สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาว 51 คนแบกงู : 16 มิถุนายน 2554

ดวงจันทร์บังดาว 51 คนแบกงู : 16 มิถุนายน 2554

4 มิถุนายน 2554
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2564
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2554 ดวงจันทร์จะบังดาวฤกษ์หลายดวง ดวงที่สว่างที่สุดและเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีชื่อว่า "51 คนแบกงู" (51 Ophiuchi) หมายถึงดาวดวงที่ 51 ในกลุ่มดาวคนแบกงู ตามระบบการเรียกชื่อดาวแฟลมสตีด (Flamsteed)

นอกจากชื่อนี้ ดาว 51 คนแบกงู ยังมีชื่ออื่นตามแค็ตตาล็อกดาวต่าง ๆ เช่น TYC 6826-368-1, HIP 85755, PPM 266959, SAO 185470, HD 158643, HR 6519 เป็นต้น มันอยู่ห่างโลกประมาณ 430 ปีแสง ผลการสำรวจเมื่อไม่กี่ปีมานี้ พบว่าดาว 51 คนแบกงู มีแผ่นจานของแก๊สและฝุ่นล้อมรอบ ซึ่งแสดงถึงการก่อตัวของระบบดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์

ดาว 51 คนแบกงู ส่องสว่างด้วยโชติมาตร +4.8 (โชติมาตรหรืออันดับความสว่าง คือตัวเลขที่ใช้บอกความสว่างของวัตถุท้องฟ้า ตัวเลขยิ่งมาก ยิ่งสว่างน้อย ดาวจางที่สุดที่ดวงตามนุษย์เห็นได้อยู่ที่โชติมาตรประมาณ +6.5) ดาวฤกษ์อยู่ไกลมากจนถือได้ว่าเป็นจุด เมื่อเริ่มบัง ดาวจะหายวับไปทันทีหลังขอบดวงจันทร์ เมื่อสิ้นสุดการบัง ดาวจะปรากฏขึ้นทันทีที่ขอบดวงจันทร์

ดวงจันทร์บังดาว

ดวงจันทร์บังดาว (lunar occultation) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ระหว่างโลกกับดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ ทำให้คนบนพื้นโลกมองเห็นดวงจันทร์เข้าบังดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ ซึ่งอาจเปรียบได้กับการเกิดสุริยุปราคา แต่คราวนี้วัตถุที่ถูกดวงจันทร์บังไม่ใช่ดวงอาทิตย์ เป็นดาวที่อยู่ไกลออกไปมากจนเห็นเป็นเพียงจุดสว่าง และการสังเกตปรากฏการณ์นี้ต้องกระทำในเวลากลางคืน

การสังเกตดวงจันทร์บังดาวทำให้เราเห็นการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน ระยะเวลาที่ดวงจันทร์เข้าบังดาวในแต่ละครั้งอาจใช้เวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึงประมาณหนึ่งชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสถานที่

หากดาวที่ถูกดวงจันทร์บังนั้นเป็นดาวคู่ นักดาราศาสตร์อาศัยปรากฏการณ์ลักษณะนี้สำหรับช่วยวัดระยะห่างระหว่างดาว นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการศึกษาความสูงต่ำของหลุมและภูเขาบริเวณขั้วดวงจันทร์ในกรณีที่เป็นการบังแบบเฉียดซึ่งแสงดาวจะไม่ได้หายไปเฉย ๆ แต่กะพริบไปตามลักษณะขอบดวงจันทร์ที่ไม่เรียบ

อุปกรณ์ที่แนะนำสำหรับการสังเกตดวงจันทร์บังดาว คือ กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีฐานยึดและขาตั้ง ตาเปล่าอาจสังเกตปรากฏการณ์ชนิดนี้ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากดาว 51 คนแบกงู ไม่สว่างนัก

เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาว 51 คนแบกงู ขณะผ่านเบื้องหลังดวงจันทร์สำหรับบางจังหวัด  


แผนที่โลกแสดงพื้นที่ที่มีโอกาสเห็นดวงจันทร์บังดาว 51 คนแบกงู ล้อมรอบด้วยเส้นสีฟ้า  


หมายเหตุ:

เวลาที่คำนวณได้นี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้หลายวินาที (ปกติไม่เกิน วินาที บางกรณีอาจมากถึง 10 วินาที) มีสาเหตุมาจากพื้นผิวที่ไม่เรียบของดวงจันทร์
เทียบเวลามาตรฐานประเทศไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 181 หรือทางอินเทอร์เน็ต เช่น กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐฯ (ของสหรัฐฯ แสดงเป็นเวลาสากล เมื่อ +7 ชั่วโมง จะเป็นเวลาประเทศไทย)