สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวนอกคอกใน M80

ดาวนอกคอกใน M80

1 ส.ค. 2542
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ กรกฎาคม 2542 โครงการ Hubble Heritage ได้เปิดเผยภาพของกระจุกดาวทรงกลม M80 หรือ NGC 6093 กระจุกดาวนี้อยู่ห่างจากโลก 28,000 ปีแสง เป็นกระจุกดาวที่มีดาวฤกษ์อยู่หนาแน่นที่สุดกระจุกหนึ่งในจำนวนกระจุกดาวทรงกลมทั้ง 147 กระจุกในดาราจักรทางช้างเผือก 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกล้อง WFPC2 (Wide Field and Planetary Camera 2) และภาพที่ถ่ายผ่านฟิลเตอร์อัลตราไวโอเลต นักดาราศาสตร์ได้พบดาวฤกษ์จำพวก "ดาวแปลกพวกสีน้ำเงิน" (Blue Straggler) อยู่เป็นจำนวนมากที่บริเวณใจกลางของกระจุกดาว M80 นี้ ดาวแปลกพวกสีน้ำเงินนี้เป็นดาวฤกษ์ชนิดหนึ่งที่มีมวลมากและมีสีน้ำเงิน มักพบในบริเวณที่มีดาวฤกษ์กระจุกอยู่กันอย่างหนาแน่น เช่นในใจกลางของกระจุกดาวทรงกลมต่าง ๆ สาเหตุที่ได้ชื่อว่าเป็นดาวนอกคอกเพราะว่ามันมีคุณสมบัติคล้ายกับเป็นดาวที่เพิ่งเกิดใหม่ทั้ง ๆ ที่ดาวอยู่ในกระจุกดาวทรงกลมส่วนใหญ่จะเป็นดาวที่มีอายุมากและมีสีแดง นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวแปลกพวกสีน้ำเงินนี้น่าจะเกิดจากดาวฤกษ์สองดวงมาชนกันและหลอมรวมกันเป็นดาวดวงเดียว ทำให้มีมวลมากกว่าดาวอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงและมีคุณสมบัติคล้ายกับดาวที่เพิ่งเกิดใหม่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการค้นพบว่ากระจุกดาว M80 จะมีดาวแปลกพวกสีน้ำเงินอยู่เลย แต่ในการสำรวจโดยโครงการนี้กลับพบว่ากระจุกดาวนี้มีดาวแปลกพวกสีน้ำเงินอยู่เป็นจำนวนมากถึงสองเท่าของกระจุกดาวอื่น ๆ ที่กล้องฮับเบิลเคยสำรวจมา 

ด้วยปริมาณของดาวแปลกพวกสีน้ำเงินที่มีอยู่มากของ M80 นี้ ทำให้นักดาราศาสตร์คาดว่า ภายในใจกลางของกระจุกดาวนี้น่าจะมีอัตราการชนกันของดาวฤกษ์สูงมาก นั่นหมายถึง ดาวคู่ที่โคจรกันอย่างใกล้ชิด (close binary) ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดดาวแปลกพวกสีน้ำเงินย่อมมีอยู่เป็นจำนวนมากด้วย แต่ผลการสำรวจกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะกล้อง WFPC2 พบดาวคู่ชนิดดังกล่าวในกระจุกดาว M80 เพียงสองคู่เท่านั้น ความไม่สอดคล้องของข้อมูลนี้ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องมีการบ้านเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบของปริศนานี้ต่อไป 

กระจุกดาวทรงกลมเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีประโยชน์สำหรับนักดาราศาสตร์มากในการศึกษาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ เนื่องจากดาวฤกษ์ภายในกระจุกดาวทรงกลมหนึ่งจะมีอายุเท่า ๆ กันคือประมาณ 15,000 ล้านปี แต่มีมวลแตกต่างกันหลากหลายระดับ ดาวฤกษ์ที่เห็นในภาพนี้ทุกดวงล้วนแต่มีอายุมากกว่าดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะดวงที่สว่างกว่าดวงอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในช่วงของการเป็นดาวยักษ์แดง หรือช่วงท้ายของวงจรชีวิตดาวฤกษ์นั่นเอง 

กระจุกดาวทรงกลม M80 ภาพจาก ทีมงาน Hubble Heritage (AURA/STScI/NASA)

กระจุกดาวทรงกลม M80 ภาพจาก ทีมงาน Hubble Heritage (AURA/STScI/NASA)

ที่มา: