สารพันคำถามดาราศาสตร์
ทราบมาว่าดาวเคราะห์จะมาเรียงกันในปี 2000 ไม่ทราบว่าจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติกับโลกหรือไม่?
ไม่
แท้จริงแล้ว
การเรียงกันของดาวเคราะห์ในปี ค.ศ.2000 นั้น ไม่ใช่การเรียงกันเป็นเส้นตรงเสียทีเดียว แต่ดาวเคราะห์มาอยู่ในช่วงมุมแคบ ๆ เพียง 20-30 องศา เหตุการณ์นี้เรียกว่า การร่วมทิศ (conjunction) เป็นเหตุการณ์ที่เมื่อมองจากโลกจะเห็นดาวเคราะห์ (อาจรวมถึงดวงจันทร์) บนท้องฟ้าออกันอยู่หรือกระจุกกันอยู่ในบริเวณแคบ ๆ เนื่องจากดาวเคราะห์เหล่านั้นมาเรียงกันเป็นแนวเดียวกัน โดยปกติแล้วปรากฏการณ์ การร่วมทิศเกิดขึ้นบ่อยมาก อาจเกิดจากดาวเคราะห์ 2 หรือ 3 ดวง มาเรียงกัน ในกรณีของวันที่ 5 พฤษภาคม 2543 นั้น พิเศษกว่าปกติ กล่าวคือมีดาวเคราะห์เรียงกันถึง 5 ดวง รวมทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ด้วย เรียกว่า การร่วมทิศครั้งใหญ่ (grand conjunction) ดาวเคราะห์ทั้ง 5 นี้คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ ส่วนดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน และดาวพลูโตนั้นอยู่ทางทิศอื่น
แรงดึงดูดของดาวเคราะห์เหล่านั้น แม้ว่าจะมาเรียงตัวรวมพลังกันแล้วแต่ก็ยังน้อยมาก ๆ เพราะดาวเคราะห์เหล่านั้นอยู่ไกลมาก ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อย่างดาวพฤหัสก็อยู่ไกลเกินไป ส่วนดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ ๆ ก็เล็กนิดเดียว แทบจะไม่มีผลใด ๆ กับการเคลื่อนที่ แกนเอียง หรือระบบน้ำขึ้นน้ำลงของโลกเลย พอจะถือได้ว่าไม่มีผลเลย
วัตถุท้องฟ้าที่จะมีผลต่อโลกจริง ๆ ก็มีเพียงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เท่านั้น อิทธิพลแรงดึงดูดของดวงจันทร์มีมากกว่าดวงอาทิตย์ เนื่องจากอยู่ใกล้โลกมากกว่าดวงอาทิตย์มาก (400 เท่า) จะเห็นได้ว่าดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นวัตถุที่หนักที่สุดในระบบสุริยะยังมีผลน้อยกว่าดวงจันทร์ แล้วอย่างนี้ดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ซึ่งเบากว่าดวงอาทิตย์นับร้อยนับพันเท่าและไกลกว่าดวงอาทิตย์ตั้ง 6-7 เท่า จะมามีผลร้ายแรงกับโลกได้อย่างไร
นอกจากนี้ ดวงจันทร์ของเรายังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมแกนเอียงของโลกให้คงที่อีกด้วย เนื่องจากโลกเรามีดวงจันทร์ที่ใหญ่มาก ขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก แรงดึงดูดของดวงจันทร์จะรั้งโลกเอาไว้ด้วย ทำให้แกนเอียงของโลกคงที่ หากปราศจากดวงจันทร์แล้ว แกนเอียงของโลกอาจไม่มีเสถียรภาพอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เหตุการณ์การร่วมทิศครั้งใหญ่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ปรากฏการณ์นี้อาจมีบ่อยถึง 2 ครั้งต่อศตวรรษ ถ้าเหตุการณ์นี้มีผลร้ายแรงกับโลกจริง ก็คงเกิดไปนานแล้ว และพวกเราก็คงไม่ได้มีชีวิตอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้อย่างทุกวันนี้
กรุณาอ่านรายละเอียดได้จากบทความ "เมื่อดาวเคราะห์มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน" ของ อ.นิพนธ์ ทรายเพชร
วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ป้ายกำกับ