สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ปลดระวางดาวเทียมโรแซต

ปลดระวางดาวเทียมโรแซต

1 ธ.ค. 2541
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ภารกิจของดาวเทียม โรแซต (ROSAT) ดาวเทียมดาราศาสตร์รังสีเอกซ์ของเยอรมัน ได้จบลงแล้วเมื่อวันที่ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หลังจากที่เกิดความเสียหายกับกล้องรังสีเอกซ์ของดาวเทียม 

กล้องรังสีเอกซ์ความละเอียดสูงที่ติดอยู่บนยานโรแซต ได้เกิดเสียลงไปตั้งแต่เดือนกันยายน เมื่อกล้องนั้นเกิดหันไปทางดวงอาทิตย์พอดี หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพของกล้องแล้ว พบว่าความเสียหายนั้นอยู่ในระดับที่เกินจะแก้ไขได้ จึงได้ตัดสินใจปลดระวางดาวเทียมที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนานดวงนี้ 

ดาวเทียมโรแซตได้เริ่มมีอาการไม่ดีมาตั้งแต่เดือนเมษายนของปี 2541 โดยได้เกิดความผิดปกติที่อุปกรณ์ติดตามดาวซึ่งมีความสำคัญในการหาทิศทางของดาวเทียม ทางเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้พยายามแก้ไขปัญหานี้แต่ก็ประสบความสำเร็จเพียงน้อยนิด ในช่วงเวลาที่ผ่านมาดาวเทียมโรแซตทำงานถ่ายภาพท้องฟ้าได้น้อยมาก 

เนื่องจากกล้อง HRI (High Resolution Imager) ที่เสียนี้เป็นอุปกรณ์หลักของดาวเทียม เมื่อมันไม่สามารถทำงานได้แล้ว ดาวเทียมจึงเหลือประโยชน์ใช้งานน้อยมาก จนไม่คุ้มค่าหากจะให้ปฏิบัติภารกิจต่อไป 

ดาวเทียมโรแซตได้เริ่มต้นโดยเยอรมันในปี 2518 ก่อนที่จะได้รับความร่วมมือจากอังกฤษและอเมริกา เดิมทีนั้น โรแซตได้ถูกกำหนดให้ปล่อยขึ้นสู่อวกาศโดยกระสวยอวกาศ แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับยานแชลเลนเจอร์ในปี 2529 การปล่อยโรแซตจึงถูกเลื่อนออกไปและถูกปล่อยโดยจรวดเดลตา ในปี 2533 

ในช่วงหกเดือนแรกหลังจากที่โรแซตเริ่มปฏิบัติหน้าที่บนอวกาศ มันสามารถสำรวจท้องฟ้าในย่านรังสีเอกซ์ทั่วทั้งท้องฟ้า ค้นพบแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ใหม่ได้มากกว่า 60,000 แหล่ง หรือเกือบร้อยเท่าของจำนวนที่เคยรู้จัก หลังจากนั้นโรแซตได้ถูกใช้งานในการสำรวจแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์เหล่านั้น ตั้งแต่ดาวหาง เควซาร์ จนถึงดาวนิวตรอน 

ข่าวที่คล้ายกัน:

    ภาพวาดดาวเทียมโรแซต (ภาพจาก Goddard Library/NASA)

    ภาพวาดดาวเทียมโรแซต (ภาพจาก Goddard Library/NASA)

    ที่มา: