สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อัศจรรย์วันตรุษจีน ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ตกพร้อมกัน

อัศจรรย์วันตรุษจีน ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ตกพร้อมกัน - จริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว

17 กุมภาพันธ์ 2567 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 22 เมษายน 2567

เขาว่าอย่างไร?

ภาพอัศจรรย์ภาพนี้มีการแชร์กันอย่างกว้างขวางทั้งโลกในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา เป็นภาพทะเลยามเย็นที่อ้างกันว่าเป็นภาพพระอาทิตย์และพระจันทร์ลับขอบฟ้าพร้อมกัน โดยระบุไว้ว่าถ่ายที่ติเอร์ราเดลฟูเอโก ตอนใต้สุดของประเทศชิลี แม้ไม่มีการระบุวันเวลาที่ถ่ายภาพ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าถ่ายในช่วงตรุษจีนนั้นเอง


เมื่อภาพระบาดออกไป ก็มีเสียงตอบรับจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นในทำนองชื่นชม ประทับใจ อยากเห็นของจริงให้เป็นบุญตา


แต่ก็มีบางคนสงสัยว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นไปได้หรือ ภาพนี้จริงหรือตัดต่อ เรื่องนี้จริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว

ตัวอย่างลิงก์
พระอาทิตย์พบพระจันทร์ อัศจรรย์ วันตรุษจีน 
https://www.facebook.com/reel/2041255422920225

ข้อเท็จจริง


ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีโอกาสอยู่ที่ขอบฟ้าพร้อมกันได้จริง และเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยเสียด้วย มีสองกรณีคือ

1. ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ขึ้นหรือลับขอบฟ้าพร้อมกัน เกิดขึ้นในวันจันทร์ดับเท่านั้น ซึ่งหมายถึงดวงจันทร์มีตำแหน่งปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก ช่วงนี้ส่วนสว่างบนดวงจันทร์แคบมากและถูกแสงอาทิตย์กลบหมด ดังนั้น แม้ดวงจันทร์จะขึ้นหรือตกพร้อมดวงอาทิตย์ แต่ก็ไม่มีใครมองเห็นดวงจันทร์ในเวลาดังกล่าว เห็นเพียงดวงอาทิตย์เท่านั้น

หรือ 2. ดวงหนึ่งเพิ่งขึ้นส่วนอีกดวงหนึ่งกำลังจะตก เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกันพอดี ซึ่งวันที่เกิดเงื่อนไขนี้คือวันจันทร์เพ็ญ ในกรณีเช่นนี้ ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะอยู่ห่างกันมาก (180 องศาหรือเกือบ 180 องศา) จนยากจะถ่ายภาพให้ติดในเฟรมเดียวกันด้วยกล้องธรรมดา ต้องถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างพิเศษที่เรียกว่าเลนส์ตาปลา หรืออาจเป็นการถ่ายภาพแบบพานอรามา 

ภาพถ่ายนี้ไม่ใช่ทั้งสองกรณี 
ไม่ใช่กรณีที่ เพราะมีแสงจากทั้งสองจุด ดวงจันทร์ไม่มีทางมองเห็นได้ในกรณีนี้ 
ไม่ใช่กรณีที่ เพราะภาพนี้ไม่ใช่ภาพถ่ายมุมกว้าง จุดแสงทั้งสองก็อยู่ห่างกันไม่มาก เทียบกับขนาดของดวงอาทิตย์แล้ว จุดแสงทั้งสองอยู่ห่างกันราว 12 องศาเท่านั้น

หรือว่าภาพนี้เป็นภาพตัดต่อ?

ภาพนี้มีคุณภาพต่ำเกินกว่าจะใช้วิเคราะห์ได้ว่าเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีจุดสังเกตอื่นที่สำคัญกว่าการไปมองว่าเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ตัดต่อ นั่นคือ จุดแสงทางซ้ายสว่างเกินกว่าจะเป็นดวงจันทร์ น่าจะเป็นอย่างอื่นมากกว่า ริมทะเลมีแหล่งกำเนิดแสงมากมายนอกจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เช่น ประภาคาร หรือแสงสะท้อนอาคารริมหาดที่อยู่ห่างไกล ฉะนั้น ภาพนี้อาจเป็นภาพจริงไม่มีการตัดต่อก็ได้ แต่จุดสว่างทางซ้ายไม่ใช่ดวงจันทร์

บทสรุป
ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีโอกาสอยู่ที่ขอบฟ้าพร้อมกันได้จริง แต่ภาพนี้ไม่ใช่ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เป็นภาพดวงอาทิตย์กับสิ่งอื่น ซึ่งอาจเป็นเรือหรือประภาคารหรือสิ่งอื่นก็ได้