สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เขตอันตรายรอบดาวฤกษ์

เขตอันตรายรอบดาวฤกษ์

13 ก.ค. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ใครเคยเบื่อโลกใบนี้จนขอให้ไปเกิดที่ดาวดวงอื่นบ้างไหม 

จะภาวนาไปเกิดที่ดาวดวงไหนก็เชิญ แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า อย่าไปเลือกเกิดแถวที่มีดาวชนิดโออยู่

ดาวฤกษ์ชนิดโอ เป็นดาวฤกษ์ที่ร้อนที่สุดในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมด ความร้อนของดาวชนิดนี้เชื่อว่าจะทำลายการก่อจานฝุ่นของดาวฤกษ์ใกล้เคียงที่เย็นกว่า จานฝุ่นรอบดาวฤกษ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างดาวเคราะห์ สำหรับดาวฤกษ์ชนิดโอ รัศมีอันตรายนี้มีระยะประมาณ 1.6 ปีแสง 

คณะนักดาราศาสตร์นำโดย ซอลแทน บัลลอย จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ของนาซาสำรวจจานรอบดาวฤกษ์ราว 1,000 ดวงในเนบิวลาดอกกุหลาบในย่านรังสีอินฟราเรด และสร้างแผนที่ของดาวร้อนขึ้นมา เนบิวลาดอกกุหลาบอยู่ห่างจากโลก 5,200 ปีแสงในกลุ่มดาวยูนิคอร์น 

เขาพบว่า ในรัศมี 1.6 ปีแสงจากดาวฤกษ์ชนิดโอ มีดาวเพียง 27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีจาน แต่บริเวณที่พ้นระยะ 1.6 ปีแสงออกมา มีดาวมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ที่มี่จาน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับที่พบในบริเวณอื่นที่ไม่มีดาวชนิดโออยู่ 

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า รังสีอัลตราไวโอเลตจากดาวชนิดโอจะแผดเผาให้ฝุ่นในจานให้ระเหยไปเป็นจุณ หลังจากนั้นก็จะถูกลมดาวที่รุนแรงจากดาวชนิดโอพัดให้กระจุยกระจายไป 

ดาวชนิดโอเป็นดาวฤกษ์ที่ร้อนที่สุดในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมด มักสว่างมากและมีสีออกไปทางฟ้า มีอุณหูมิพื้นผิวเกิน 25,000 องศาเซลเซียส ส่วนดวงอาทิตย์ของเราเป็นดาวฤกษ์ชนิดจี จัดเป็นดาวฤกษ์อุณหภูมิปานกลาง อุณหภูมิพื้นผิวอยู่ที่ราว 5,600 องศาเซลเซียส

เนบิวลาดอกกุหลาบ มีดาวชนิดโอเป็นจำนวนมาก นักดาราศาสตร์พบว่า ภายในรัศมี 1.6 ปีแสงจากดาวจำพวกนี้มีโอกาสเกิดดาวเคราะห์ได้ยาก

เนบิวลาดอกกุหลาบ มีดาวชนิดโอเป็นจำนวนมาก นักดาราศาสตร์พบว่า ภายในรัศมี 1.6 ปีแสงจากดาวจำพวกนี้มีโอกาสเกิดดาวเคราะห์ได้ยาก

ที่มา: