รู้จักดาวพฤหัสบดี เรียกน้ำย่อยก่อนถึงยุคจูโน
วันนี้ (5 กรกฎาคม) เป็นวันที่สองแล้วที่ยานจูโนของนาซาเดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดี ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยานจะปรับทิศทางเพื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ดวงนี้ หลังจากนั้นก็จะเริ่มสำรวจจากวงโคจรเป็นเวลาสองปี ก่อนที่จูโนจะเริ่มภารกิจ เรามารู้จักและทบทวนกันหน่อยดีไหม ว่าดาวพฤหัสบดีนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง
*ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลก 11 เท่า หนักกว่าโลก 317 เท่า! จริง ๆ แล้วดาวพฤหัสบดีดวงเดียว มีมวลมากกว่าดาวเคราะห์อีก 7 ดวงที่เหลือรวมกันเสียอีก
*ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์แก๊ส หมายความว่า ตัวดวงที่เห็นใหญ่โตมโหฬารนั้น ไม่มีพื้นผิวแข็งให้เหยียบ เพราะเป็นแก๊สเกือบทั้งดวง
*อย่าคิดว่ามีแต่ดาวเสาร์เท่านั้นที่มีวงแหวน ดาวพฤหัสบดีก็มีวงแหวนด้วย แต่องค์ประกอบของวงแหวนดาวพฤหัสบดีเป็นฝุ่นเล็กจิ๋ว ต่างจากวงแหวนของดาวเสาร์ที่ประกอบด้วยหิน
*ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์เป็นบริวาร 67 ดวง มากที่สุดในระบบสุริยะ
*ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี คือแกนิมีด เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ใหญ่กว่าดาวพุธและดาวพลูโต
*ดวงจันทร์ 4 ดวงหลักของดาวพฤหัสบดีได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และแคลลิสโต ทั้งสี่ดวงนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยกาลิเลโอ จึงมีชื่อเรียกว่า ดวงจันทร์กาลิเลโอ
*องค์ประกอบส่วนใหญ่ของดาวพฤหัสบดีประกอบด้วยไฮโดรเจนเป็นหลัก รองลงมาคือฮีเลียม
*แม้จะมีขนาดใหญ่โต แต่ดาวพฤหัสบดีมีความหนาแน่นต่ำกว่าโลกมาก มีความหนาแน่นเฉลี่ยประมาณ 1.3 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตรเท่านั้น
*ดาวพฤหัสบดีหมุนรอบตัวเองเร็วมาก รอบหนึ่งใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมง 55 นาที ด้วยเหตุนี้ทำให้ดาวพฤหัสบดีมีลักษณะแป้นเหมือนผลส้ม
*วันพฤหัสสีส้ม ดาวพฤหัสบดีก็สีส้มเหมือนกัน สีส้มอมน้ำตาลบนดาวพฤหัสบดีเกิดจากสารจำพวกฟอสฟอรัส กำมะถัน และไฮโดรคาร์บอนบางชนิดปะปนกัน
*จุดแดงใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีนั้น ถูกพบเห็นมาตั้งแต่ยุคของกาลิเลโอแล้ว เป็นตาพายุที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึงสามเท่า แต่ปัจจุบันพบว่าจุดนี้เล็กลงกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ยังมีลักษณะกลมมากขึ้น และสีก็ส้มเข้มมากขึ้นอีกด้วย
*แก๊สภายในดาวพฤหัสบดีมีความดันสูงมากจนถึงกับทำให้ไฮโดรเจนอยู่ในสภาพโลหะได้
*ยามค่ำคืน เรามองเห็นดาวพฤหัสบดีได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ดาวพฤหัสบดีในช่วงที่สว่างที่สุด จะสว่างกว่าดาวซิริอัสหรือดาวโจรที่เป็นดาวที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าเสียอีก
*ช่วงเดือนนี้ (กรกฎาคม) เรามองเห็นดาวพฤหัสบดีอย่างง่ายดายในช่วงหัวค่ำ ตลอดทั้งเดือนนี้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ก่อนจะย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาวในปลายเดือน
*ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้ ดาวพฤหัสบดีจะหลบไปอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงมองไม่เห็นในช่วงเวลาดังกล่าว หลังกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจึงจะเห็นดาวพฤหัสบดีได้อีกครั้ง แต่ต้องดูช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก
*จูโนไม่ใช่ยานลำแรกที่ไปสำรวจดาวพฤหัสบดี มียานก่อนหน้านี้ถึงเจ็ดลำที่ไปสำรวจดาวพฤหัสบดีมาแล้ว เจ็ดลำเป็นการสำรวจแบบเฉียดผ่าน ได้แก่ ไพโอเนียร์ 10, ไพโอเนียร์ 11, วอยเอเจอร์ 1, วอยเอเจอร์ 2, แคสซีนี, ยูลีสซีส และนิวเฮอไรซอนส์ อีกหนึ่งลำเป็นยานโคจรรอบ คือ ยานกาลิเลโอ
*ดาวพฤหัสบดีมีแสงเหนือและแสงใต้ด้วยนะ
*ดาวพฤหัสบดีเคยถูกดาวหางพุ่งชนมาแล้ว ครั้งที่บันทึกได้เป็นหลักฐานเกิดขึ้นในปี 2537 โดยถูกดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ที่แตกออกเป็นหลายสิบชิ้นพุ่งชนจนดาวพฤหัสบดีพรุนไปทั้งแถบ
เอาเป็นว่าเรียกน้ำย่อยกันเพียงเท่านี้ก่อนน่าจะพอจินตนาการได้บ้างแล้วว่าดาวพฤหัสบดีนั้นมหัศจรรย์เพียงใด เชื่อว่าอีกสองปีจากนี้ ข้อมูลจากยานจูโนจะช่วยเผยความเร้นลับของพี่ใหญ่แห่งระบบสุริยะดวงนี้ได้อีกมาก
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
เอาเป็นว่าเรียกน้ำย่อยกันเพียงเท่านี้ก่อน