สมาคมดาราศาสตร์ไทย

นักดาราศาสตร์พบดาวฤกษ์ที่หนักที่สุด

นักดาราศาสตร์พบดาวฤกษ์ที่หนักที่สุด

1 มี.ค. 2541
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบกลุ่มของดาวฤกษ์ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นดาวฤกษ์ที่หนักที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จักกันมา ดาวฤกษ์กลุ่มนี้อยู่ภายในแก๊สต้นกำเนิดก้อนเดียวกัน ซึ่งอยู่ในดาราจักรเพื่อนบ้านของเรานี่เอง 

กระจุกดาวฤกษ์นี้มีดาวฤกษ์ขนาดยักษ์กว่า 12 ดวง และแต่ละดวงก็มีมวลมากกว่า 100 เท่าของดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะดาวดวงที่มีมวลมากที่สุดนั้นหนักถึง 150 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นดาวฤกษ์ที่หนักที่สุดเอกภพเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยรู้จักมา นอกจากนี้ยังพบว่า กระบวนการสร้างดาวฤกษ์ของกระจุกดาวนี้ ไม่แตกต่างไปจากกระบวนการสร้างดาวฤกษ์ของดาวฤกษ์ที่อื่น ๆ ที่มีดาวฤกษ์คับคั่งน้อยกว่านี้ 

กลุ่มดาวฤกษ์นี้อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า R136 ซึ่งอยู่บริเวณใจกลางของเนบิวลา 30 ปลาปากดาบ (30 Doradus nebula) เป็นบริเวณเอช (H II) ขนาดใหญ่ที่อยู่ในดาราจักรเมฆแมเจลแลนใหญ่ ห่างจากโลกประมาณ 163,000 ปีแสง R136 เป็นกระจุกดาวที่มีอายุน้อยมาก คาดว่ามีอายุอยู่ในช่วง ถึง ล้านปีเท่านั้น นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องสเปกโทรกราฟวัตถุจาง (FOS) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลวัดสเปกตรัมของดาวฤกษ์สีน้ำเงินที่สว่างที่สุด 65 ดวงที่อยู่ในบริเวณ R136 นี้ จากการวิเคราะห์สเปกตรัมพบว่าดาวฤกษ์เหล่านี้มีอุณหภูมิประมาณ 50,000 เคลวิน จัดอยู่ในสเปกตรัมประเภท O3 ซึ่งเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่ร้อนที่สุด สว่างที่สุด และหนักที่สุด บริเวณ R136 นี้นับว่ามีความสำคัญสำหรับการศึกษาดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณนี้เป็นบริเวณเดียวที่อยู่ใกล้พอที่จะสามารถสังเกต และเฝ้าดูกระบวนการสร้างดาวฤกษ์แต่ละดวงได้อย่างชัดเจน 

ก่อนหน้ายุคของกล้องฮับเบิลนี้ นักดาราศาสตร์เคยเข้าใจว่า R136 เป็นดาวฤกษ์ขนาดยักษ์เดี่ยว ๆ ดวงเดียว แต่ด้วยกำลังการแยกภาพอันสูงส่งของกล้องฮับเบิล ทำให้สามารถแยกแยะภาพออกได้ว่า มันประกอบด้วยดาวฤกษ์จำนวนกว่า 3,500 ดวงที่แกนกลางของ R136 

    ภาพทางซ้ายแสดง R136 กระจุกดาวที่มีความหนาแน่นสูงในบริเวณ H II ของดาราจักรเมฆแมเจลแลนใหญ่ ในกระจุกดาวนี้พบดาวฤกษ์ที่มีมวลมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก ในภาพทางขวา ดาวที่มีวงกลมล้อมอยู่คือดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 100 เท่า ขีดดำข้างล่างแสดงระยะ 1 พิลิปดาของท้องฟ้า ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งบนพื้นโลกจะไม่สามารถแสดงรายละเอียดที่ขนาดเล็กกว่านี้ได้ แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสามารถให้ความละเอียดได้สูงถึง 0.1 พิลิปดา

    ภาพทางซ้ายแสดง R136 กระจุกดาวที่มีความหนาแน่นสูงในบริเวณ H II ของดาราจักรเมฆแมเจลแลนใหญ่ ในกระจุกดาวนี้พบดาวฤกษ์ที่มีมวลมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก ในภาพทางขวา ดาวที่มีวงกลมล้อมอยู่คือดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 100 เท่า ขีดดำข้างล่างแสดงระยะ 1 พิลิปดาของท้องฟ้า ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งบนพื้นโลกจะไม่สามารถแสดงรายละเอียดที่ขนาดเล็กกว่านี้ได้ แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสามารถให้ความละเอียดได้สูงถึง 0.1 พิลิปดา

    ที่มา: