สมาคมดาราศาสตร์ไทย

คลื่นความโน้มถ่วง อีกหนึ่งบทพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป

คลื่นความโน้มถ่วง อีกหนึ่งบทพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป

27 ตุลาคม 2565 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 10 มกราคม 2566
"ท่านทั้งหลาย เราได้ค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงแล้ว" 

เดวิด  ไรตซ์ ผู้อำนวยการของหอสังเกตการณ์ไลโกกล่าวนำขึ้นในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 แม้จะเป็นคำเกริ่นสั้น ๆ แต่ก็ดังกึกก้องจนวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ทั่วโลกต้องหันมามองเป็นตาเดียว

คลื่นความโน้มถ่วงคืออะไร


คลื่นความโน้มถ่วง คือระลอกความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของปริภูมิเวลาที่แผ่ออกไปในอวกาศคล้ายแสง แต่คลื่นความโน้มถ่วงไม่ใช่แสง ไม่ใช่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า แม้จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสงก็ตาม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งกล่าวไว้ในปี พ.ศ. 2458 ตลอดเวลาหนึ่งศตวรรษเต็มที่ผ่านมา คลื่นลึกลับนี้ยังคงหลบหลีกสายตาของนักวิทยาศาสตร์ ไม่เคยมีใครตรวจวัดคลื่นนี้ได้เลย แม้ตัวทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปได้รับการพิสูจน์จากการทดลองนานารูปแบบหลายสิบครั้งแล้วว่าถูกต้อง แต่สำหรับการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงอันแสนแผ่วเบานี้ เป็นเรื่องที่แม้แต่เจ้าของทฤษฎีก็ยังเคยแสดงความไม่แน่ใจว่าจะตรวจพบได้จริง

กลศาสตร์ของนิวตันกล่าวว่า มวลทำให้เกิดแรงโน้มถ่วง แรงโน้มถ่วงจากมวลใด ๆ จะมีผลถึงระยะอนันต์ในลักษณะสนามของแรงที่คงตัว แต่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์อธิบายว่าความโน้มถ่วงไม่ใช่แรง แต่เป็นความบิดโค้งของปริภูมิเวลาที่เกิดจากมวล เปรียบเหมือนลูกเหล็กที่วางบนแผ่นยางที่ขึงตึง แผ่นยางแทนโครงข่ายของปริภูมิเวลา มวลของลูกเหล็กทำให้แผ่นยางบุ๋มลงที่ตำแหน่งของมัน และดึงให้แผ่นยางบริเวณข้างเคียงบิดโค้ง หากมีมวลอื่นผ่านมาใกล้ก็จะเบี่ยงเบนทิศทางตีโค้งเข้าหาลูกเหล็ก การเบี่ยงเบนนี้ไม่ได้เกิดจากลูกเหล็กดูด แต่เป็นเพราะไหลไปตามความลาดโค้งของแผ่นยาง นอกจากนี้ยังอธิบายว่าอันตรกิริยาใด ๆ ในเอกภพย่อมเคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่เกินความเร็วแสง ความโน้มถ่วงจึงไม่ใช่สนามคงตัว หากแต่เป็นการแผ่ออกจากมวลโดยมีความเร็วจำกัด นั่นคือความเร็วแสง ดังนั้นเมื่อวัตถุมีมวลนั้นเคลื่อนที่ ความบิดโค้งของปริภูมิเวลาก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยแผ่ออกจากมวลนั้น และหากการเคลื่อนที่เร็วพอ ความเปลี่ยนแปลงของความบิดโค้งก็จะปรากฏในลักษณะของระลอกคลื่นบนปริภูมิเวลาที่เดินทางแผ่ออกไปด้วยความเร็วแสง 

กลศาสตร์นิวตันอธิบายว่าวัตถุที่มีมวลจะมีแรงโน้มถ่วง เป็นแรงที่เกิดขึ้นในลักษณะของสนามคงตัวและอยู่บนปริภูมิที่คงที่ (บน) ส่วนทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปอธิบายว่ามวลทำให้ปริภูมิเวลาบิดโค้ง มวลดึงดูดกันเพราะไหลมาตามปริภูมิเวลาที่บิดโค้งนั้น มิได้เกิดจากแรง (ล่าง) 

ไอน์สไตน์เองก็เคยค้าน


แม้เรื่องคลื่นความโน้มถ่วงจะเป็นปรากฏการณ์ที่พยากรณ์ขึ้นได้โดยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงจะช่วยตอกย้ำถึงความเป็นอัจฉริยะของนักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกคนนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่าไอน์สไตน์เองนี่แหละที่เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวหลักในการคัดค้านเรื่องคลื่นความโน้มถ่วง 

แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ 

ใน พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่เขาเสนอทฤษฎีนี้ไปแล้วถึง 20 ปี ไอน์สไตน์ได้ทบทวนการคำนวณของตนอีกครั้ง แล้วก็ต้องประหลาดใจเมื่อผลออกมาว่าคลื่นความโน้มถ่วงไม่มีอยู่จริง ไอน์สไตน์ได้เขียนรายงานการวิจัยเรื่องนี้หัวข้อ “Do Gravitational Waves Exist?” ส่งให้วารสาร ฟิสิกัลรีวิว อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้กลับไม่ถูกตีพิมพ์โดยผู้ตรวจทานบทความได้ชี้ถึงจุดบกพร่องในบทความนั้นด้วย แม้ในเวลาต่อมาไอน์สไตน์จะเปลี่ยนใจกลับมาเชื่อว่ามีคลื่นความโน้มถ่วงอีกครั้ง แต่เขารวมถึงนักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องกันว่าคลื่นนี้แผ่วเบามากจนไม่น่าจะตรวจจับได้

ความพยายามในยุคเริ่มต้น


ในปี 2502 โจเซฟ เวเบอร์ ซึ่งเป็นนักวิจัยเรื่องเลเซอร์รุ่นบุกเบิก เป็นคนแรกที่พยายามตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง เครื่องตรวจจับของเวเบอร์เป็นคานอะลูมินัมสองแท่งคล้ายส้อมเสียง เขาเฝ้าคอยสังเกตการสั่นไหวอยู่เป็นเวลาหลายปี จนถึงปี 2512 เวเบอร์ก็ต้องยอมรับว่าความพยายามนั้นล้มเหลว ไม่มีการพบคลื่นความโน้มถ่วงแต่อย่างใด 

แต่นั่นไม่ได้หยุดความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ วอลเทอร์ วิงเกลอร์ ร่วมกับ ไฮนซ์ บิลลิง นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชื่อก้องโลก เป็นอีกคณะหนึ่งที่ต้องการสานต่องานของเวเบอร์ ทั้งคู่ได้บินจากเยอรมนีไปพบเวเบอร์ถึงเพนซิลเวเนียเพื่อดูแบบของเครื่องตรวจจับรุ่นบุกเบิก

ในปี 2515 ถึง 2518 คณะของวิงเกลอร์ได้ปฏิบัติการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงด้วยวิธีการที่พัฒนาจากแบบของเวเบอร์ และผลก็ออกมาเช่นเดียวกับเวเบอร์ สิ่งที่ตรวจได้ไม่มีอะไรนอกจากสัญญาณรบกวน

ในยุคนั้น วิทยาการคอมพิวเตอร์ยังไม่ก้าวหน้านักและยังไม่แพร่หลาย เครื่องมือของวิงเกลอร์ให้ผลลัพท์เป็นการพิมพ์ลงบนแถบกระดาษยาวเหยียด หลังจากนั้นก็ปล่อยให้คนไปนั่งเพ่งแถบกระดาษนั้นและแยกแยะว่าสัญญาณใดเป็นคลื่นความโน้มถ่วง สัญญาณใดคือสัญญาณรบกวน แน่นอนว่านี่ต้องเป็นงานของคนที่มีมานะเปี่ยมล้นเท่านั้นจึงจะทำได้

หลังจากนั้นไม่นาน วิงเกลอร์และบิลลิงก็พัฒนาเครื่องตรวจวัดขึ้นมาใหม่โดยใช้หลักการแตกต่างไปจากของวิงเกลอร์โดยสิ้นเชิง เครื่องมือรุ่นใหม่ใช้แบบของ ไรเนอร์ ไวสส์ ซึ่งใช้หลักการแทรกสอดในการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง เครื่องรุ่นแรกที่คณะนี้สร้างขึ้นมีแขนยาวเพียงหนึ่งฟุต หลังจากนั้นก็ปรับปรุงใหม่ให้ยาวขึ้นเป็นหลายเมตร

หลักของการแทรกสอดนี้เองที่เป็นพื้นฐานของหอสังเกตการณ์ไลโกต่อมา

ไรน์เนอร์ ไวสส์ ผู้คิดวิธีตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงด้วยหลักการแทรกสอด (จาก  web.mit.edu)

เป็นเวลาไม่นานนักที่นักวิทยาศาสตร์จากเยอรมันกลุ่มนี้เริ่มตระหนักทราบว่าการตรวจจับคลื่นที่แสนแผ่วเบานี้จำเป็นต้องสร้างเครื่องตรวจจับที่มีแขนยาวในระดับหลายกิโลเมตรไม่ใช่เป็นเมตร แต่งบประมาณการสร้างที่แพงลิบลิ่วก็ทำให้ฝันของนักวิทยาศาสตร์คณะนี้ก็ต้องมอดดับลงเมื่อรัฐบาลเยอรมันไม่อนุมัติโครงการ

แต่ในฝั่งอเมริกาเส้นทางกลับสดใส ในปี 2535 ไวสส์ร่วมกับ คิป ทอร์น และ โรนัลด์ เดรเวอร์ จากคาลเทคดำเนินโครงการไลโกด้วยเงินทุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติอเมริกา ไลโกจึงได้เกิดขึ้น

ถ้าไลโกมีชีวิต คงต้องลำบากลำบนกับการเกิดมามีหูทิพย์ ความไวที่สูงมากของไลโกกลายเป็นปัญหาสำคัญของการตรวจหาแยกแยะคลื่นที่แผ่วเบาออกจากสิ่งแวดล้อมที่สั่นสะเทือนรุนแรงกว่าหลายเท่า ไลโกตรวจจับได้แม้แต่แรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากคนภายในพูดคุยกัน จากการจราจรบนถนนที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล เสียงไม้ล้มในป่าไม้ที่อยู่ข้างเคียง หรือแม้แต่เสียงคลื่นซัดฝั่งที่อ่าวเมกซิโก คลื่นสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์เหล่านี้อาจกลบคลื่นความโน้มถ่วงจนไม่เห็นร่องรอยได้ง่าย ๆ ด้วยเหตุนี้บริเวณสถานีไลโกจึงต้องมีการจำกัดความเร็วของรถยนต์ หากรถวิ่งด้วยความเร็วเกิน 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไลโกก็จะตรวจจับได้

แล้วจะแยกแยะได้อย่างไรว่าคลื่นใดคือคลื่นความโน้มถ่วง คลื่นใดคือสัญญาณรบกวน? ดร.มาร์โก กาวาลยีอา ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีอธิบายว่า “ให้นึกถึงตอนเราหมุนหน้าปัดวิทยุรถยนต์เพื่อหาเพลงฟัง ขณะที่เราหมุนหาคลื่น เราจะได้ยินแต่เสียงสัญญาณรบกวนซู่ซ่าฟังไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อหมุนมาถึงคลื่นของสถานี คุณจะรู้ทันที เพราะสมองของเราได้เก็บรูปแบบของเสียงมนุษย์ไว้ จึงจำแนกแยกแยะเสียงออกจากสัญญาณรบกวนได้”

คลื่นความโน้มถ่วงเป็นสิ่งที่ตรวจจับได้ยากมาก เหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดคลื่นความโน้มถ่วงได้รุนแรงในระดับที่พอตรวจจับได้จากโลก ต้องเป็นเหตุการณ์ที่มีวัตถุที่มีมวลและความหนาแน่นสูงมากเคลื่อนที่ไปมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในธรรมชาติมีเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่จริงเช่น ดาวนิวตรอนคู่หรือหลุมดำคู่ที่โคจรรอบกันเองตีวงเข้าหากันจนชนกันและรวมเป็นวัตถุเดียว

ไลโก


หอสังเกตการณ์ไลโก (LIGO -- Laser Interferometry Gravitational-Wave Observatory) เป็นหอสังเกตการณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อตรวจจับคลื่นแรงโน้มถ่วงโดยเฉพาะ มีลักษณะไม่เหมือนหอดูดาวทั่วไป โครงสร้างหลักเป็นท่อสุญญากาศสองท่อวางในแนวราบทำมุมฉากกันเป็นรูปตัวแอล (L) แต่ละท่อยาว กิโลเมตร ในการตรวจจับคลื่น จะยิงเลเซอร์อินฟราเรดเข้มข้นใส่ตัวแยกลำแสงเพื่อแยกเลเซอร์ออกเป็นสองทางไปตามปลายท่อทั้งสอง กระจกสะท้อนที่ปลายท่อจะสะท้อนเลเซอร์กลับไปยังตัวตรวจจับเพื่อรวมแสงสะท้อนจากทั้งสองทางเข้าด้วยกัน ในภาวะปกติ แสงเลเซอร์ที่สะท้อนกลับมาซึ่งมีเฟสตรงข้ามกันจะหักล้างกันหมดสิ้น แต่หากระยะของท่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย จะทำให้เฟสของสัญญาณเหลื่อมกันและหักล้างกันไม่หมด เกิดสัญญาณลัพธ์ที่ตรวจวัดและนำไปวิเคราะห์ได้ 

