ได้ยินว่านักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์ดวงที่สิบแล้ว ชื่อเซดนา มีข้อมูลเกี่ยวกับดาวดวงนี้หรือไม่?
เซดนา ค้นพบมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2546 ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์แซมูเอลออสชินของหอดูดาวพาโลมาร์ ดาวเซดนามีความประหลาดพิสดารหลายอย่าง เป็นวัตถุที่มีสีแดงที่สุดในระบบสุริยะรองจากดาวอังคาร นักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าจะจัดวัตถุดวงนี้ให้เป็นชนิดใด เมื่อพิจารณาที่ขนาด เซดนามีขนาดประมาณสามในสี่ของดาวพลูโต จึงยากที่จะจัดให้เป็นดาวเคราะห์ เพราะแม้แต่ดาวพลูโตเองก็ยังพูดไม่ได้เต็มปากว่าเป็นดาวเคราะห์ วัตถุอีกจำพวกหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นวัตถุใกล้เคียงกับดาวพลูโต เรียกว่า วัตถุไคเปอร์ เป็นวัตถุที่โคจรอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าแถบไคเปอร์ ซึ่งอยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป เชื่อว่าแถบไคเปอร์เป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางที่มีคาบโคจรสั้นหลายดวง ปัจจุบันนักดาราศาสตร์พบวัตถุในแถบไคเปอร์แล้วหลายดวง ส่วนใหญ่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางนับร้อยกิโลเมตร ดวงที่ใหญ่ที่สุดคือ 2004 DW มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,600 กิโลเมตร
เมื่อพิจารณาที่ตำแหน่งและวงโคจรแล้ว ดาวเซดนาอยู่ไกลเกินขอบเขตของแถบไคเปอร์และวงโคจรก็ไม่เหมือนวัตถุไคเปอร์ จึงอาจไม่ใช่วัตถุไคเปอร์ แต่ดูจะใกล้เคียงกับวัตถุในอีกบริเวณหนึ่งที่เรียกว่า เมฆออร์ต ซึ่งตามทฤษฎีเป็นแหล่งกำเนิดดาวหางคาบยาว กระจายเป็นชั้นทรงกลมห่อหุ้มระบบสุริยะตั้งแต่ระยะ 1-2 ปีแสงจากดวงอาทิตย์ เรื่องของเมฆออร์ตเป็นเพียงทฤษฎีมาจนถึงปัจจุบัน เพราะยังไม่มีใครเคยพบเมฆออร์ตจริง ๆ เลย ถ้าหากเซดนาเป็นวัตถุในเมฆออร์ตจริง ก็จะเป็นครั้งแรกที่พบว่ามีเมฆออร์ตอยู่จริง
อย่างไรก็ตาม เซดนาอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 13,000 ล้านกิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าระยะของเมฆออร์ตตามทฤษฎีมาก แต่นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบเซดนาตั้งสมมุติฐานว่า เซดนาอาจเป็นวัตถุในเมฆออร์ตมาก่อน แต่เคยถูกรบกวนโดยดาวฤกษ์ที่ผ่านเข้ามาใกล้เคียง วงโคจรของเซดนาจึงเปลี่ยนไปเข้ามาใกล้ใจกลางระบบสุริยะมากขึ้น
เซดนามีอุณหภูมิต่ำกว่า -240 องศาเซลเซียส เย็นมากจนแม้แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดก็ไม่สามารถตรวจจับภาพของวัตถุดวงนี้ได้ โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบทุก 10,500 ปี ขณะนี้เซดนายังคงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เรื่อย ๆ ตามเส้นทางโคจร และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดใน 75 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ข้อมูลเบื้องต้นพบหลักฐานว่าเซดนานี้อาจมีดาวบริวารด้วย
วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ป้ายกำกับ