ชวนส่องดูปรากฏการณ์ปลายเดือนกรกฎาคม “ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด สว่างที่สุดในรอบ 15 ปี”
เดือนกรกฎาคมของทุกๆ ปีของบ้านราอยู่ในช่วงฤดูฝน ท้องฟ้าปิด มีฝนตกเกือบทุกภาคเป็นอุปสรรคในการออกไปดูดาว แต่ปลายเดือนนี้จะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจและน่าติดตามชมอย่างยิ่ง วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ดาวอังคารโคจรมาอยู่ ณ ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (ดาวอังคารเพ็ญ) (Mars Opposition) มาใกล้โลกด้วยมีความสว่างที่โชติมาตรปรากฏ -2.8 และถัดมาอีก 4 วัน ดาวอังคารโคจรเข้ามาใกล้โลกมากขึ้น วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นวันที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 15 ปี ที่เคยเข้าใกล้โลกมากที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2546
โลก และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบที่แตกต่างกัน เราเรียกจังหวะเวลาที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคารโคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ดาวอังคารมาอยู่ ณ ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (หรือที่เรียกว่า ดาวอังคารเพ็ญ) ช่วงเวลาที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดนั้น ดาวอังคารจะขึ้นทางทิศตะวันออก ขณะที่ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก และปรากฏอยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืนจนกระทั่งคล้อยต่ำลงและตกทางทิศตะวันตก ขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด โดยเฉลี่ยดาวอังคารจะอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี 2 เดือน และดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุก 15 ปี และ 17 ปี
แต่ละครั้งที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดาวอังคารจะมีระยะห่างจากโลกไม่เท่ากัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากดาวอังคารมีวงโคจรที่เป็นวงรีค่อนข้างมาก ขณะที่ดาวอังคารอยู่ที่ตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ดาวอังคารจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 207 ล้านกิโลเมตร แต่เมื่อถึงตำแหน่งไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวอังคารจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 249 ล้านกิโลเมตร ดังนั้นหากดาวอังคารมาอยู่ ณ ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวอังคารก็จะมีระยะห่างที่ใกล้โลกมากเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้ดาวอังคารมีความสว่างมากและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าในช่วงเวลาอื่น ๆ เมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ ครั้งล่าสุดที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2546 มีความสว่างปรากฏ -2.9 และจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคมของปีนี้ มีความสว่างปรากฏ -2.8
ดาวอังคารโคจรมาอยู่ ณ ตำแน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือดาวอังคารเพ็ญ (Mars Opposition) วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 จะเห็นได้ต่อเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวอังคารจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เวลาหัวค่ำ จะเห็นดาวอังคารได้ดีเวลาประมาณ 19:30 น. มองเห็นดวงอังคารสว่างมากเป็นพิเศษ สว่างกว่าดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ด้วยความสว่างปรากฏ -2.8 เห็นได้ตลอดทั้งคืนไปจนถึงรุ่งเช้าวันใหม่ ดาวอังคารปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวเพาะทะเล (Capricornus) อยู่ระยะห่างจากโลก 0.39 หน่วยดาราศาสตร์ (58.3 ล้านกิโลเมตร) มีขนาดปรากฏ 24.2 พิลิปดา และครั้งต่อไปดาวอังคารโคจรอยู่ ณ ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์อีก วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) ที่ระยะห่างจากโลก 0.38 หน่วยดาราศาสตร์ (56.8 ล้านกิโลเมตร) มีความสว่างปรากฏ -2.8 ถัดมาอีก 4 วันดาวอังคารเข้ามาใกล้โลกมากขึ้นวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 สิ้นเดือนนี้ ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุด สว่างมากที่สุดในรอบ 15 ปี (Mars Closest Approach) ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ครั้งนั้นมีความสว่างปรากฏ -2.9 ครั้งนี้ดาวอังคารมีความสว่างปรากฏ -2.8 มีความสว่างมากกว่าดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างจากโลก 0.385 หน่วยดาราศาสตร์ (57.6 ล้านกิโลเมตร) มีขนาดปรากฏ 24.2 พิลิปดา ดาวอังคารเคยเข้าใกล้โลกมากกว่าการเข้าใกล้ในปีนี้ เมื่อปี 57,617 ก่อนคริสต์ศักราช และจะเข้าใกล้มากกว่าครั้งนี้อีกเล็กน้อยในปี ค.ศ. 2287 นั่นหมายความว่าโลกและดาวอังคารไม่เคยเข้าใกล้กันมากเท่านี้มาเกือบ 60,000 ปีแล้ว แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวดูจะน่าตื่นเต้น แต่ความจริงก็คือ ในทางปฏิบัติขนาดปรากฏที่มองเห็นได้นั้นไม่ต่างกันมาก และครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุด ถ้ามองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นรายละเอียดของดาวอังคารได้ชัดเจนและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ นอกจากค่ำคืนวันดังกล่าวได้เห็นดาวอังคารที่มีความสว่างมากที่สุดแล้ว ยังได้เห็นดาวเคราะห์อีก 3 ดวง เช่น ดาวศุกร์, ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ด้วย ดาวศุกร์ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต