สร้างโลหะไฮโดรเจน เห็นถึงภายในดาวพฤหัสบดี
ณ ห้องทดลองหนึ่งในห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอวเรนซ์ลิเวอร์มอร์ มีปืนใหญ่กระบอกหนึ่งตั้งอยู่ มันมีความยาวเท่ากับรถบัสสองคัน ภายในลำกล้องปืนบรรจุก๊าซไฮโดรเจน มีแท่งระเบิดไดนาไมต์นับสิบแท่งเป็นเชื้อเพลิงขับดัน ปืนนี้ไม่ใช่อาวุธที่จะไปรบกับใคร แต่นี้คืออุปกรณ์ทดลองชิ้นหนึ่ง เป้าหมายของปืนนี้เป็นแค่ไฮโดรเจนเหลวเพียงสองสามหยด
ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในเอกภพถึงแม้ว่าจะมีโครงสร้างที่เรียบง่าย เพียง 1 โปรตอนและ 1 อิเล็กตรอน แต่ธรรมชาติของไฮโดรเจนยังมีสิ่งลึกลับอีกมากนัก ที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจ
ไฮโดรเจนในสภาวะปกติเป็นก๊าซแต่ละโมเลกุลของก๊าซไฮโดรเจนประกอบด้วยอะตอมไฮโดรเจน 2 อะตอม ก๊าซไฮโดรเจนจะเริ่มควบแน่นเป็นของเหลวเมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 20 เคลวิน (-253 องศาเซลเซียส) และจะเป็นของแข็งได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 14 เคลวิน แต่ไม่ว่าจะปรับอุณหภูมิให้เป็นเท่าใดหรือสถานะไหน ไฮโดรเจนก็ยังคงมีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้าเสมอ
ในทศวรรษ1930 นักฟิสิกส์ได้สันนิษฐานว่า หากไฮโดรเจนอยู่ภายใต้ความกดดันสูงยิ่งยวดแล้ว โมเลกุลของไฮโดรเจนจะแตกตัวเป็นอะตอมแล้วไฮโดรเจนจะกลายเป็นโลหะที่นำไฟฟ้าได้ ซึ่งนักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์เชื่อว่ามีอยู่ในธรรมชาติภายในดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์
ไม่เพียงเท่านั้นไฮโดรเจนโลหะที่อยู่ในสถานะของแข็งยังเป็นตัวนำยิ่งยวดอีกด้วย หมายความว่ามันจะไม่มีความต้านทานไฟฟ้าเลย หากว่ามันสามารถคงคุณสมบัตินี้อยู่ได้ในสภาวะปกติแล้ว มันก็จะกลายเป็นตัวนำยิ่งยวดในอุณหภูมิห้อง วัตถุในฝันที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าเพียรหาวิธีสร้างมานานนับสิบปี เพราะตัวนำยิ่งยวดในอุณหภูมิห้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้มากมาย ทำเป็นสายส่งกำลัง หรืออุปกรณ์ในเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือใช้เป็นแหล่งพลังงานที่เล็กกระทัดรัดพกพาก็ได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นเพียงทฤษฎี ไม่เคยมีใครเห็นไฮโดรเจนโลหะจริง ๆ สักครั้ง หากจะสร้างขึ้นมาโดยการนำไฮโดรเจนมาอัดด้วยความดันสูงแล้ววัดความนำไฟฟ้าอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด การทดลองหลายครั้งในอดีตต้องล้มเหลวไป
หลังจากที่เป็นเพียงทฤษฎีมานานถึงเกือบ70 ปี วิลเลียม เจ. เนลลิส และคณะได้ใช้ปืนก๊าซของลิเวอร์มอร์ที่กล่าวไว้ข้างต้นอัดไฮโดรเจนเหลวให้กลายเป็นโลหะได้เป็นผลสำเร็จ
การทดลองสร้างไฮโดรเจนโลหะด้วยปืนของลิเวอร์มอร์ได้เริ่มต้นหลังจากที่มีการค้นพบตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูงได้ไม่นานตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูงดูคล้ายกับเซรามิก เป็นตัวนำยิ่งยวดได้ที่อุณหภูมิประมาณ 77 เคลวิน หรือ -196 องศาเซลเซียส หรือประมาณจุดเดือดของไนโตรเจน ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิทำงานของตัวนำยิ่งยวดชนิดอื่น ๆ ที่พบในขณะนั้นมาก ปืนของลิเวอร์มอร์พัฒนาขึ้นมาโดยเจเนอรัลมอเตอร์ เพื่อใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับขีปนาวุธ แบ่งเป็น 2 ตอน มีส่วนขับดันที่บรรจุดินปืนไม่น้อยกว่า 3.3 กิโลกรัม แรงระเบิดจากดินปืนจะผลักกระสุนลูกแรกอันหนักอื้งที่ทำหน้าที่เหมือนลูกสูบให้วิ่งเข้าไปในลำกล้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 90 มิลลิเมตร ยาว 10 เมตร ภายในลำกล้องบรรจุก๊าซไฮโดรเจน 60 กรัม (ไฮโดรเจนในส่วนนี้ไม่ใช่ไฮโดรเจนที่ใช้ในการทำให้เป็นโลหะ) เมื่อกระสุนอัดก๊าซไฮโดรเจนจนมีความดันสูงถึง 0.1 กิกะปาสคาล วาล์วที่กั้นระหว่างลำกล้องตอนแรกกับตอนที่สองจะแตกออก แรงดันก๊าซผลักให้กระสุนลูกที่สองให้วิ่งไปในลำกล้องตอนที่สองที่แคบกว่ามาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 28 มิลลิเมตร ลำกล้องที่ตีบแคบลงช่วยเร่งความเร็วของกระสุนได้เป็นอย่างดี ไฮโดรเจนที่บรรจุในลำกล้องก็ช่วยให้การเร่งความเร็วของกระสุนด้วยเช่นกัน เพราะไฮโดรเจนมีน้ำหนักเบาและนำความเร็วเสียงสูงกว่าก๊าซชนิดอื่น ๆ เมื่อพ้นปากกระบอกแล้ว กระสุนปืนจะมีความเร็วถึง 7 กิโลเมตรต่อวินาที หรือเร็วกว่าเสียง 20 เท่า หรือเร็วกกว่ากระสุนปืนทั่วไป 15 เท่า กระแทกเข้ากับกล่องบรรจุไฮโดรเจนเหลวเข้าอย่างแรง ไฮโดรเจนเหลวในกล่องนี้มีความหนาเพียง 0.5 มิลลิเมตร ประกบหน้าหลังด้วยแผ่นไพลิน ถูกทำให้เย็นจัดจนเหลืออุณหภูมิเพียง 20 เคลวินเพื่อให้มีความหนาแน่นสูงตั้งแต่ต้น กระสุนที่พุ่งชนทำให้เกิดคลื่นกระแทกอย่างแรงและสะท้อนกลับไปกลับมาอยู่ระหว่างแผ่นไพลินทั้งสองนับสิบครั้ง ขั้นตอนนี้ทำให้เกิดความดันที่กระทำต่อไฮโดรเจนสูงถึง 180 กิกะปาสคาล ทำให้ปริมาตรของไฮโดรเจนเหลือเพียงหนึ่งในสิบของเมื่อตอนแรก และอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 3,000 เคลวิน
แม้ว่าช่วงเวลาที่ไฮโดรเจนถูกอัดจนมีความดันสูงสุดสั้นมากเพียง100 นาโนวินาที (1 ใน 10,000,000 วินาที) แต่ก็นานพอที่จะให้เครื่องมือวัดได้วัดและบันทึกความสำเร็จของการทดลองนี้ได้
เบื้องหลังของการทดลองนี้นับว่ามีอันตรายแอบแฝงอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะไฮโดรเจนจำนวนมากที่อยู่ในลำกล้องตอนแรก หากไฮโดรเจนทั้งหมดในส่วนนี้ผสมเข้ากับออกซิเจนที่อยู่ในห้องเป้าหมาย จะทำให้เกิดการระเบิดที่รุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 2 กิโลกรัมเลยทีเดียว ดังนั้นห้องเป้าหมายจะต้องแข็งแรงเป็นพิเศษ สามารถทนสะเก็ดระเบิดได้โดยไม่แตกรั่ว ออกซิเจนภายนอกจะได้ไม่สามารถไหลเข้ามาในห้องนี้ได้ และทันทีที่ปืนใหญ่เริ่มยิง ไฟเลี้ยงสำหรับวงจรที่ตรวจสอบสภาพภายในห้องเป้าหมายจะถูกตัดทันทีเมื่อลดโอกาสในการเกิดประกายไฟ นอกจากนี้ ยังมีการอัดก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในห้องเป้าหมายอย่างรวดเร็วเพื่อเจือจางก๊าซไฮโดรเจนในห้องนี้ และท้ายสุด เพื่อความปลอดภัยของตัวนักวิทยาศาสตร์เอง ขณะทำการทดลองต้องไม่มีผู้ใดอยู่ในห้องทดลองเด็ดขาด
ตลับบรรจุไฮโดรเจนเหลวอยู่ภายในกล่องเป้าหมายมีอิเล็กโทรดต่ออยู่ การตรวจสอบความต้านทานจำเพาะทำโดยการผ่านกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เข้าไปในอิเล็กโทรดเหล่านี้ (ความต้านทานของลวดตัวนำได้จาก ค่าความต้านทานจำเพาะคูณความยาวของตัวนำ แล้วหารด้วยพื้นที่หน้าตัดของลวดตัวนำ) จากการทดลองเราพบว่า ที่ความดัน 93 กิกะปาสคาล ความต้านทานจำเพาะของไฮโดรเจนเหลวจะอยู่ที่ประมาณ 1 โอห์ม-เซนติเมตร เมื่อความดันเพิ่มขึ้นสูงถึง 120 กิกะปาสคาล ความต้านทานจำเพาะจะลดลงเหลือ 0.005 โอห์ม-เซนติเมตร ซึ่งจัดว่าอยู่ในสภาวะกึ่งตัวนำ หรือสภาวะที่อยู่กึ่งกลางระหว่างตัวนำและฉนวน
เมื่อความดันสูงขึ้นไปอีกจนถึง140 กิกะปาสคาล ความต้านทานจำเพาะของไฮโดรเจนเหลวจะลดลงไปถึง 0.0005 โอห์ม-เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเข้าสู่ความเป็นโลหะเต็มขั้นแล้ว ณ จุดนี้ ไฮโดรเจนเหลวแสดงพฤติกรรมแปลกประหลาดออกมา โดยความต้านทานจำเพาะของมันจะคงที่อยู่ที่ระดับนี้แม้ว่าจะเพิ่มความดันขึ้นไปอีกก็ตาม อย่างน้อยก็คงที่ถึงระดับความดัน 180 กิกะปาสคาล ซึ่งเป็นความดันสูงสุดที่ใช้ในการทดลอง
ผลการทดลองนี้พอจะอธิบายได้ว่าไฮโดรเจนที่อยู่ในสภาวะปกติ จะอยู่ในรูปโมเลกุลอะตอมคู่ แต่ละโมเลกุลประกอบด้วยโปรตอนสองโปรตอนล้อมรอบด้วยชั้นหมอกของประจุลบ การให้อิเล็กตรอนหลุดออกมาจากโมเลกุลหนึ่งอิเล็กตรอน จะต้องใช้พลังงานถึง 15 อิเล็กตรอนโวลต์ ดั้งนั้นไฮโดรเจนเหลวจึงไม่สามารถนำไฟฟ้าได้
เมื่อไฮโดรเจนเหลวได้รับแรงดันและความร้อนความหนาแน่นจะสูงขึ้นและโมเลกุลของไฮโดรเจนจะเบียดเสียดกันมากขึ้น ระดับของพลังงานที่ต้องใช้ในการแยกอิเล็กตรอนจะลดลง ความนำไฟฟ้าจึงสูงขึ้นจนเข้าสู่ภาวะกึ่งตัวนำ เมื่อความดันสูงขึ้นไปอีกจนถึง 140 กิกะปาสคาล ความหนาแน่นของไฮโดรเจนสูงขึ้นถึง 0.32 โมลต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และอุณหภูมิขึ้นถึง 2,600 เคลวิน พลังงานที่ต้องใช้ในการแยกอิเล็กตรอนลดลงเหลือเพียง 0.22 อิเล็กตรอนโวลต์ ที่ความหนาแน่นระดับนี้ โมเลกุลไฮโดรเจนจะเบียดอัดกันแน่นจนชั้นหมอกอิเล็กตรอนเริ่มซ้อนทับกัน ทำให้อิเล็กตรอนสามารถกระโดดข้ามโมเลกุลได้ นั่นหมายความว่าไฮโดรเจนสามารถนำไฟฟ้าได้แล้ว แรงดันที่เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างไปเท่าใดนัก จุดนี้จึงอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการทดลองได้ว่า เหตุใดความต้านทานไฟฟ้าของไฮโดรเจนไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเพิ่มที่แรงดันเหนือ 140 กิกะปาสคาล