ภาพถ่ายทางอากาศของหอสังเกตการณ์ไลโกในแฮนฟอร์ด รัฐวอชิงตัน 
 


ผังส่วนประกอบหลัก แสดงหลักการทำงานของไลโก 

ระบบของไลโกมีความไวสูงมากพอที่จะรับรู้ระยะห่างของท่อที่เปลี่ยนแปลงไปแม้เพียง ใน 10,000 ของขนาดของโปรตอน ความไวที่สูงยิ่งยวดเช่นนี้จำเป็นมากในการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงที่แสนแผ่วเบา เมื่อคลื่นความโน้มถ่วงแผ่เข้ามายังโลกและผ่านท่อของไลโก ระยะของท่อจะยืดหดตามระลอกของปริภูมิเวลา

แน่นอนว่าการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมอาจมีผลต่อระยะของท่อด้วย เช่นยานยนต์ที่วิ่งผ่านหรือกิจกรรมทางธรณีวิทยา หอสังเกตการณ์ไลโกจึงสร้างสถานีตรวจจับไว้สองแห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในแฮนฟอร์ด รัฐวอชิงตัน อีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างออกไปสามพันกิโลเมตรในลิฟวิงสตัน รัฐลุยเซียนา จึงตัดปัญหาการตีความคลาดเคลื่อนไปได้ หากมีการรบกวนที่เกิดขึ้นภายในโลก จะมีผลเพียงสถานีใดสถานีหนึ่ง หรือเกิดที่เวลาต่างกันมาก แต่ถ้ามีความเปลี่ยนแปลงระยะท่อขึ้นเหมือนกันทั้งสองแห่ง ย่อมหมายความว่าต้นกำเนิดของคลื่นนั้นต้องมาจากนอกโลก
ปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดคลื่นความโน้มถ่วงมิได้มีแต่วัตถุระดับดาวฤกษ์ชนกันเท่านั้น การระเบิดของดาวฤกษ์ หรือแม้แต่การเกิดบิกแบงเองก็แผ่คลื่นความโน้มถ่วงเช่นกัน แต่ความถี่ของคลื่นจะแตกต่างกันไป ระบบตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงระบบใดระบบหนึ่ง ก็มีย่านความถี่ตอบสนองเฉพาะตัว

หากหลุมดำยักษ์ใจกลางดาราจักรชนกัน จะแผ่คลื่นความโน้มถ่วงที่มีความถี่ต่ำกว่าเสียงฮัมของปลาวาฬนับหมื่นเท่า ซึ่งต่ำเกินกว่าที่ไลโกจะตรวจจับได้ ไลโกถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับคลื่นที่มีความถี่ 30-7000 เฮิรตซ์ ซึ่งวัตถุที่ทำให้เกิดคลื่นในย่านนี้ก็คือดาวนิวตรอนหรือหลุมดำนั่นเอง

หอสังเกตการณ์ไลโกสร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี 2545 ต่อมามีการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่เพิ่มความไวขึ้นถึงสิบเท่า ไลโกโฉมใหม่มีชื่อว่า เอ-ไลโก (aLIGO) การค้นพบที่เขย่าโลกในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการปรับปรุงใหญ่เสร็จสิ้นเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

ภาพจำลองหลุมดำสองดวงชนกันที่แผ่คลื่นความโน้มถ่วงออกไปโดยรอบ เป็นสถานการณ์ที่พยากรณ์ได้ด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเป็นสิ่งที่หอสังเกตการณ์ไลโกตรวจพบจริงเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 (จาก MPI for Gravitational Physics Werner Benger ZIB Louisiana State University)

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รอคอยมานานได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 16:51 นาฬิกาตามเวลาประเทศไทย เมื่อสถานีไลโกในลิฟวิงสตันตรวจวัดสัญญาณการกระเพื่อมได้ แล้วหลังจากนั้นอีก มิลลิวินาที (7 ใน 1,000 ส่วนของวินาที) สถานีที่แฮนฟอร์ดก็ได้รับสัญญาณที่มีรูปแบบเกือบจะเหมือนกัน 

และรูปแบบการกระเพื่อมที่ไลโกตรวจวัดได้ ตรงกับรูปแบบการกระเพื่อมที่ทฤษฎีว่าไว้พอดี เป็นหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนว่าสิ่งที่ไลโกตรวจวัดได้นั้นคือคลื่นความโน้มถ่วงจากอวกาศจริง

จากการวิเคราะห์คลื่นความโน้มถ่วงที่ตรวจวัดได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากหลุมดำสองดวงชนกัน ดวงหนึ่งมีมวล 36 มวลสุริยะ อีกดวงหนึ่งมีมวล 29 มวลสุริยะ หลังจากการชนหลุมดำทั้งสองได้รวมกันเป็นหลุมดำดวงเดียวที่มีมวล 62 มวลสุริยะ มวล มวลสุริยะที่หายไปได้กลายไปเป็นพลังงานที่สร้างคลื่นความโน้มถ่วง

การคำนวณพบว่า พลังงานที่แผ่ออกมาในรูปคลื่นความโน้มถ่วงในเสี้ยววินาทีก่อนการชนนั้น รุนแรงมากถึง 50 เท่าของพลังงานที่มีอยู่ในส่วนที่เหลือของเอกภพทั้งหมดรวมกัน!

ไลโกมีสถานีตรวจวัดเพียงสองแห่ง จึงบอกไม่ได้ว่าแหล่งที่มาของคลื่นแรงโน้มถ่วงนั้นมาจากที่ใดกันแน่ บอกได้เพียงทิศทางคร่าว ๆ ที่มีขนาด 600 ตารางองศาบนท้องฟ้า ใกล้ตำแหน่งของเมฆแมเจลแลนใหญ่ การระบุระยะห่างของแหล่งกำเนิดก็ยังเป็นเรื่องพ้นวิสัยเช่นกัน ไลโกบอกได้เพียงว่าแหล่งนั้นน่าจะอยู่ห่างจากโลกระหว่าง 700 ล้านปีแสงถึง 1.6 พันล้านปีแสง

แม้จะยังระบุแหล่งกำเนิดแน่ชัดไม่ได้ แต่แหล่งกำเนิดคลื่นนี้ก็มีชื่อเรียกแล้วว่า  จีดับเบิลยู 150914 (GW150914)

พื้นที่ภายในเส้นโครงสองแห่งในภาพคือบริเวณที่คาดว่าเป็นแหล่งกำเนิดคลื่นความโน้มถ่วง จีดับเบิลยู 150914 นักวิทยาศาสตร์หาแหล่งกำเนิดของคลื่นความโน้มถ่วงโดยคำนวณจากเวลาที่เหลื่อมกันของสัญญาณที่วัดได้จากสถานีต่าง ๆ ปัจจุบันหอสังเกตการณ์ไลโกมีเพียงสองสถานีหลัก ยังน้อยเกินกว่าที่จะระบุตำแหน่งที่ชัดเจนได้ แต่ก็ยังสามารถตีกรอบความเป็นไปได้ให้แคบอยู่ในระดับหนึ่ง ในอนาคตหากมีสถานีตรวจจับมากขึ้น การระบุแหล่งกำเนิดก็จะแม่นยำขึ้นด้วย 

คลื่นความโน้มถ่วงที่เกิดจากการโคจรรอบกันเองของหลุมดำคู่จะมีคาบลดลงเรื่อย ๆ พร้อมกับมีความสูงของคลื่นมากขึ้น เกิดจากการที่หลุมดำทั้งสองตีวงเข้าหากัน คลื่นจะรุนแรงที่สุดในช่วงเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนที่หลุมดำทั้งสองจะชนกันและกลืนกันเป็นดวงเดียว (จาก B. P. Abbott others) 

คลื่นความโน้มถ่วงที่วัดได้จริงจากหอสังเกตการณ์ไลโกทั้งสองสถานี ภาพบนเป็นสัญญาณจากสถานีในแฮนฟอร์ด ภาพกลางเป็นสัญญาณจากสถานีในลิฟวิงสตัน ภาพล่างเป็นการซ้อนสัญญาณจากสองแหล่งเข้าด้วยกันโดยปรับแก้การเหลื่อมเวลาและกลับเฟสสัญญาณจากแฮนฟอร์ด จะเห็นว่าสัญญาณทั้งสองซ้อนทับกันเกือบพอดี 

ในอดีตเคยมีการค้นพบหลักฐานของคลื่นความโน้มถ่วงมาบ้างแล้ว ในปี 2517 โจเซฟ เทย์เลอร์ และ รัสเซลล์ ฮัลส์ ได้ค้นพบพัลซาร์คู่คู่แรก มีชื่อว่า พีเอสอาร์ บี 1913+16 จากการติดตามวัดคาบการโคจรของพัลซาร์คู่นี้พบว่าคาบมีการเปลี่ยนแปลงในแบบที่แสดงถึงการสูญเสียพลังงานการโคจรออกไปกับคลื่นความโน้มถ่วง ซึ่งเป็นไปตามการพยากรณ์ของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป การค้นพบในครั้งนั้นทำให้ผู้ค้นพบทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกันในปี 2536 

คลื่นความโน้มถ่วงที่พัลซาร์คู่ พีเอสอาร์ บี 1913+16 สร้างขึ้นในขณะนี้ยังอ่อนเกินกว่าที่ไลโกจะตรวจจับได้ หากต้องการให้ไลโกตรวจจับได้ จะต้องให้คู่นี้ชนกันหรือใกล้ชนกัน ซึ่งอาจต้องรอไปอีกหลายร้อยล้านปี

ในขณะที่การค้นพบของเทย์เลอร์และฮัลส์เป็นการค้นพบทางอ้อม แต่การค้นพบของไลโกในครั้งนี้เป็นการค้นพบโดยตรง 

อีกหนึ่งการค้นพบสำคัญ


ท่ามกลางความน่าตื่นเต้นของการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงเป็นครั้งแรก คนส่วนใหญ่อาจไม่ทันสังเกตว่าในการค้นพบครั้งเขย่าโลกครั้งนี้ ยังมีการค้นพบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งพ่วงมาด้วย นั่นคือ นี่ก็เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบหลุมดำคู่

หลุมดำที่มีมวลระดับดาวฤกษ์เกิดจากดาวฤกษ์มวลสูงที่สิ้นอายุขัย เมื่อดาวฤกษ์วิวัฒน์ไปถึงจุดหนึ่ง เชื้อเพลิงของปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เป็นแหล่งพลังงานของดาวฤกษ์หมดไป เมื่อปฏิกิริยานิวเคลียร์หยุดลง แรงดันจากภายในดาวจะต้านมวลของตัวเองไม่ไหว ดาวจะยุบตัวลงไปสู่จุดเล็ก ๆ ที่มีความหนาแน่นมหาศาล กลายเป็นวัตถุจอมเขมือบที่ดูดกลืนทุกสิ่งที่เข้าใกล้ไม่เว้นแม้แต่แสง เรียกว่า หลุมดำ

หลุมดำเดี่ยวไม่ใช่เรื่องแปลก นักดาราศาสตร์ค้นพบหลุมดำมวลระดับดาวฤกษ์ที่อยู่อย่างโดด ๆ มาแล้วไม่น้อย แต่ไม่เคยพบหลุมดำคู่เลย 

บนท้องฟ้ามีดาวฤกษ์คู่มากมาย หลุมดำคู่ก็น่าจะมีอยู่จริงด้วย แต่ก็ไม่เคยมีใครพบเห็นหลุมดำคู่ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

หลุมดำเดี่ยวยังมีโอกาสถูกตรวจจับและศึกษาได้ แม้หลุมดำเองจะไม่เปล่งแสงใด ๆ ออกมา แต่เมื่อหลุมดำกลืนกินสสาร สสารที่กำลังไหลวนลงสู่หลุมดำจะร้อนมากจนแผ่รังสีออกมาให้ตรวจจับได้

แต่กรณีของหลุมดำคู่ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากพลวัตของระบบหลุมดำคู่มีความปั่นป่วนอลหม่านมาก จึงเป็นการยากมากที่ระบบเช่นนี้จะมีสสารนอกหลุมดำอยู่บริเวณใกล้เคียงที่จะมาป้อนให้แก่หลุมดำ

หลุมดำที่ไม่มีสสารให้กลืน จะเป็นหลุมดำที่มืดสนิท การศึกษาหรือค้นหาระบบหลุมดำคู่ด้วยกล้องโทรทรรศน์ทั่วไปจึงแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะหลุมดำคู่ที่โคจรรอบกันเองจะไม่มีสิ่งใดแผ่ออกมาให้เห็นหรือตรวจจับได้เลย  

นอกจากคลื่นความโน้มถ่วง

หากไม่มีเครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงอย่างไลโก นักวิทยาศาสตร์จะไม่มีทางศึกษาหลุมดำคู่ได้เลย 

การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงและหลุมดำคู่ของไลโกในครั้งนี้ จึงเป็นการค้นพบปรากฏการณ์สองสิ่งที่สนับสนุนต่อกัน นั่นคือ หลุมดำคู่ช่วยพิสูจน์ว่ามีคลื่นความโน้มถ่วงอยู่จริง และการที่พบคลื่นความโน้มถ่วงก็พิสูจน์ว่ามีหลุมดำคู่อยู่จริง 

การที่ไลโกตรวจพบหลุมดำคู่หลังจากการปรับปรุงใหม่เพียงไม่กี่วัน อาจหมายความว่ามีหลุมดำคู่อยู่เป็นจำนวนมากในเอกภพ นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าไลโกก็อาจตรวจพบเพิ่มอีกหลายแห่งภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เรื่องน่าตื่นเต้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้ มวลของหลุมดำคู่นี้ก็มีเรื่องให้น่าขบคิด

หลุมดำคู่ที่ชนกันจนทำให้เกิดคลื่นแรงโน้มถ่วงที่ไลโกตรวจพบในครั้งนี้ ดวงหนึ่งมีมวล 29 มวลสุริยะ อีกดวงหนึ่งมีมวล 36 มวลสุริยะ เป็นที่น่าแปลกใจอย่างมากว่าหลุมดำมวลมากระดับนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

หลุมดำมวลดาวฤกษ์ เกิดขึ้นมาจากดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัย แต่ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ หลุมดำที่เกิดจากกระบวนการนี้จะมีมวลสูงสุดได้เพียงประมาณ 20 มวลสุริยะเท่านั้น แล้วหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 29 กับ 36 เท่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นเรื่องอธิบายยาก

มวลที่สูงมากนี้แสดงว่าหลุมดำทั้งสองนี้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากของดาวคู่ทั่วไปในดาราจักรทางช้างเผือกอย่างมาก รวมถึงดวงอาทิตย์ของเราด้วย 

ความแตกต่างที่กล่าวถึงนี้คือ สภาพโลหะ ซึ่งหมายถึงสัดส่วนของธาตุที่หนักกว่าฮีเลียมในดาว

เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายว่า หากดาวฤกษ์มีสัดส่วนของไฮโดรเจนและฮีเลียมสูง ดาวนั้นจะคงรักษามวลของตัวเองได้นานโดยไม่เสียไปกับลมสุริยะมากนัก ซึ่งการสำรวจดาวฤกษ์ในระยะหลังก็ดูเหมือนจะสนับสนุนทฤษฎีนี้

นั่นหมายความว่า หากดาวมีสัดส่วนไฮโดรเจนและฮีเลียมสูงถึงระดับหนึ่ง ก็จะมีโอกาสหลงเหลือมวลมากพอที่จะสร้างหลุมดำมวลสูงมากหลังจากสิ้นอายุขัยได้ การค้นพบของไลโกในครั้งนี้ย่อมเป็นการสนับสนุนทฤษฎีนี้อีกทางหนึ่งด้วย

ก้าวต่อไป


สถานีตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงมิได้มีเพียงไลโกเท่านั้น ทางยุโรปก็มีสถานีตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงเช่นเดียวกัน มีชื่อว่า เวอร์โก ตั้งอยู่ที่ประเทศอิตาลี สถานีนี้สร้างเสร็จไปแล้วตั้งแต่ปี 2546 แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงปรับปรุงครั้งใหญ่ซึ่งจะทำให้มีความไวมากกว่าเดิม 10 เท่า คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2561 โครงสร้างของเวอร์โกใช้หลักการแทรกสอดเช่นเดียวกัน แขนมีความยาวข้างละ กิโลเมตร และมีช่วงความถี่ตอบสนองใกล้เคียงกับไลโก จึงทำงานร่วมกับไลโกได้ 

อินเดียก็มีความสนใจจะร่วมในโครงการไลโกด้วย ในซึ่งรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติหลักการที่จะสร้างสถานีตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงไปแล้ว สถานีตรวจจับของอินเดียจะสร้างโดยใช้แบบเหมือนกับของไลโกที่สหรัฐอเมริกา จึงมีชื่อว่า ไลโกอินเดีย หากโครงการนี้ได้รับการอนุมัติ ไลโกอินเดียจะพร้อมใช้งานได้ในปี 2566

เมื่อสถานีทั้งสี่ (ไลโกและเวอร์โก) จะทำงานร่วมกัน เครือข่ายนี้จะมีความสามารถในการตรวจหาและระบุแหล่งกำเนิดคลื่นได้ในขอบเขตเพียง 2-3 ตารางองศาหรือประมาณสิบเท่าของดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น 

ญี่ปุ่นก็กำลังดำเนินโครงการสร้างสถานีตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงเช่นเดียวกันในชื่อ คากรา ใช้หลักการแทรกสอดเช่นเดียวกัน แขนแต่ละข้างยาว กิโลเมตร โครงสร้างหลักของคากราไม่ได้อยู่กลางแจ้ง หากแต่เป็นอุโมงค์ลึกเข้าไปในเขาอิเคะโนะยะมะ สถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับหอสังเกตการณ์นิวทริโนคะมิโอะกันเดะ คาดว่าโครงการนี้จะสร้างเสร็จในทศวรรษหน้า

ความคิดในการสร้างสถานีตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงมิได้จำกัดอยู่บนพื้นโลกเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์กำลังฝันถึงโครงการอี-ลิซา (e-LISA) ซึ่งจะใช้ดาวเทียมสามดวงขึ้นไปวางตำแหน่งเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าในอวกาศแล้วทำหน้าที่เป็นเครือข่ายตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงที่มีความไวอยู่ในช่วงที่พอจะตรวจจับการชนกันของหลุมดำยักษ์กลางดาราจักรได้ 

ความสำคัญของการค้นพบ


แทบทุกครั้งที่มีการค้นพบครั้งสำคัญเกิดขึ้น มักจะมีการเปรียบเทียบว่าเป็นการปฏิวัติความเชื่อดั้งเดิม เป็นการผลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์ แต่การค้นพบครั้งนี้ไม่ใช่ เรื่องคลื่นความโน้มถ่วงไม่ใช่ของใหม่ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปมานานแล้ว มีผลการทดลองมากมายที่พิสูจน์ความถูกต้องของทฤษฎีนี้ว่าอธิบายพฤติกรรมของธรรมชาติได้ถูกต้องและครอบคลุมกว่ากลศาสตร์นิวตัน การที่ไม่พบคลื่นความโน้มถ่วงมาเป็นเวลานานก็มีสาเหตุที่เข้าใจได้ การที่พบว่ามีคลื่นความโน้มถ่วงอยู่จริง เป็นการยืนยันให้นักวิทยาศาสตร์แน่ใจว่าทฤษฎีที่ตนอ้างอิงมาตลอดนั้นถูกต้อง นี่จึงไม่ใช่การปฏิวัติความคิดหรือยุคสมัย หากแต่เป็นการเปิดประตูบานใหม่ในการศึกษาอวกาศ การศึกษาคลื่นความโน้มถ่วงอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการศึกษาดวงดาว ที่อาจช่วยไขปัญหาลี้ลับบางอย่างที่การศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์ทำไม่ได้

คลื่นความโน้มถ่วงเป็นสิ่งที่นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์คาดหวังเป็นอย่างมาก แม้จะต้องรอคอยมาถึงหนึ่งศตวรรษเต็ม คลื่นความโน้มถ่วงช่วยเปิดช่องทางให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาวัตถุที่ศึกษาได้ยากที่สุดชนิดหนึ่ง นั่นคือหลุมดำ วัตถุที่แม้จะมืดมิดในทัศนะด้านแสงสว่างและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ก็สว่างไสวอย่างยิ่งในมิติของความโน้มถ่วง 

ความรู้สึกของนักดาราศาสตร์ต่อการค้นพบในครั้งนี้อาจเทียบได้กับช่วงเวลาหนึ่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19  เมื่อ ไฮน์ริช เฮิรตซ์ ค้นพบคลื่นวิทยุ และพบว่าทั้งแสงและคลื่นวิทยุเดินทางเป็นคลื่น เป็นการแผ่รังสีเหมือนกันที่ต่างกันเพียงความถี่ การค้นพบนี้เป็นการพิสูจน์ทฤษฎีที่ เจมส์ คลาก แมกซ์เวลล์ เสนอไว้ก่อนหน้านั้นไม่นาน จากนั้นคลื่นวิทยุก็กลายมาเป็นช่องทางใหม่ของการศึกษาเอกภพ เกิดดาราศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่า ดาราศาสตร์วิทยุ 

ในทำนองเดียวกัน การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงครั้งนี้ ก็ได้ให้กำเนิดดาราศาสตร์สาขาใหม่ที่เรียกว่า ดาราศาสตร์คลื่นความโน้มถ่วง ไปเรียบร้อยแล้ว

บรรณานุกรม

Korey Haynes, Eric Betz. (2016, May). Wrinkle in Space-time Confirms Einstein's Gravitation.  Astronomy, 22-27.
Calla Cofield. (2016). India to Join Hunt for Gravitational Waves. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2559, จาก space.com: http://www.space.com/32091-india-joins-ligo-gravitational-waves-hunt.html
Jacob Aron. (2016). India set to join hunt for gravitational waves with its own LIGO. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2559, จาก New Scientist: https://www.newscientist.com/article/2078256-india-set-to-join-hunt-for-gravitational-waves-with-its-own-ligo/
Jolyon Bloomfield. (2015). If gravity isn't force, how does it accelerate objects?. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2559, จาก Ask an Astronomer: http://curious.astro.cornell.edu/physics/140-physics/the-theory-of-relativity/general-relativity/1059-if-gravity-isn-t-a-force-how-does-it-accelerate-objects-advanced
Koberlein, Brian. (2016). How We Know Gravity is Not (Just) Force. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2559,  จาก Universe Today: http://www.universetoday.com/108740/how-we-know-gravity-is-not-just-a-force/
Calla Cofield. (2016). Black Holes, Too! Gravitational Wave Find Had Other Surprises. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2559, จาก space.com: http://www.space.com/31945-gravitational-wave-detection-black-holes-science.html?cmpid=NL_SP_weekly_2016-2-17
Robert Naeye. (2016). Gravitational Wave Detection Heralds New Era. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2559, จาก Sky Telescope: http://www.skyandtelescope.com/astronomy-news/gravitational-wave-detection-heralds-new-era-of-science-0211201644/

หมายเหตุ
บทความนี้ตัดทอนมาจากบทความเรื่อง "พบคลื่นความโน้มถ่วง อีกหนึ่งบทพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป" ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางช้างเผือก ฉบับ มกราคม-มีนาคม 2559