สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ควันหลง...จันทร์ยิ้ม

ควันหลง...จันทร์ยิ้ม

20 ธันวาคม 2551
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนเมื่อค่ำคืนวันจันทร์ที่ ธันวาคม 2551 ซึ่งดวงจันทร์เสี้ยวได้เคลื่อนไปอยู่ใกล้ ๆ ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี จนมีลักษณะคล้ายหน้าคนยิ้ม กลายเป็นสิ่งบังเอิญที่งดงามบนท้องฟ้า เรียกรอยยิ้มจากผู้คน สร้างความประทับใจปนแตกตื่น เป็นสิ่งเล็ก ๆ บนฟ้าที่สร้างความยิ่งใหญ่เกินความคาดหมาย ขณะเดียวกัน ดูเหมือนจะมีการเข้าใจผิดกันในรายละเอียดบางอย่าง จึงถือโอกาสอธิบายเพิ่ม และตอบข้อสงสัยว่าเราจะเห็นจันทร์ยิ้มแบบนี้ได้อีกเมื่อไหร่

ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี เมื่อวันที่ ธันวาคม 2551 (ภาพ กิตติคุณ เซ็นสาส์น) 

ปรากฏการณ์ที่คนไทยจำนวนมากเรียกว่า "พระจันทร์ยิ้ม" หรือ "ฟ้ายิ้ม" ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ธันวาคม 2551 เป็นภาวะประจวบเหมาะที่สำคัญหลายอย่าง ได้แก่

ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้กันมากที่สุดในวันนี้ด้วยระยะห่างพอประมาณ ไม่ใกล้กันมากเกินไป หากใกล้ชิดจนเกือบติดกันก็จะทำให้ดูไม่เหมือนเป็นดวงตาสองข้าง
จันทร์เสี้ยวอยู่ในตำแหน่งที่พอเหมาะพอเจาะ สอดรับกันกับดาวสองดวง ประกอบเข้ากันเป็นตำแหน่งของปาก
ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ ในช่วงหัวค่ำวันนั้น อยู่สูงจากขอบฟ้ามากพอสมควร ทำให้สังเกตได้ง่าย
ปรากฏการณ์เกิดในเวลาหัวค่ำซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่นอน หากเกิดตอนเช้ามืด คงไม่เป็นที่สนใจและสร้างความฮือฮากันมากเท่านี้ หรืออาจเป็นแค่ข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งก็เป็นได้
เกิดในฤดูหนาวซึ่งท้องฟ้าส่วนใหญ่ปลอดโปร่ง ไม่ค่อยมีเมฆเป็นอุปสรรค ยกเว้นภาคใต้
กล่าวได้ว่าพระจันทร์ยิ้มเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งเดียวกันเสียทีเดียว เพราะดาวเคียงเดือนใช้กับปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวสว่าง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์) ไม่สนใจว่าจะเรียงกันเป็นรูปอะไร แต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ ธันวาคม ยังมีปัจจัยเพิ่มเกี่ยวกับการเรียงกันของวัตถุท้องฟ้าทั้งสามดวงจนกลายเป็นหน้าคนยิ้ม

ดาวเคียงเดือนที่ดูคล้ายหน้าคน 

รายงานข่าวบางแห่งจับคำว่าเอิร์ทไชน์ (Earthshine) หรือ "แสงโลก" มารวมอยู่ด้วย ราวกับว่าจันทร์ยิ้มหรือดาวเคียงเดือนกับแสงโลกคือสิ่งเดียวกัน ซึ่งอันนี้ผิดถนัด แสงโลกเกิดกับดวงจันทร์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี หรือดาวดวงอื่น สามารถเห็นได้หลายวันในทุก ๆ เดือน โดยเกิดจากแสงอาทิตย์ที่กระทบผิวโลกแล้วสะท้อนไปตกที่ดวงจันทร์ ทำให้ด้านมืดของดวงจันทร์สว่างเรืองขึ้นเล็กน้อย เห็นชัดมากที่สุดในช่วงที่ดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยว เลโอนาร์โด ดาวินชี เป็นคนแรก ๆ ที่อธิบายได้อย่างถูกต้องเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่าแสงนั้นเกิดจากแสงอาทิตย์ที่กระทบผิวโลกแล้วสะท้อนไปที่ดวงจันทร์

เมื่อมองไปถึงเหตุการณ์ในอนาคต พบว่าการเรียงกันระหว่างดวงจันทร์กับดาวเคราะห์จนทำให้ดูคล้ายหน้าคนยิ้มจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2552 แต่คราวนี้เปลี่ยนเป็นดาวศุกร์กับดาวอังคาร ดาวอังคารซึ่งช่วงนั้นไม่ค่อยสว่างนัก และดาวศุกร์ซึ่งสว่างโดดเด่นกว่ามาก อาจทำให้คนในเมืองสังเกตเห็นดาวอังคารได้ยากกว่า ประกอบกับเหตุการณ์เกิดในเวลาเช้ามืด ก็อาจจะไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าใดนัก

หากเราพุ่งเป้าไปที่การเข้าใกล้กันระหว่างดวงจันทร์กับดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี ขอบเขตของการค้นหาก็แคบลง การเข้าใกล้กันระหว่างดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเกิดขึ้นได้ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดในระยะใกล้ ๆ นี้ ที่จะมีดวงจันทร์มาร่วมอยู่ด้วยจนเกิดเป็นหน้าคนยิ้มได้ ปรากฏการณ์ในเช้ามืดวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 เกือบจะดูคล้ายหน้ายิ้มแล้ว แต่ออกจะบิดเบี้ยวไปค่อนข้างมาก ส่วนปรากฏการณ์ในค่ำวันที่ 18 กรกฎาคม 2558 ดูคล้ายหน้าคนเช่นกัน แต่ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ กับดาวพฤหัสบดี จะอยู่ห่างไกลกันพอสมควร และมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จะพบอุปสรรคจากเมฆฝน

ต้นพุทธศตวรรษหน้า จะมีการเรียงกันของดวงจันทร์ ดาวศุกร์ กับดาวพฤหัสบดี จนดูคล้ายหน้ายิ้มได้ในค่ำวันที่ เมษายน 2603 และ 20 กันยายน 2620 โดยครั้งแรกจะมีดาวเสาร์มาร่วมอยู่ด้วย แต่ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับดาวเคราะห์ก็ยังไกลกว่าที่เราเห็นเมื่อคืนวันที่ ธันวาคม 2551 อยู่ดี (วันถัดไป ดวงจันทร์จะเข้าใกล้ดาวเคราะห์มากที่สุด แต่เคลื่อนเลยไปจนดูไม่เหมือนหน้าคน) ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าเหตุการณ์ที่หลายคนกล่าวขานว่าพระจันทร์ยิ้ม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักหากไม่เจาะจงว่าเป็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี แต่ยากพอสมควรเมื่อคำนึงถึงแต่เฉพาะดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวเคราะห์สองดวงที่สว่างที่สุดและเห็นได้ง่ายที่สุดบนท้องฟ้า