดย ชาด ทรูจิลโล และไมค์ บราวน์ ทั้งสองเรียกวัตถุดวงนี้ว่า ควาอัวร์ (Quaoar) ซึ่งเป็นชื่อของเทพตามความเชื่อของชนเผ่าตองวาที่มีถิ่นฐานอยู่ในแอ่งแคลิฟอร์เนีย ที่ตั้งของคาลเทคเอง แม้ชื่อนี้จะยังไม่เป็นที่ยอมรับเป็นทางการ แต่ทรูจิลโลและบราวน์ต้องการเสนอชื่อนี้ต่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องของการตั้งชื่อเทห์ฟากฟ้า 

ทรูจิลโลและบราวน์พบควาอัวร์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ มิถุนายน ด้วยกล้องออสชิน ขนาด 48 นิ้วของหอสังเกตการณ์พาร์โลมา ในขณะนั้นควาอัวร์มีอันดับความสว่าง 18.5 เนื่องจากวัตถุใหม่นี้มีความสว่างมาก นักดาราศาสตร์ทั้งสองจึงคิดว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลน่าจะสามารถวัดขนาดของวัตถุดวงนี้ได้โดยตรง ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ กล้องฮับเบิลวัดขนาดเชิงมุมของควาอัวร์ได้ 40 มิลลิพิลิปดา ซึ่งแปลงเป็นขนาดจริงได้เท่ากับ 1,260 กิโลเมตร หรือใหญ่กว่าคารอนบริวารของดาวพลูโตเสียอีก (คารอนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,200 กิโลเมตร) 

ขณะนี้ควาอัวร์อยู่ห่างจากโลกถึง 6.4 พันล้านกิโลเมตร นับเป็นวัตถุในระบบสุริยะที่ไกลที่สุดที่สามารถวัดขนาดได้โดยตรงด้วยกล้องโทรทรรศน์ 

จากการคำนวณหาวงโคจรพบว่า ควาอัวร์มีคาบวงโคจร 288 ปี และความรีน้อยมากจนเกือบกลม นับว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับวัตถุไคเปอร์ 

ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์คำนวณหาขนาดของวัตถุไคเปอร์โดยสันนิษฐานว่าวัตถุไคเปอร์น่าจะมีดรรชนีสะท้อนแสงประมาณ เปอร์เซ็นต์เท่ากับนิวเคลียสของดาวหาง แต่สำหรับควาอัวร์ซึ่งสามารถวัดขนาดได้โดยตรง ประกอบกับการที่ทราบความสว่าง ทำให้สามารถคำนวณหาดรรชนีสะท้อนแสงของควาอัวร์ได้อย่างแม่นยำว่า สะท้อนแสง 10 เปอร์เซ็นต์ของแสงที่ได้รับ ซึ่งใกล้เคียงกับของดวงจันทร์ หากวัตถุไคเปอร์ดวงอื่นสะท้อนแสงได้ใกล้เคียงกัน ก็แสดงว่าวัตถุเหล่านั้นต้องมีขนาดเล็กกว่าที่เคยคำนวณไว้มาก 



ภาพวาดของ ควาอัวร์ (Quaoar) ตามจินตนาการของศิลปิน

ภาพวาดของ ควาอัวร์ (Quaoar) ตามจินตนาการของศิลปิน

ภาพการค้นพบควาอัวร์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน แต่ละภาพถ่ายห่างกัน 90 นาที

ภาพการค้นพบควาอัวร์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน แต่ละภาพถ่ายห่างกัน 90 นาที

เปรียบเทียบวงโคจรของควาอัวร์กับดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ

เปรียบเทียบวงโคจรของควาอัวร์กับดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ

ที่มา: