สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โนวาในกลุ่มดาวแมงป่อง

โนวาในกลุ่มดาวแมงป่อง

22 กุมภาพันธ์ 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 16 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
นักล่าโนวาชาวญี่ปุ่นสองคน คือ ยูจิ นะกะมุระ และ ยูกิโอะ ซะกุระอิ ค้นพบโนวาดวงหนึ่งเมื่อวันที่ กุมภาพันธ์ 2550 โดยต่างคนต่างพบ ขณะนั้นโนวามีโชติมาตร ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หลังจากนั้นมันมีความสว่างเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่โชติมาตร 3.8 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 และกำลังจางลง แต่ยังสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีแสงรบกวน ส่วนในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ อาจสังเกตได้ยากหรือแทบมองไม่เห็น ถ้ามีกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ก็น่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง


โนวา วี 1280 แมงป่อง (V1280 Scorpii) มีตำแหน่งอยู่ที่ไรต์แอสเซนชัน 16h 57.7m เดคลิเนชัน -32° 20.6' ตามพิกัดศูนย์สูตร หรืออยู่ห่างจากดาวพฤหัสบดีและดาวแอนทาเรส (ดาวปาริชาต) ไปทางทิศใต้ประมาณ 9°-10° กลางเดือนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เวลา 5.00 น. จะเห็นมันปรากฏเหนือท้องฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุมเงย 30°-40° จากข้อมูลที่รวบรวมได้ในขณะนี้คาดว่าน่าจะเป็นโนวาที่สว่างที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 ภาพบนแสดงตำแหน่งโนวาด้วยกากบาทสีเหลือง (+) รายงานเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ระบุว่าโนวาดวงนี้ได้สว่างมากที่สุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ด้วยโชติมาตร 3.8 หลังจากนั้นจึงเริ่มจางลง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีโชติมาตร 4.9


โนวา หรือ นวดารา (nova) จัดเป็นดาวแปรแสงซึ่งหมายถึงดาวที่เปลี่ยนแปลงความสว่างประเภทหนึ่ง นักดาราศาสตร์เชื่อว่าโนวาส่วนใหญ่เกิดในระบบดาวคู่ที่มีดาวสองดวงโคจรรอบกันและกัน ดวงหนึ่งเป็นดาวยักษ์แดง อีกดวงเป็นดาวแคระขาว ความสว่างของโนวาเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อดาวยักษ์แดงขยายตัวจนกระทั่งไฮโดรเจนบนผิวดาวถูกแรงโน้มถ่วงของดาวแคระขาวดึงดูดไปวนรอบดาว มวลสารที่สะสมทำให้ผิวดาวแคระขาวร้อนจนเกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ ดาวจึงสว่างขึ้นจากเดิมหลายพันหรือเป็นแสนเท่า จากนั้นความสว่างจะค่อย ๆ ลดลง และมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ซ้ำอีกในอนาคต คำว่า nova มาจากคำเต็มในภาษากรีก stella nova แปลว่า ดาวดวงใหม่

นักดาราศาสตร์เฝ้าสังเกตและจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงความสว่างของโนวาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการของการเกิดโนวาและวิวัฒนาการของมัน

โนวาดวงที่สอง

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550 มีรายงานจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลว่าสองนักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบวัตถุที่น่าจะเป็นโนวาดวงที่ ในกลุ่มดาวแมงป่อง ห่างจากโนวาดวงแรกไปทางทิศใต้ประมาณ 3° ผู้ค้นพบคือ ยูจิ นะกะมุระ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ค้นพบโนวาดวงแรก อีกคนหนึ่งคือ ฮิเดะโอะ นิชิมุระ เป็นการค้นพบจากภาพถ่าย โนวาดวงที่สองมีตำแหน่งอยู่ที่ไรต์แอสเซนชัน 16h 57.0m เดคลิเนชัน -35° 21.8' ขณะนี้มีโชติมาตร มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า