สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุรังสีแกมมาชนิดใหม่ในทางช้างเผือก

วัตถุรังสีแกมมาชนิดใหม่ในทางช้างเผือก

1 เม.ย. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
วารสาร Nature ฉบับ 22 มีนาคม ได้ตีพิมพ์รายงานการค้นพบแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาลึกลับใหม่จำนวนมากที่อยู่ในดาราจักรทางช้างเผือก แหล่งกำเนิดรังสีแกมมานี้แตกต่างจาก แสงวาบรังสีแกมมา (Gamma-ray Burst) ที่คุ้นเคยกัน เพราะแสงวาบรังสีแกมมาปล่อยรังสีแกมมาออกมาเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่แหล่งกำเนิดรังสีแกมมาที่ค้นพบใหม่นี้ปล่อยรังสีออกมาอย่างต่อเนื่อง 

รังสีแกมมาเป็นแสงที่ตามนุษย์มองไม่เห็นอีกชนิดหนึ่ง มีความถี่และมีพลังงานสูงกว่ารังสีเอกซ์และแสงที่ตามองเห็นมาก รังสีแกมมาที่ปล่อยออกมาจากวัตถุลึกลับที่พบนี้มีพลังงานมากแสงขาวนับร้อยล้านเท่า 

ปัจจุบันมีแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาที่ค้นพบแล้ว 271 แหล่ง ซึ่งเรียบเรียงโดย กล้องตรวจรังสีแกมมาพลังงานสูง (EGRET--Energetic Gamma Ray Telescope Experiment) ของสถานีสังเกตการณ์รังสีแกมมาคอมป์ตัน (CGRO) นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาในการจำแนกแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาเหล่านี้ตามวัตถุแหล่งกำเนิดต่าง ๆ เท่าที่รู้จัก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรอีกถึง 170 แหล่งซึ่งรวมถึงที่พบในครั้งนี้ด้วย 

ในจำนวนแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาลึกลับทั้ง 170 แหล่งนี้ ราวครึ่งหนึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามระนาบของดาราจักรทางช้างเผือก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าวัตถุต้นกำเนิดของรังสีแกมมากลุ่มนี้อาจเป็นวัตถุที่รู้จักดีอยู่แล้วแต่ว่าปล่อยรังสีในย่านความถี่อื่นจางเกินไปจนตรวจจับและจำแนกไม่ได้ หรือว่ารังสีในย่านอื่นอาจจะถูกดูดกลืนไปโดยฝุ่นก๊าซระหว่างดวงดาวจนจางหายไป ในขณะที่รังสีแกมมาสามารถส่องทะลุวัตถุเหล่านี้มาได้  ส่วนแหล่งกำเนิดอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือพบว่าค่อนข้างอยู่ใกล้โลกมากกว่า มีตำแหน่งอยู่นอกระนาบของทางช้างเผือกและดูคล้ายกับจะเรียงตัวในระนาบของ แถบกูลด์ (Gould Belt) ซึ่งเป็นแถบของกลุ่มก๊าซและดาวฤกษ์หนักที่อยู่ค่อนข้างใกล้กับโลก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,000 ปีแสง  นักดาราศาสตร์สันนิษฐานถึงวัตถุที่อาจเป็นต้นกำเนิดในแถบกูลด์นี้ไปหลายชนิด เช่นอาจเป็นหลุมดำ เพราะหลุมดำจะมีลำของอนุภาคความเร็วสูงพุ่งออกจากขั้วทั้งสอง หากลำดังกล่าวนี้ชี้ตรงมายังโลก เราก็อาจมองเห็นในรูปของรังสีแกมมาได้ และนักวิทยาศาสตร์ได้เคยสำรวจปรากฏการณ์แบบนี้ที่เกิดขึ้นในหลุมดำยักษ์ในใจกลางดาราจักรอื่นมาแล้ว แต่เครื่องมือ EGRET แต่ยังไม่เคยพบในหลุมดำขนาดเล็กที่อยู่ในดาราจักรทางช้างเผือกมาก่อนเลย

บางทีรังสีแกมมานี้อาจเกิดจากดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่มีมวลประมาณ 10-20 เท่าของดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ขนาดนั้นจะพัดลมสุริยะออกมารุนแรงมาก เมื่ออนุภาคพลังงานสูงในลมสุริยะชนเข้ากับอะตอมของก๊าชที่ล้อมรอบดาวอยู่จะก็จะทำให้เกิดรังสีแกมมาออกมาได้ 

พัลซาร์แม่เหล็กที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงก็อาจเป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่ค้นพบนี้ก็ได้ ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ได้พบว่าพัลซาร์ที่ชื่อ เจมินกา (Geminga) สามารถมองเห็นได้ในย่านรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาเท่านั้น บางทีแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาหลายแหล่งที่พบโดย EGRET นี้อาจเป็นวัตถุชนิดเดียวกันกับเจมินกาก็ได้ 

การค้นในครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่สร้างความตกตะลึงให้กับนักดาราศาสตร์มากสุดอีกครั้งหนึ่ง มันยังคงเป็นปริศนาที่เย้ายวนใจนักดาราศาสตร์ต่อไปอีกนานจนกว่า กลาสต์ (GLAST) สถานีสังเกตการณ์รังสีแกมมาลอยฟ้าดวงใหม่ของนาซาซึ่งมีความไวมากกว่า EGRET ถึง 50 เท่าจะถูกปล่อยสู่อวกาศในปี 2548

ชมภาพความละเอียดสูงและภาพเคลื่อนไหวได้ที่ :

http://pao.gsfc.nasa.gov/gsfc/spacesci/structure/cgro.htm


ภาพชุดนี้แสดงให้เห็นการกำเนิดรังสีแกมมาจากดาวนิวตรอน ซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของรังสีแกมมาลึกลับที่เพิ่งค้นพบ (ภาพบน) ดาวนิวตรอน (วงกลมตรงกลาง) ปล่อยสนามแม่เหล็กออกมาอย่างเข้มข้น การหมุนรอบตัวเองของดาวนิวตรอนทำให้สนามแม่เหล็กหมุนตาม และทำให้บิดเป็นเกลียวซึ่งช่วยเร่งความเร็วของอนุภาคประจุไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ ๆ ดาว ความเร่งของอนุภาคนี้ทำให้เกิดรังสีแกมมาขึ้น (เส้นสีน้ำเงินและขาว) (ภาพล่าง) เมื่อลำของรังสีแกมมาหันตำแหน่งชี้มาที่โลกพอดี ทำให้เกิดการลุกจ้าอย่างแรงของรังสีแกมมา ภาพ : NASA/Honeywell Max Q Digital Group, Dana Berry

ภาพชุดนี้แสดงให้เห็นการกำเนิดรังสีแกมมาจากดาวนิวตรอน ซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของรังสีแกมมาลึกลับที่เพิ่งค้นพบ (ภาพบน) ดาวนิวตรอน (วงกลมตรงกลาง) ปล่อยสนามแม่เหล็กออกมาอย่างเข้มข้น การหมุนรอบตัวเองของดาวนิวตรอนทำให้สนามแม่เหล็กหมุนตาม และทำให้บิดเป็นเกลียวซึ่งช่วยเร่งความเร็วของอนุภาคประจุไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ ๆ ดาว ความเร่งของอนุภาคนี้ทำให้เกิดรังสีแกมมาขึ้น (เส้นสีน้ำเงินและขาว) (ภาพล่าง) เมื่อลำของรังสีแกมมาหันตำแหน่งชี้มาที่โลกพอดี ทำให้เกิดการลุกจ้าอย่างแรงของรังสีแกมมา ภาพ : NASA/Honeywell Max Q Digital Group, Dana Berry

ดาวฤกษ์ยักษ์ที่มีมวลประมาณ 10-20 เท่าของดวงอาทิตย์อย่างนี้ก็อาจเป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาอย่างต่อเนื่องได้ เมื่ออนุภาคประจุไฟฟ้าจากลมสุริยะชนเข้ากับอะตอมของก๊าซที่อยู่รอบดาวฤกษ์จะปล่อยรังสีแกมมาออกมา ภาพ : NASA/Honeywell Max Q Digital Group, Walt Feimer

ดาวฤกษ์ยักษ์ที่มีมวลประมาณ 10-20 เท่าของดวงอาทิตย์อย่างนี้ก็อาจเป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาอย่างต่อเนื่องได้ เมื่ออนุภาคประจุไฟฟ้าจากลมสุริยะชนเข้ากับอะตอมของก๊าซที่อยู่รอบดาวฤกษ์จะปล่อยรังสีแกมมาออกมา ภาพ : NASA/Honeywell Max Q Digital Group, Walt Feimer

แผนที่ท้องฟ้ารอบทิศที่ถ่ายโดยอุปกรณ์ EGRET ของสถานีสังเกตการณ์รังสีแกมมาคอมป์ตัน จุดสว่างคือวัตถุลึกลับที่ปล่อยรังสีแกมมาทั้ง 271 ดวง ภาพ : NASA/Honeywell Max Q Digital Group, Angela Cheyunski

แผนที่ท้องฟ้ารอบทิศที่ถ่ายโดยอุปกรณ์ EGRET ของสถานีสังเกตการณ์รังสีแกมมาคอมป์ตัน จุดสว่างคือวัตถุลึกลับที่ปล่อยรังสีแกมมาทั้ง 271 ดวง ภาพ : NASA/Honeywell Max Q Digital Group, Angela Cheyunski

ที่มา: