สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวแคระน้ำตาลข้างบ้าน

ดาวแคระน้ำตาลข้างบ้าน

25 เม.ย. 2556
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อปี พ.ศ. 2552 องค์การนาซาได้ปล่อยดาวเทียมไวส์ขึ้นสู่อวกาศ นักดาราศาสตร์คาดหวังว่าดาวเทียมลำนี้จะพบดาวแคระน้ำตาลจำนวนมาก เนื่องจากเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ไวต่อแสงในย่านรังสีอินฟราเรด
ดาวแคระน้ำตาลส่องแสงริบหรี่มาก จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีดาวแคระน้ำตาลอีกจำนวนมากที่เล็ดรอดสายตานักดาราศาสตร์ไป และหนึ่งในจำนวนนั้นอาจอยู่ไม่ไกลก็ได้ หรือแม้แต่ใกล้กว่าดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ที่สุด 
แต่หลังจากที่ยานไวส์ปฏิบัติการไปสามปี แม้จะพบดาวแคระน้ำตาลจำนวนมาก แต่แผนที่ดาวแคระน้ำตาลบริเวณใกล้เคียงดวงอาทิตย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งบัดนี้
ไวส์ได้พบดาวแคระน้ำตาลที่อยู่แค่ละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงกับดวงอาทิตย์นี้เอง และไม่ได้พบเพียงดวงเดียวแต่พบถึงสองดวง ห่างออกไปเพียง 6.5 ปีแสง ซึ่งมีเพียงระบบดาวแอลฟาคนครึ่งม้า และดาวบาร์นาร์ด เท่านั้นที่อยู่ใกล้กว่านี้ 
จากการสืบการเคลื่อนที่ย้อนหลังของดาวแคระน้ำตาลคู่ WISE 1049-5319 นักดาราศาสตร์ยังพบภาพของจุดดาวแคระน้ำตาลคู่นี้ในภาพจากคลังภาพเก่าที่ย้อนหลังไปไกลถึงปี 2521 นอกจากนี้จากการสำรวจด้วยกล้องเจมิไนใต้ในชิลี ยังพบว่าดาวแคระน้ำตาลนี้ไม่ใช่ดาวเดี่ยว แต่เป็นดาวแคระน้ำตาลคู่ที่ตรึงกันด้วยแรงน้ำขึ้นลง อยู่ห่างกันสามหน่วยดาราศาสตร์ โคจรรอบกันเองครบรอบทุก 25 ปี
ไวส์ 1049-5319 จะเป็นเป้าหมายที่ดีสำหรับนักล่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นด้วย ด้วยเหตุที่ระบบนี้อยู่ใกล้โลกมาก หากมีดาวเคราะห์โคจรอยู่ในระบบนี้จริง นักดาราศาสตร์อาจถ่ายภาพและศึกษาสมบัติต่าง ๆ ของดาวเคราะห์นั้นได้โดยตรง แทนที่จะต้องสำรวจด้วยวิธีอ้อมดังเช่นการค้นพบดาวเคราะห์ดวงอื่นส่วนใหญ่
แผนที่ตำแหน่งดาวฤกษ์ในละแวกใกล้เคียงดวงอาทิตย์<br />

แผนที่ตำแหน่งดาวฤกษ์ในละแวกใกล้เคียงดวงอาทิตย์
(จาก Janella Williams, Penn State University)

ภาพของดาวแคระน้ำตาลไวส์ 1049-5319 (WISE 1049-5319) จากดาวเทียมไวส์ ภาพในกรอบย่อยเป็นภาพจากกล้องเจมิไน แสดงให้เห็นว่าเป็นดาวแคระน้ำตาลคู่

ภาพของดาวแคระน้ำตาลไวส์ 1049-5319 (WISE 1049-5319) จากดาวเทียมไวส์ ภาพในกรอบย่อยเป็นภาพจากกล้องเจมิไน แสดงให้เห็นว่าเป็นดาวแคระน้ำตาลคู่ (จาก NASA/JPL/Gemini Observatory/AURA/NSF)

ที่มา: