สมาคมดาราศาสตร์ไทย

"แสงเหนือ" เมืองไทยที่แก่งกระจาน

"แสงเหนือ" เมืองไทยที่แก่งกระจาน - จริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว

28 พฤศจิกายน 2566 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2567

เขาว่าอย่างไร


เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 เกิดมีโพสแชร์ในเฟซบุ๊กที่กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว เกี่ยวกับการพบแสงประหลาดสีเขียวบนท้องฟ้าที่เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเกิดจากอะไรกันแน่ บางกระแสพูดไปถึงว่าอาจเป็นแสงเหนือได้หรือไม่ ถ้าใช่ก็คงจะดีไม่น้อย ต่อไปจะดูแสงเหนือไม่ต้องไปถึงสแกนดิเนเวียแล้ว มาดูที่เพชรบุรีก็เห็น


ตัวอย่างข่าวจาก PPTV 
แสงเหนือเมืองไทย แก่งกระจานพบแสงสีเขียวเหนือน่านฟ้าเขาพะเนินทุ่ง


ตื่นตาตื่นใจ! อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แชร์ภาพแสงสีเขียวลอยเหนือน่านฟ้าเขาพะเนินทุ่ง คนแห่ชมสวยงามเปรียบเป็นแสงเหนือเมืองไทย ขณะที่นักวิชาการชี้อาจเป็นเพียงแสงจากไฟไดหมึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยภาพแสงสีเขียวเหนือน่านฟ้า เขาพะเนินทุ่ง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญภายในอุทยานฯ พร้อมระบุข้อความว่า "ปรากฎการณ์แสงสีเขียว แสงสีเขียวไม่รู้มาจากไหน แต่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเปิดพะเนินทุ่งพอดี" โดยแอดมินเพจเฟซบุ๊กยังระบุด้วยว่า เพิ่งเคยเป็นแสงแบบนี้เป็นครั้งแรก

หลังจากที่ภาพดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้ผู้สนใจเข้ามากดไลค์มากกว่า 3,200 ครั้ง แชร์มากกว่า 5,100 ครั้ง และแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยหลายคนเปรียบเทียบไปถึงความสวยงามที่คล้ายกับปรากฎการณ์แสงเหนือที่ประเทศนอร์เวย์ และกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

ขณะที่บางคนบอกว่า "พะเนินทุ่งอยู่เพชรบุรี มีโอกาสที่จะเป็นแสงจากเรือไดหมึก" ในขณะที่เพจอุทยานฯ ให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่า "พื้นที่อยู่สูงจากน้ำทะเลเป็นพันเมตร อีกอย่างติดชายแดนไทยพม่า ผมว่าไม่น่าใช่ครับ"

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว มาจากแสงไฟไดหมึก หรือแสงไฟล่อหมึกจากเรือตกหมึกจากบริเวณใกล้เคียง โดยโพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า

“ไฟไดหมึก ที่แก่งกระจาน สาเหตุที่ต้องใช้ไฟสีเขียวเพราะว่าช่วงความยาวคืน 495 ถึง 970 นาโนเมตรเป็นช่วงที่ปลาหมึกชอบและอีกอันนึงก็หลอกปลาหมึกว่ามีแพลงต้อนหรืออุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของมันมันก็จะเข้ามาใกล้เรือชาวประมงก็จัดการจับมันได้ง่าย”

“ช่วงปลายฝนต้นหนาวก็จะเป็นฤดูไดหมึกเรือประมงฝั่งพม่าก็จะเยอะหน่อยครับบนภูเขาก็จะมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีเขียว”


อีกข่าวหนึ่ง จาก mgronline ลงข่าวเนื้อหาคล้ายกัน ดังนี้
ฮือฮา! ภาพท้องฟ้าสีเขียวคล้าย “แสงเหนือ” ที่ เขาพะเนินทุ่ง อช.แก่งกระจาน


โซเชียลแห่แชร์ ภาพท้องฟ้าสีเขียวสุดว้าว ที่มองดูแล้วคล้าย “แสงเหนือ” แต่ที่ทำเอาทุกคนฮือฮาเพราะภาพนี้ถ่ายที่เขาพะเนินทุ่ง อช.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นี่เอง!

เฟซบุ๊กเพจ เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้โพสต์ภาพที่ทำเอาฮือฮาทั้งโซเชียล ซึ่งเป็นภาพท้องฟ้าในยามค่ำคืนของวันที่ พ.ย. ที่ผ่านมา

โดยภาพท้องฟ้าที่เพจดังกล่าวลง ได้มีแสงสีเขียว ที่มองดูแล้วคล้ายกับ “ออโรรา” หรือ “แสงเหนือ” อยู่ด้วย ซึ่งทางเพจได้ระบุว่า

"แสงเหนือ หรือ แสงสีเขียว
แสงสีเขียวไม่รู้มาจากไหนแต่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเปิดท่องเที่ยวพะเนินทุ่งพอดีเลย
#แอดก็พึ่งเคยเห็นแสงแบบนี้เป็นครั้งแรก
#ท่าใดมีข้อมูลคอมเม้นบอกกันได้เลยครับ
#เขาพะเนินทุ่ง
#แก่งกระจานป่ามรดกโลก
วันศุกร์ที่ 3/พ.ย./66"

โพสต์ดังกล่าวได้ถูกแชร์ออกไปจำนวนมาก และได้มีชาวเน็ตเข้าแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย บ้างก็ว่าอาจเป็นแสงไฟจากบ้านเรือนหรือถนน บ้างก็ว่าอาจเป็นแสงไฟจากเรือไดหมึก เพราะ จ.เพชรบุรี ก็อยู่ติดทะเล บ้างก็ว่าอาจจะแต่งรูปหรือเปล่า

ซึ่งทางแอดมินเพจ ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทิศทางของการถ่ายภาพนั้นไม่ได้หันไปทางบ้านเรือนหรือฝั่งทะเล แต่หันไปทางภูเขาฝั่งประเทศเมียนมา และเขาพะเนินทุ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางกว่า 1,200 เมตร จึงไม่น่าใช่แสงจากเรือไดหมึก

รวมถึงมีผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายรูปได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า ไม่น่าจะใช่การแต่งรูป และทางแอดมินก็ได้บอกว่า เป็นภาพที่นำออกจากกล้องและลงเลยอีกด้วย

แต่ท้ายที่สุดยังไม่มีข้อสรุปว่าแสงดังกล่าวจะเป็นแสงอะไร ต้องรอติดตามผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ข้อมูลกันต่อไป





ข้อเท็จจริง


 แสงเหนือเกิดขึ้นจากอนุภาคพลังงานสูงในลมสุริยะที่พัดมาจากดวงอาทิตย์พุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลกมาตามทิศทางของสนามแม่เหล็ก เมื่ออนุภาคในลมสุริยะปะทะบรรยากาศโลกชั้นบน จะทำให้อะตอมในบรรยากาศโลกแตกตัวเป็นไอออน การแตกตัวนี้ทำให้เปล่งแสงออกมาเป็นสีต่าง ๆ ที่เราเรียกว่าแสงเหนือ

 แสงเหนือเกิดขึ้นบริเวณรอบขั้วเหนือแม่เหล็กโลก นอกจากแสงเหนือแล้ว ยังมีแสงใต้ ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ประเภทเดียวกัน แต่เกิดขึ้นบริเวณรอบขั้วใต้แม่เหล็กโลก ปรากฏการณ์ชนิดนี้บางครั้งจึงเรียกควบกันไปว่า แสงเหนือ-แสงใต้ หรือ แสงเหนือใต้

 แสงเหนือใต้เกิดขึ้นในบริเวณที่เส้นแรงแม่เหล็กโลกตัดกับชั้นบรรยากาศ ซึ่งบริเวณดังกล่าวก็คือบริเวณรอบขั้วแม่เหล็กทั้งสองนั่นเอง บางช่วงเวลาเมื่อเกิดพายุสุริยะ กระแสพายุจะพัดเอาอนุภาคพลังงานสูงมาเป็นจำนวนมากและรุนแรงกว่าปกติ ทำให้สนามแม่เหล็กโลกปั่นป่วนได้ ช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีปรากฏการณ์แสงเหนือใต้เด่นชัดขึ้น และเกิดขึ้นเป็นพื้นที่กว้างมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ห่างจากขั้วแม่เหล็กโลกมากกว่าปกติก็ได้ เคยมีบันทึกว่าแสงเหนือเคยแผ่มาไกลให้เห็นถึงคิวบา (ละติจูด 23 องศาเหนือ) เลยทีเดียว 

 ประเทศไทย อยู่ห่างจากขั้วแม่เหล็กโลกมาก เส้นแรงแม่เหล็กโลกจึงขนานกับพื้นโลก ไม่ตัดบรรยากาศโลก โอกาสที่จะเกิดแสงเหนือในประเทศไทยจึงน้อยมากจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ 

 ในช่วงเวลาที่บันทึกเหตุการณ์แสงเขียวที่พะเนินทุ่งนั้น ไม่มีพายุสุริยะรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด และไม่พบว่าพื้นที่อื่นของโลกมีการเกิดแสงเหนือที่มากหรือผิดไปจากปกติด้วย 

 เมื่อพิจารณาภาพข่าวจะเห็นว่า บริเวณที่มีสีเขียวไม่มีดาวเลย ส่วนบริเวณที่ไม่มีสีเขียวมีจุดดาวปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าแสงสีเขียวนี้เป็นแสงที่สะท้อนก้อนเมฆ

 ภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่า กล้องหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แสดงว่าแหล่งกำเนิดแสงสีเขียวที่สะท้อนบนก้อนเมฆต้องอยู่ทางทิศตะวันตกไกลออกไป ซึ่งไกลออกไปทางตะวันตกจากตำแหน่งของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคือประเทศพม่า และถัดไปก็คือทะเลอันดามัน ดังนั้นสิ่งที่เป็นแหล่งกำเนิดแสงสีเขียวที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ แสงจากเรือไดหมึกซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

ภาพถ่ายบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจากสถานีอวกาศนานาชาติ เห็นแสงสีเขียวที่เรืองสว่างขึ้นจากทะเลทั้งสองคือแสงจากเรือไดหมึก (จาก svs.gsfc.nasa)

 เรือไดหมึก คือเรือจับหมึกที่โดยการวางลอบแล้วส่องไฟจากเรือเพื่อช่วยล่อให้หมึกเข้ามาใกล้ ไฟฟ้าที่ใช้ขับแสงสว่างบนเรือมาจากการปั่นไฟด้วยไดนาโม จึงเรียกว่า ได

 สีของแสงที่ใช้ไดหมึก นอกจากสีเขียวแล้ว ยังอาจพบการใช้สีอื่นด้วย การเลือกใช้สีของชาวประมงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในอดีตเคยมีการใช้แสงสีขาวและสีชมพูมาก่อน ปัจจุบันนิยมสีเขียวเป็นหลัก ในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มจะขยับไปใช้สีฟ้าแทน ดังนั้นในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์แสงประหลาดสีฟ้าหรือสีอื่น ๆ 

 ในข่าวมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ทะเลอันดามันอยู่ห่างจากแก่งกระจานเกือบหนึ่งร้อยกิโลเมตร แสงจากเรือไดหมึกในทะเลอันดามันจะส่องไปได้ไกลถึงแก่งกระจานเชียวหรือ เรื่องนี้อธิบายได้ว่า เรือไดหมึกในทะเลมีจำนวนมาก  ภาพถ่ายอ่าวไทยจากอวกาศที่เห็นแสงสีเขียวสว่างไสวนั่นถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติที่ลอยอยู่เหนือฟ้าถึง 400 กิโลเมตรยังถ่ายติดแสงเรือไดหมึกได้สว่างและชัดเจน ดังนั้นระยะทางร้อยสองร้อยกิโลเมตรของทะเลอันดามันกับแก่งกระจานจึงไม่ใช่ปัญหาเลย 

 การเกิดแสงเขียวบนฟ้าในลักษณะนี้ต้องขึ้นกับสภาพท้องฟ้าที่เหมาะสมด้วย นั่นคือมีเมฆระดับต่ำที่อยู่ในตำแหน่งที่จะสะท้อนแสงได้พอดี และไม่มีเมฆก้อนอื่นมาบดบังวิถีของแสงด้วย ดังนั้น แม้จะมีเรือออกไดหมึกทุกคืน แต่แสงสีเขียวบนฟ้าก็ไม่ได้เกิดทุกคืนด้วยเหตุนี้ 



บทสรุป


 แสงสีเขียวบนท้องฟ้าที่มีผู้พบเห็นที่พะเนินทุ่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นแสงจากเรือไดหมึกในทะเลอันดามันสะท้อนก้อนเมฆ ไม่ใช่แสงเหนือ