สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เซอร์ไพรส์แรกจากพลูโต

เซอร์ไพรส์แรกจากพลูโต

16 ก.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หลังจากยานนิวเฮอไรซอนส์ได้เข้าเฉียดดาวพลูโตเป็นครั้งแรกประวัติศาสตร์ ข้อมูลชุดแรกที่ส่งตามมา ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องตื่นตะลึงเมื่อพบว่า ดาวพลูโตไม่ใช่ดินแดนตายซากเย็นชืดดังที่เคยเชื่อกัน หากแต่ยังคุกรุ่นในทางธรณีวิทยาอยู่

ยานนิวเฮอไรซอนส์ได้เข้าเฉียดดาวพลูโตเมื่อเวลา 18:49 น. ตามเวลาประเทศไทย ในช่วงเวลาดังกล่าวยานจะไม่ส่งสัญญาณใด ๆ กลับมาเนื่องจากยังสาละวนอยู่กับการเก็บข้อมูลจากดาวพลูโตให้มากที่สุดภายในระยะเวลาอันแสนจำกัด ถัดจากนั้นอีก 13 ชั่วโมง เมื่อช่วงเวลาวิกฤตผ่านพ้นไป ยานก็ได้ส่งสัญญาณกลับมายังโลกอีกครั้ง เป็นการบอกว่าการเข้าเฉียดผ่านพ้นไปด้วยดี ตามมาด้วยภาพถ่ายดาวพลูโตจากระยะใกล้ชุดแรก ที่สร้างทั้งความยินดีและความพิศวงให้แก่นักดาราศาสตร์

หนึ่งในภาพที่ส่งมา คือภาพระยะใกล้ของบริเวณ "หัวใจ" ของดาวพลูโต ซึ่งในภาพถ่ายที่ส่งมาก่อนหน้านี้เห็นเป็นพื้นที่สีขาวกว้างใหญ่รูปร่างคล้ายหัวใจอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ภาพชุดใหม่เผยว่าบริเวณนี้เป็นเทือกเขาที่มีความสูงถึง 3,500 เมตรเหนือระดับพื้นผิว และอาจมีภูเขาอื่นที่สูงกว่านี้อีกก็ได้

ยิ่งกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ไม่พบร่องรอยหลุมอุกกาบาตเลยแม้แต่หลุมเดียว นี่เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ เพราะในอดีตดาวพลูโตและคารอนน่าจะเคยถูกกระหน่ำชนด้วยวัตถุไคเปอร์ขนาดเล็กมาอย่างนับไม่ถ้วน การที่ไม่มีหลุมอุกกาบาตนั่นแสดงว่าต้องมีกระบวนการทางธรณีวิทยาบางอย่างมาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ ทำให้ร่องรอยการถูกชนเลือนหายไป คาดว่าภูมิประเทศของพลูโตที่เห็นอยู่นี้เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่เกิน 100 ล้านปี ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอายุ 4.56 พันล้านปีของระบบสุริยะ สิ่งนี้แสดงว่าพื้นที่ส่วนนี้ซึ่งกินพื้นที่ประมาณ เปอร์เซ็นต์ของดาวพลูโตทั้งดวงยังคงมีการเปลี่ยนแปลงในทางธรณีวิทยาอยู่

“นี่เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีอายุน้อยที่สุดในระบบสุริยะที่เราเคยพบเห็น" เจฟ มัวร์ จากคณะทำงานด้านถ่ายภาพและธรณีฟิสิกส์ของนิวเฮอไรซอนส์กล่าว

นักดาราศาสตร์เคยพบพื้นที่อายุน้อยบนดวงจันทร์บริวารบางดวงของดาวเคราะห์ยักษ์มาก่อน แต่นั่นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะดวงจันทร์เหล่านั้นอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงมหาศาลจากดาวเคราะห์แม่ อันตรกิริยาทางความโน้มถ่วงทำให้เกิดความร้อนขึ้นภายในตัวดวงจันทร์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการทางธรณีวิทยา แต่ดาวพลูโตไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นว่านี้ การที่พบพื้นที่อายุน้อยบนดาวพลูโตจึงเป็นเรื่องแปลกมาก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะต้องมีกระบวนการบางอย่างที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดสภาพภูมิประเทศเช่นนี้

ภูเขาบนดาวพลูโตไม่ได้ประกอบด้วยหินดินทราย นักดาราศาสตร์เชื่อว่าประกอบด้วยน้ำแข็งเกือบทั้งหมด แม้บนพลูโตจะมีไนโตรเจนแข็งและมีเทนแข็งอยู่ด้วย แต่สสารเหล่านี้ไม่แข็งแรงพอที่จะพยุงตัวเองให้เป็นคงรูปเป็นภูเขาสูงเช่นนี้ได้

ส่วนบริวารดวงใหญ่ของดาวพลูโตก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นไม่แพ้กัน ภาพรายละเอียดของดวงจันทร์คารอนแสดงสภาพพื้นผิวที่หลากหลายและอ่อนวัยอย่างเหลือเชื่อ  มีดงเทือกเขาและหุบเหวพาดเป็นทางยาวราว 1,000 กิโลเมตร บ่งบอกถึงการปริแตกของเปลือกดาวครั้งใหญ่ในอดีตซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยาภายในดาว ภาพถ่ายนี้ยังแสดงภาพของหุบผาชันที่มีความลึกประมาณ 7-9 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณขั้วเหนือของคารอนมีสีคล้ำกว่าบริเวณอื่น คาดว่าเป็นตะกอนสีคล้ำปกคลุมบาง ๆ 

นอกจากวัตถุดวงใหญ่สองดวงแล้ว นิวเฮอไรซอนส์ยังได้สำรวจดวงจันทร์ดวงเล็กของพลูโตด้วย ได้แก่ นิกซ์ ไฮดรา สติกซ์ เคอร์เบรอส และไฮดรา ในเบื้องต้นพบว่าดวงจันทร์ไฮดรามีขนาดประมาณ 43 33 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นผิวของไฮดรามีน้ำแข็งปกคลุมด้วย

ขณะนี้ยานได้ผ่านเขตของดาวพลูโตไปแล้ว ยานนิวเฮอไรซอนส์จะทยอยส่งข้อมูลกลับมายังโลกด้วยอัตราไม่สูงนัก ซึ่งจะต้องใช้เวลาถึงกว่าปีจึงจะหมด หลังจากนี้ยานก็จะมุ่งหน้าต่อไปยังวัตถุไคเปอร์อีกสองดวงอันเป็นเป้าหมายต่อไป
ภาพความละเอียดสูงของดาวพลูโตภาพแรกที่ส่งมาจากยานนิวเฮอไรซอนส์ ถ่ายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม แสดงเทือกเขาบนดาวพลูโตที่มีความสูงถึง 3,300 เมตร

ภาพความละเอียดสูงของดาวพลูโตภาพแรกที่ส่งมาจากยานนิวเฮอไรซอนส์ ถ่ายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม แสดงเทือกเขาบนดาวพลูโตที่มีความสูงถึง 3,300 เมตร

คารอน ดวงจันทร์บริวารดวงที่ใหญ่ที่สุดของดาวพลูโต ถ่ายเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม จากระยะห่าง 466,000 กิโลเมตร

คารอน ดวงจันทร์บริวารดวงที่ใหญ่ที่สุดของดาวพลูโต ถ่ายเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม จากระยะห่าง 466,000 กิโลเมตร

ที่มา: