สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พระมหากษัตริย์ไทยกับดาราศาสตร์ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ปรับปรุงครั้งล่าสุด 7 ธันวาคม 2559

ในปี 2538 เป็นปีมหาปิติของพสกนิกรชาวไทยที่ ได้เริ่มเฉลิมฉลอง 50 ปีการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่พระองค์ครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามครบครึ่งศตวรรษพระองค์แรกของประเทศไทย พระองค์ทรงพัฒนาประเทศทุก ๆ ด้าน ตลอดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานระยะยาวของชาวไทย ดังจะศึกษาได้จากโครงการพระราชดำริของพระองค์ ซึ่งมากกว่าพันโครงการ นับว่าเป็นบุญของประชากรชาวไทยในยุคปัจจุบัน ที่ได้มองเห็นการพัฒนาการต่างๆ ทัดเทียมกับอารยะประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับสุริยุปราคา มีความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกันมาดังจะ ศึกษาได้จากประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ไทย นับตั้งแต่รัชสมัยพระนารายณ์มหาราชทรงสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงที่ผ่านประเทศจีนเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 ที่พระที่นั่งเย็น เมืองละโว้ และที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษา คำนวณ และพยากรณ์กาละเทศะของการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้ข้อมูลถูกต้องแม่นยำกว่านักวิทยาศาสตร์นักดาราศาสตร์ชาวตะวันตกสมัยนั้น

ดาวหางโดนาติและดาวหางเทบบุต สองดาวหางที่มาเยือนโลกในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
หนังสือดาราศาสตร์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้ศึกษาวิชาดาราศาสตร์ด้วยพระองค์เอง 

โต๊ะทรงคำนวณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโต๊ะไม้สัก กว้าง 0.80 เมตร ยาว 0.90 เมตร สูง 0.75 เมตร ลิ้นชักด้านบนของโต๊ะมีบานปิด พื้นบนบานปิดเป็นกระดานชนวน ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และปฎิทินปักคณา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดค้นวิธีคำนวนปัก เพื่อประโยชน์ในการกำหนดธรรมสวนะให้พระภิกษุสงฆ์ให้ถูกต้อง ตามคติของดวงจันทร์ ปัจจุบันยังใช้กันอยู่ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกาย 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับคณะชาวต่างประเทศหน้าพลับพลาที่ประทับค่ายหลวง ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง 18 สิงหาคม 2411 
เส้นทางคราสหว้ากอ ในปี พ.ศ. 2411 

พระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และสัมฤทธิผลทางดาราศาสตร์ของพระองค์ เป็นที่ประจักษ์แก่ชาติมหาอำนาจ เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส เพราะวิชานี้ เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นสูงและทันสมัยที่สุดในยุคนั้น การที่จะมีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการวิชาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเข้มงวดและเข้มข้นหลายวิชา เช่น วิชาภาษาอังกฤษชนิดใช้งานได้ทั้งอ่านและเขียน วิชาคณิตศาสตร์ วิชาตรีโกณมิติทรงกลม วิชาพีชคณิต วิชาลอการิทึม วิชาภูมิศาสตร์ คัมภีร์สุริยยาตร์ คัมภีร์สารัมภ์ คัมภีร์เกตุมูลฐาน และคัมภีร์สุริยสิทธานตะ เพื่อเข้าสู่วิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่ กระบวนวิชาเหล่านี้ พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวดส่วนใหญ่ด้วยพระองค์เอง จึงเป็นการเสี่ยงต่อการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นอย่างสูง ถ้าหากการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสถานที่ที่พระองค์กำหนดที่ตำบลหว้ากอ เพื่อสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวง ตามเวลาที่ทรงคำนวณไว้ผิดพลาดต่อหน้าเจ้าเมืองสิงคโปร์ และนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศส ดังที่ทราบมาภายหลังว่า โหรสมัยนั้นและเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ไม่เชื่อว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงจริง ๆ จึงไม่เอาใจใส่และไม่ยอมพัฒนาวิชาการเข้าสู่สมัยใหม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

อารี สวัสดี (ที่ปรึกษาสมาคมดาราศาสตร์ไทย) สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย 24 ตุลาคม 2538 ,สารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ฉบับพิเศษ 2538