สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ค้นหาตามคำสำคัญ

สารพันคำถามดาราศาสตร์

การส่งมนุษย์ไปปฏิบัติภารกิจในยานขนส่งอวกาศต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล แถมยังเป็นการเสี่ยงชีวิตนักบินอวกาศอีก ทำไมไม่ใช้หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ทำแทนซึ่งค่าใช้จ่ายน่าจะถูกกว่า?

แนวคิดนี้ก็นำพาปฏิบัติกันอยู่ แต่หุ่นยนต์ใช่ว่าจะปฏิบัติภารกิจแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด หมดมนุษย์และหุ่นยนต์ต่างก็มีจุดดีจุดเด่นต่างกัน หุ่นยนต์จะเหมาะกับภารกิจที่ต้องการความแม่นยำมาก ๆ งานที่ซ้ำซากจำเจ งานที่มีความเสี่ยงสูง หรือภารกิจที่กินเวลานาน เช่น การสำรวจดาวเคราะห์วงนอก สำรวจนิวเคลียสดาวหาง

ส่วนภารกิจที่จำเป็นต้องใช้นักบินอวกาศจะเป็นงานที่เกี่ยวกับงานที่ต้องมีการวิเคราะห์ทันทีหรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งในจุดนี้คอมพิวเตอร์ทำงานสู้คนไม่ได้ เช่น ทดลองและเฝ้าสังเกตการเจริญเติบโตของผลึกโปรตีนในอวกาศ ตรวจหาฟอสซิลบนดาวอังคาร หรืองานซ่อมหรือกู้ดาวเทียม เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อมีการใช้นักบินอวกาศ จะทำให้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของร่างกายมนุษย์ภายใต้ภาวะไร้น้ำหนักได้อีกด้วย

หลังจากอุบัติเหตุบนยานแชลเลนเจอร์ นาซาได้พยายามที่จะเอาหุ่นยนต์มาปฏิบัติภารกิจแทนนักบินอวกาศมากขึ้น ยกเว้นภารกิจบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้มนุษย์จริง ๆ ดาวเทียมชื่อดังอย่าง โคบี (COBE) และ โรแซต (ROSAT) ก็เคยมีแผนว่าจะส่งขึ้นสู่วงโคจรด้วยยานขนส่งอวกาศ แต่ก็เปลี่ยนมาใช้จรวดซึ่งไม่มีคนส่งแทน ยิ่งกว่านั้น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโคลัมเบียเมื่อปีที่แล้วก็มีผลให้นาซา "ปอด" มากขึ้นไปอีก เชื่อว่าต่อจากนี้เป็นต้นไป หรืออย่างน้อยก็สองสามปีต่อจากนี้ ภารกิจส่งคนขึ้นสู่อวกาศของนาซาก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก


วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)

ป้ายกำกับ