สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกในปี 2553

ฝนดาวตกในปี 2553

29 ธันวาคม 2552
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 22 เมษายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวตกเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกคืน แสงของดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาวซึ่งเป็นชิ้นส่วนของดาวหางและดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศโลก หากสังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีเมฆหมอก แสงจันทร์ และแสงไฟฟ้ารบกวน โดยทั่วไปสามารถมองเห็นดาวตกบนท้องฟ้าได้เฉลี่ยราว ดวงต่อชั่วโมง ในหลายช่วงของปีจะมีดาวตกที่ดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า เรียกว่าฝนดาวตก (meteor shower)

ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาวที่ดาวหางทิ้งไว้ ดาวตกที่เกิดจากสะเก็ดดาวเหล่านี้มีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีอัตราต่ำเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมงแต่ยังก็เรียกว่าฝนดาวตกเนื่องจากมีแหล่งกำเนิดที่สังเกตได้ว่าดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณหนึ่งบนท้องฟ้า จุดนั้นเรียกว่าจุดกระจายฝนดาวตก (radiant) มักเรียกชี่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวหรือดาวที่อยู่ในบริเวณจุดกระจายฝนดาวตก ฝนดาวตกกลุ่มสำคัญเกือบทั้งหมดในปีนี้มีแสงจันทร์รบกวน ที่น่าสนใจที่สุดคือฝนดาวตกเพอร์ซิอัสกับฝนดาวตกคนคู่

ฝนดาวตกในปี 2553
ชื่อคืนที่มีมากที่สุดเวลาที่เริ่มเห็น (โดยประมาณ)อัตราสูงสุดในภาวะอุดมคติ (ดวง/ชั่วโมง)อัตราสูงสุดในประเทศไทย (ดวง/ชั่วโมง)หมายเหตุ
ควอดแดรนต์3/4 ม.ค.02:00 น.120 (อาจอยู่ระหว่าง 60-200)8แสงจันทร์รบกวน
พิณ22/23 เม.ย.22:00 น.18 (อาจมากถึง 90)11แสงจันทร์รบกวนก่อน 02:00 น.
อีตาคนแบกหม้อน้ำ7/8 พ.ค.02:00 น.85 (อาจอยู่ระหว่าง 40-85)13แสงจันทร์รบกวน
เดลตาคนแบกหม้อน้ำ28/29 ก.ค.21:00 น.204แสงจันทร์รบกวน
เพอร์ซิอัส12/13 ส.ค.22:30 น.10056-
นายพราน21/22 ต.ค..22:30 น.3022แสงจันทร์รบกวน
สิงโต17/18 พ.ย.00:30 น.204แสงจันทร์รบกวนก่อน 03:00 น.
คนคู่13/14 ธ.ค.20:00 น.12050แสงจันทร์รบกวนก่อนเที่ยงคืน


หมายเหตุ

ตัวเลขในคอลัมน์อัตราสูงสุดในประเทศไทยคิดผลจากแสงจันทร์รบกวนแล้ว แต่ยังไม่คิดผลจากมลพิษทางแสง การสังเกตดาวตกในเมืองใหญ่จะมีจำนวนดาวตกลดลงจากตัวเลขในตารางนี้หลายเท่า
คอลัมน์ "คืนที่มีมากที่สุด" เครื่องหมาย ใช้คั่นคืนวันแรกกับเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง เช่น 3/4 หมายถึงคืนวันที่ ถึงเช้ามืดวันที่ 4
ดัดแปลงจากข้อมูลฝนดาวตกโดยองค์การอุกกาบาตสากล (International Meteor Organization IMO) และ Meteor Shower Flux Estimator โดย Peter Jenniskens

ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส

ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสหรือที่คนไทยอาจรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าฝนดาวตกวันแม่เพราะมักเกิดในคืนวันที่ 12 สิงหาคม เป็นฝนดาวตกที่มีชื่อเสียงในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในละติจูดสูง ๆ เพราะจุดกระจายดาวตกจะขึ้นไปอยู่สูงเกือบกลางฟ้าในเวลาเช้ามืด อัตราการเกิดดาวตกสูงถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง และเกิดในฤดูร้อนซึ่งท้องฟ้าโปร่ง แต่การสังเกตฝนดาวตกกลุ่มนี้ในประเทศไทยมักพบอุปสรรคจากเมฆเพราะเป็นฤดูฝน

สะเก็ดดาวในฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมาจากดาวหาง 109 พี/สวิฟต์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 1992 เป็นดาวหางที่มีแนวโคจรผ่านใกล้โลก เคยตกเป็นข่าวว่ามีโอกาสชนโลก แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่ามันจะใกล้โลกที่สุดในวันที่ สิงหาคม ค.ศ. 2126 ด้วยระยะห่าง 0.153 หน่วยดาราศาสตร์ จุดกระจายดาวตกของฝนดาวตกเพอร์ซิอัสอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างกลุ่มดาวเพอร์ซิอัสกับแคสซิโอเปีย เริ่มเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ ทุ่มครึ่ง แต่ยังมีดาวตกน้อย จะสังเกตได้ดีหลังเที่ยงคืนและดีที่สุดในช่วงที่จุดกระจายดาวตกอยู่สูงซึ่งตรงกับช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนท้องฟ้าสว่าง ความเร็วขณะเข้าสู่บรรยากาศโลกประมาณ 59 กม./วินาที

ฝนดาวตกคนคู่

ฝนดาวตกคนคู่เป็นฝนดาวตกที่น่าสนใจที่สุดเนื่องจากเกิดในฤดูหนาวที่ท้องฟ้าเปิดเป็นส่วนใหญ่และมีจำนวนมากทุกปี ปีนี้คาดว่าจะมีมากที่สุดในคืนวันจันทร์ที่ 13 ถึงเช้ามืดวันอังคารที่ 14 ธันวาคม โดยมีแสงจันทร์รบกวนในช่วงก่อนเที่ยงคืน จุดกระจายฝนดาวตกคนคู่อยู่ใกล้ดาวคาสเตอร์ในกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกชุดนี้แตกต่างจากฝนดาวตกกลุ่มอื่นคือมีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อย 3200 ฟีทอน (3200 Phaethon) ซึ่งน่าจะเคยเป็นดาวหางมาก่อน สามารถสังเกตดาวตกได้ตลอดทั้งคืนโดยเริ่มตั้งแต่เวลาหัวค่ำไปจนถึงเช้ามืด ดาวตกมักเกิดถี่มากที่สุดในช่วงประมาณตี 2 ซึ่งเป็นเวลาที่จุดกระจายฝนดาวตกอยู่สูงกลางฟ้า ความเร็วขณะเข้าสู่บรรยากาศโลกประมาณ 35 กม./วินาที ดาวตกจากฝนดาวตกคนคู่ส่วนใหญ่มีสีขาวและเหลือง สามารถพบดาวตกสว่างที่เรียกว่าลูกไฟได้ประมาณร้อยละ 5 ของดาวตกทั้งหมด