สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารัน 20 กรกฎาคม 2560

ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารัน 20 กรกฎาคม 2560

19 กรกฎาคม 2560
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 11 ธันวาคม 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
เช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2560 หากท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆบดบัง หลายจังหวัดในประเทศไทยจะมีโอกาสสังเกตดวงจันทร์เคลื่อนเข้าบังดาวอัลเดบารันหรือดาวตาวัว ซึ่งนับเป็นดาวที่สว่างดวงหนึ่งบนท้องฟ้า กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ที่มีฐานยึดมั่นคงจะสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ดี

การบัง


การบัง (occultation) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าบังกัน ส่วนใหญ่ใช้กับวัตถุที่มีขนาดปรากฏใหญ่มาบังวัตถุที่มีขนาดปรากฏเล็ก ดวงจันทร์บังดาวเกิดขึ้นบ่อย ๆ สำหรับดาวที่มีความสว่างน้อย แต่สำหรับดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ที่สว่างมาก นาน ๆ เราจึงจะมีโอกาสเห็นได้สักครั้งหนึ่ง

การสังเกตดวงจันทร์บังดาวทำได้ดีสำหรับดวงจันทร์ข้างขึ้น เนื่องจากดวงจันทร์จะหันขอบด้านมืดเข้าบังดาวก่อน ดาวฤกษ์จะหายวับไปทันทีเบื้องหลังด้านมืดของดวงจันทร์ หลังจากนั้นดาวดวงเดิมจะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ขอบด้านสว่าง แต่ถ้าเป็นข้างแรมจะกลับกัน

ดาวอัลเดบารัน


ดาวอัลเดบารันเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาววัว ชื่อดาวมาจากภาษาอาหรับที่แปลว่า "ผู้ติดตาม" เข้าใจว่าหมายถึงนักล่าที่ติดตามฝูงนก ซึ่งแทนด้วยกระจุกดาวลูกไก่ ดาวอัลเดบารันมีสีส้ม เป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ อายุมาก อยู่ห่างโลกประมาณ 65 ปีแสง ช่วง พ.ศ. 2558-2561 มีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารันเกิดขึ้นทั่วโลกทั้งหมด 49 ครั้ง (นับรวมทุกครั้ง โดยไม่สนใจว่าเห็นได้ที่ใดและเป็นเวลากลางคืนหรือไม่)
เมื่อสังเกตจากประเทศไทย

การบังครั้งนี้สามารถสังเกตได้ในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน และส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณที่ไม่เห็นการบังคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคใต้ ส่วนด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก คาดว่าสังเกตไม่ได้หรือสังเกตได้ยากเพราะการบังเริ่มขึ้นในช่วงที่ท้องฟ้าเริ่มสว่างพอสมควรแล้ว

หากสังเกตจากกรุงเทพฯ การบังเริ่มเวลา 05:24 น. ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่สูงทางทิศตะวันออกที่มุมเงยประมาณ 37° ดาวอัลเดบารันจะปรากฏอยู่ใกล้ขอบด้านสว่างของดวงจันทร์ ค่อนไปทางปลายเสี้ยวด้านทิศใต้ (ขวามือ) สังเกตได้ดีในกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ การบังสิ้นสุดในเวลา 05:49 น. เมื่อดาวกลับมาปรากฏที่ขอบด้านมืด ซึ่งเวลานั้นดวงอาทิตย์ใกล้จะขึ้นเหนือขอบฟ้าแล้ว จึงอาจไม่สามารถสังเกตได้ในช่วงสิ้นสุดการบัง เวลาเริ่มบังสำหรับจังหวัดอื่น ๆ จะแตกต่างจากนี้เล็กน้อย

ดวงจันทร์บังดาวอัลเดบารัน 20 กรกฎาคม 2560
สถานที่ เริ่มบัง
เวลา มุมเงย
กรุงเทพฯ05:23.837°
ขอนแก่น05:23.540°
เชียงใหม่05:14.434°
นครราชสีมา05:24.839°
สุโขทัย05:16.535°


ตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวอัลเดบารันเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ในเช้ามืดวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 เวลาที่แสดงในภาพเป็นเวลาเริ่มบัง  

แนวเส้นที่เป็นขอบเขตด้านทิศใต้ของการบังในวันนี้พาดผ่านบริเวณอำเภอกุยบุรีของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลากไปถึงอำเภอคลองหาดของจังหวัดสระแก้ว บริเวณที่อยู่เหนือแนวเส้นนี้มีโอกาสเห็นการบังได้ แต่ภาคตะวันออกและด้านตะวันออกของภาคอีสานสังเกตได้ยากเพราะท้องฟ้าเริ่มสว่างเมื่อเริ่มการบัง ส่วนบริเวณที่อยู่ใต้แนวเส้นนี้จะไม่เห็นการบัง แต่ยังคงสามารถเห็นดาวอัลเดบารันอยู่ใกล้ขอบดวงจันทร์

หลังจากวันนี้ สัปดาห์หน้าในคืนวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2560 จะมีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวหัวใจสิงห์ ประเทศไทยสังเกตการบังได้เฉพาะในภาคใต้ โดยวันนั้นดาวพุธก็อยู่ใกล้ดวงจันทร์และดาวหัวใจสิงห์ด้วย