พฤติกรรมอันแปลกประหลาดของไฮโดรเจนภายใต้ความดันและอุณหภูมิสูงยิ่งยวดนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถมองลึกเข้าไปได้ถึงภายในของดาวเคราะห์ยักษ์อย่างดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ดาวเคราะห์สองดวงนี้มีมวลมากกว่าโลกเราหลายร้อยเท่า เนื้อดาวเกือบทั้งหมดเป็นไฮโดรเจน ลึกลงไปในดาวประกอบด้วยไฮโดรเจนที่ถูกแรงกดดันมหาศาลของตัวเองบีบจนเป็นไฮโดรเจนโลหะเหลว ซึ่งชั้นไฮโดรเจนโลหะนี้เองที่เป็นตัวทำให้เกิดสนามแม่เหล็กของดาวยักษ์ทั้งสอง
ก่อนหน้าการทดลองนี้นักดาราศาสตร์เคยเข้าใจว่า ไฮโดรเจนเหลวที่อยู่ในรูปของโมเลกุลอะตอมคู่จะแตกเป็นไฮโดรเจนอะตอมเดี่ยวและกลายเป็นโลหะทันทีที่ความดัน 300 กิกะปาสคาล จึงเขียนแบบจำลองของดาวพฤหัสบดีเอาไว้ให้มีชั้นไฮโดรเจนชั้นนอกที่หนา 18,000 กิโลเมตร หรือประมาณหนึ่งในสี่ของรัศมี ไฮโดรเจนส่วนนี้จะเป็นไฮโดรเจนที่เป็นฉนวนเช่นเดียวกับไฮโดรเจนทั่วไป ส่วนชั้นในลึกลงไปกว่าชั้นนี้เป็นไฮโดรเจนโลหะทั้งหมด โดยมีแนวแบ่งที่ชัดเจนระหว่างชั้นไฮโดรเจนฉนวนกับชั้นไฮโดรเจนโลหะ แต่ผลจากการทดลอง พบว่าความนำไฟฟ้าของไฮโดรเจนเมื่ออยู่ภายใต้ความกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน แต่จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย โมเลกุลของไฮโดรเจนน่าจะเริ่มแตกตัวเป็นอะตอมที่ความดัน 40 กิกะปาสคาล และแตกตัวออกจนหมดสิ้นที่ความดัน 300 กิกะปาสคาล ไฮโดรเจนได้เข้าสู่ความเป็นโลหะที่ความดันตั้งแต่ 140 กิกะปาสคาลและอุณหภูมิ 4,000 เคลวิน ความดันระดับนี้น่าจะเกิดขึ้นที่ชั้นความลึกเพียง 7,000 กิโลเมตรของดาวพฤหัสบดีเท่านั้น
ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในเอกภพ
ไฮโดรเจนในสภาวะปกติเป็นก๊าซ
ในทศวรรษ
ไม่เพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
หลังจากที่เป็นเพียงทฤษฎีมานานถึงเกือบ
การทดลองสร้างไฮโดรเจนโลหะด้วยปืนของลิเวอร์มอร์ได้เริ่มต้นหลังจากที่มีการค้นพบตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูงได้ไม่นาน
แม้ว่าช่วงเวลาที่ไฮโดรเจนถูกอัดจนมีความดันสูงสุดสั้นมากเพียง
เบื้องหลังของการทดลองนี้นับว่ามีอันตรายแอบแฝงอยู่ไม่น้อย
ตลับบรรจุไฮโดรเจนเหลวอยู่ภายในกล่องเป้าหมาย
เมื่อความดันสูงขึ้นไปอีกจนถึง
ผลการทดลองนี้พอจะอธิบายได้ว่า
เมื่อไฮโดรเจนเหลวได้รับแรงดันและความร้อน
พฤติกรรมอันแปลกประหลาดของไฮโดรเจนภายใต้ความดันและอุณหภูมิสูงยิ่งยวดนี้
ก่อนหน้าการทดลองนี้