สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวอังคารใกล้โลก 2550

ดาวอังคารใกล้โลก 2550

19 ธันวาคม 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ตลอดฤดูหนาวของปลายปี 2550 ถึงต้นปี 2551 เราจะมีโอกาสสังเกตเห็นดาวอังคารสุกสว่างชัดเจนมากที่สุดในรอบสองปีเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดาวอังคารอยู่ใกล้ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ซึ่งจะเกิดขึ้นในปลายเดือนธันวาคม 2550 และนับเป็นช่วงเวลาที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุด เมื่อดูด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวอังคารเป็นดาวสว่างสีส้มอมชมพู ลักษณะคล้ายดาวฤกษ์ทั่วไปบนท้องฟ้าแต่สว่างกว่า และมีขนาดใหญ่กว่าในเวลาอื่นเมื่อส่องดูด้วยกล้องโทรทรรศน์

โดยมากเรามักพบกับความผิดหวังเมื่อส่องดูดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากส่วนใหญ่ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกทำให้มีขนาดปรากฏเล็กมาก ตอนที่ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกมากที่สุดดาวอังคารมีขนาดปรากฏเพียงราว ใน 10 ของขนาดดาวพฤหัสบดี และมีโชติมาตรหรืออันดับความสว่างอยู่ที่ประมาณ +1.7 เท่านั้น แต่เมื่อมันเข้าใกล้โลกมากที่สุดอย่างที่เกิดเมื่อปี 2546 มันมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น 7-8 เท่า และมีโชติมาตร -2.9 ซึ่งสว่างกว่าค่าเฉลี่ยของดาวพฤหัสบดีและนับว่าสว่างกว่าตอนที่อยู่ไกลโลกมากที่สุดถึง 70 เท่า

ดาวอังคารจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 เห็นพื้นผิวได้ชัดเจนเนื่องจากบรรยากาศเบาบางและไม่มีพายุฝุ่น น้ำแข็งที่ขั้วเหนือแผ่กว้าง และมีเมฆสีฟ้าบาง ๆ บริเวณขอบดวง (ภาพ NASA/ESA/Hubble Heritage Team)
 


ดาวอังคารปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันออก เวลา ทุ่ม
 


ดาวอังคารเข้าใกล้โลกโดยเฉลี่ยทุก ๆ ประมาณ ปี เดือน ลักษณะวงโคจรที่มีความรีค่อนข้างชัดเจนทำให้ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกไม่เท่ากันในการเข้าใกล้แต่ละครั้ง ปีนี้ดาวอังคารก็จะเข้าใกล้โลกอีกครั้งโดยเกิดในช่วงเดือนธันวาคม 2550 แต่ไม่ใกล้มากเท่ากับการเข้าใกล้กันเมื่อปี 2546 ทุก 15 หรือ17 ปี เราจึงจะมีโอกาสเห็นดาวอังคารสว่างและมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับที่ได้เห็นเมื่อสี่ปีที่แล้ว

ลักษณะทางกายภาพ

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์หินเช่นเดียวกับดาวพุธ ดาวศุกร์ และโลก พื้นผิวดาวอังคารในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากภูเขาไฟระเบิด การพุ่งชนของอุกกาบาต การเคลื่อนไหวของเปลือกดาวอังคาร และปรากฏการณ์ในบรรยากาศ เช่น พายุฝุ่น

ในยุคสมัยที่ยังไม่มียานอวกาศส่งไปสำรวจดาวอังคารและประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์ที่สร้างขึ้นยังด้อยคุณภาพ นักดาราศาสตร์แทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสภาพที่แท้จริงของดาวอังคาร รู้แต่เพียงว่าดาวอังคารหมุนรอบตัวเองด้วยคาบเวลาใกล้เคียงกับหนึ่งวันของโลกและยังมีแกนหมุนเอียงทำมุมใกล้เคียงกันด้วย บางครั้งยังสังเกตเห็นขั้วน้ำแข็งซึ่งเปรียบได้กับเขตอาร์กติกและแอนตาร์กติกาของโลก

กล้องโทรทรรศน์ส่องเห็นพื้นผิวดาวอังคารมีปื้นสีเขียวจาง ๆ ในฤดูใบไม้ผลิ และมีรอยที่เป็นเส้นตรงหลายเส้นตัดกันไปมาดูคล้ายลำคลองที่ถูกขุดขึ้น (แท้จริงต้นตอของแนวคิดเรื่องคลองบนดาวอังคารเกิดจากการแปลความหมายของภาษาผิด นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีบันทึกการสังเกตเห็นรอยที่ดูคล้ายร่องซึ่งในภาษาอิตาลีเขียนว่า canali แต่บันทึกของเขาแทนที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า channel กลับถูกแปลว่า canal ที่แปลว่าลำคลอง) พื้นที่สีเขียวและลำคลองที่จินตนาการได้ว่าเป็นเรือกสวนไร่นาและทางน้ำสำหรับส่งน้ำเมื่อน้ำแข็งที่ขั้วดาวอังคารละลายทำให้เกิดความคิดความเชื่ออย่างกว้างขวางว่าดาวอังคารน่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่มีภูมิปัญญาแบบเดียวกันเรา ถึงกับมีคนพยายามคิดหาหนทางติดต่อหรือส่งสัญญาณให้ชาวดาวอังคารได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของมนุษย์บนโลก

อิทธิพลของดาวอังคารทำให้เกิดนิยายหลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมนุษย์ดาวอังคาร ดังจะเห็นได้จากนิยายที่มีชื่อเสียงบางเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แต่งขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 อาทิ The Martian Chronicles นิยายวิทยาศาสตร์ที่ค่อนไปทางแฟนตาซีของเรย์ แบรดบิวรี นักเขียนชาวอเมริกัน กล่าวถึงมนุษย์ที่เดินทางหนีภัยสงครามนิวเคลียร์บนโลก และได้ไปพบกับชาวดาวอังคาร

The War of the Worlds โดย เอช. จี. เวลส์ นักเขียนชาวอังกฤษ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนน่าจะรู้จักเพราะล่าสุดได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดยสตีเวน สปิลเบิร์ก นำแสดงโดยทอม ครูส เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาวดาวอังคารบุกโลกโดยเริ่มที่ลอนดอน แต่ฉบับภาพยนตร์มีการดัดแปลงไปจากฉบับดั้งเดิมและไม่ได้เอ่ยถึงดาวอังคารเนื่องจากปัจจุบันเราทราบแล้วว่าดาวอังคารไม่มีสิ่งมีชีวิต นอกจากภาพยนตร์แล้วเรื่องนี้ได้เคยนำมาสร้างเป็นละครวิทยุเมื่อปี ค.ศ. 1938 สร้างความแตกตื่นให้กับชาวอเมริกันส่วนหนึ่งที่คิดว่าโลกถูกมนุษย์ต่างดาวรุกรานเข้าจริง ๆ The War of the Worlds กลายเป็นภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์และนิยายภาพ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนิยายที่มีเรื่องราวของภัยจากต่างดาวในทำนองเดียวกันอีกหลายเรื่อง

ภาพถ่ายดาวอังคารจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ถ่ายขณะใกล้โลกในปี พ.ศ. 2538-2548 (ค.ศ. 1995-2005) เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของขนาด การเปลี่ยนแปลงของพื้นผิว และขั้วน้ำแข็ง (ภาพ NASA/ESA/Hubble Heritage Team) 

แผนที่ดาวอังคาร วาดโดยโจวันนี สกยาพาเรลลี (Giovanni Schiaparelli) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 

หลังจากเราได้รับรู้ถึงสภาพที่แท้จริงของดาวอังคารผ่านยานอวกาศอย่างโครงการไวกิง เป็นที่ประจักษ์ว่าแท้จริงแล้วดาวอังคารไม่มีต้นไม้ ไม่มีลำคลอง เป็นดินแดนหนาวเย็น แห้งผาก ไร้ซึ่งสัญญาณของสิ่งมีชีวิตแบบที่เคยจินตนาการไว้ นิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดาวอังคารในสมัยปัจจุบันจึงเปลี่ยนแนวไปจากเดิม เช่น นิยายไตรภาคเขียนโดย คิม สแตนลีย์ โรบินสัน เมื่อทศวรรษ 1990 เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในช่วงหลังปี ค.ศ. 2026 ที่เข้าไปบุกเบิก ตั้งรกราก และพยายามดัดแปลงสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารให้มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้

ขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์หรือน้ำแข็งแห้ง ปี 2545 ยานมาร์สโอดิสซีย์ค้นพบการสะสมของไฮโดรเจนที่ขั้วดาวอังคารซึ่งแสดงว่ามีน้ำปริมาณมากอยู่ใต้ดินใกล้พื้นผิว การสังเกตการณ์ต่อมาพบร่องรอยของน้ำในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย สปิริตและออปพอร์ทูนิตีซึ่งเป็นรถสำรวจดาวอังคารที่ลงจอดเมื่อปี 2547 ได้พบโครงสร้างทางธรณีวิทยาและแร่ธาตุที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าพื้นผิวดาวอังคารเคยมีทะเลหรือมหาสมุทรบนพื้นผิวมาก่อน

แผนภาพแสดงตำแหน่งดาวอังคารและการเข้าใกล้โลก (ไฟล์ pdf) 

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเห็นหรือไม่เห็นขั้วน้ำแข็งเมื่อดูดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ ได้แก่ ระยะห่างจากโลก ทิศทางการหันเหของแกนหมุนดาวอังคาร และฤดูกาลบนดาวอังคาร ยิ่งเข้าใกล้โลกมากโอกาสที่เราจะเห็นขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารอย่างชัดเจนก็มีมากขึ้น แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่านั้นคือการเอียงของแกนหมุนซึ่งเป็นตัวบอกว่าดาวอังคารจะหันขั้วเหนือหรือใต้เข้าหาโลก ปัจจัยสุดท้ายคือมุมที่ดาวอังคารกระทำกับดวงอาทิตย์อันเป็นตัวกำหนดฤดูกาลและปริมาณน้ำแข็งที่ขั้ว

ดาวอังคารมีหุบเขามาริเนอร์ (Valles Marineris) เป็นหุบผาชันขนาดใหญ่และทอดยาวเป็นระยะทางไกล และยังมีภูเขาไฟที่สงบอยู่หลายแห่ง ภูเขาโอลิมปัส (Olympus Mons) เป็นภูเขาไฟที่ใหญ่สุด มีพื้นที่ราวร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศไทยและมีความสูงมากกว่าภูเขาเอเวอร์เรสต์ถึงสามเท่า

ดาวอังคารบนท้องฟ้า

หนึ่งถึงสองเดือนก่อนที่ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ดาวอังคารขึ้นทางทิศตะวันออกหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่เมื่อถึงช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกมากที่สุด ดาวอังคารจะขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาไล่เลี่ยกับเวลาดวงอาทิตย์ตก อยู่สูงใกล้จุดเหนือศีรษะในเวลาเที่ยงคืน และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลาไล่เลี่ยกับเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น เราจึงสามารถสังเกตดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน

ต้นเดือนตุลาคม 2550 ดาวอังคารเคลื่อนที่เดินหน้าไปทางทิศตะวันออกขณะอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ สว่างด้วยโชติมาตร -0.1 ขึ้นเหนือขอบฟ้าเวลาประมาณ ทุ่มเศษ จากนั้นเมื่อถึงกลางเดือนพฤศจิกายนดาวอังคารเริ่มเคลื่อนที่ถอยหลังไปทางทิศตะวันตก ขณะนั้นความสว่างเพิ่มขึ้นไปที่โชติมาตร -0.9 และขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณ ทุ่มเศษ

ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดในเช้าวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ขณะมีโชติมาตร -1.6 เส้นผ่านศูนย์กลางเชิงมุม 15.9 พิลิปดา ขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วประมาณ 20-30 นาที อีก วันถัดมาดาวอังคารจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ทำให้มันขึ้นเหนือขอบฟ้าพร้อมกับดวงอาทิตย์ตกและเริ่มปรากฏบนฟ้านับตั้งแต่ย่ำค่ำ

ดาวอังคารถอยหลังเข้าสู่กลุ่มดาววัวในวันสิ้นปี 2550 แล้วเริ่มเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ขณะความสว่างลดลงไปอยู่ที่โชติมาตร -0.6 ต้นเดือนมีนาคมดาวอังคารจึงจะเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่อีกครั้งโดยที่ความสว่างของมันลดลงอย่างต่อเนื่องไปอยู่ที่โชติมาตร +0.3

หลังจากครั้งนี้ ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกอีกครั้งในปลายเดือนมกราคม 2553 แต่ไม่ใกล้โลกและสว่างเท่าครั้งนี้ และกว่าที่เราจะมีโอกาสเห็นดาวอังคารใหญ่และสว่างกว่าปีนี้ ต้องรอถึงปี พ.ศ. 2559

ระยะห่างและขนาดปรากฏของดาวอังคารขณะใกล้โลกมากที่สุด พ.ศ. 2531-2561
วัน เดือน ปีเวลา (ไทย)ระยะห่าง (AU)*ขนาดปรากฏ (พิลิปดา)โชติมาตร
22 กันยายน 253110 น.0.3931523.81-2.7
20 พฤศจิกายน 253311 น.0.5169218.11-2.0
มกราคม 253620 น.0.6260914.95-1.4
11 กุมภาพันธ์ 253821 น.0.6756913.85-1.2
21 มีนาคม 2540น.0.6593814.20-1.3
พฤษภาคม 2542น.0.5784616.18-1.6
22 มิถุนายน 2544น.0.4501720.79-2.3
27 สิงหาคม 254617 น.0.3727225.11-2.9
30 ตุลาคม 254810 น.0.4640620.17-2.3
19 ธันวาคม 2550น.0.5893515.88-1.6
28 มกราคม 2553น.0.6639814.10-1.3
มีนาคม 2555น.0.6736813.89-1.2
14 เมษายน 255720 น.0.6175615.16-1.4
31 พฤษภาคม 2559น.0.5032118.60-2.0
31 กรกฎาคม 256115 น.0.3849624.31-2.8


หมายเหตุ หน่วยดาราศาสตร์ (1 AU) เท่ากับระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ มีค่าประมาณ 149.6 ล้านกิโลเมตร