เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วงการดาราศาสตร์พากันตื่นเต้นกับการได้พบวัตถุจากนอกระบบสุริยะที่เข้ามาเยือนยังระบบสุริยะของเราเป็นครั้งแรก เมื่อแรกค้นพบ นักดาราศาสตร์เข้าใจว่าเป็นดาวหาง แต่การสำรวจในระยะต่อมาบอกว่าน่าจะเป็นวัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยมากกว่า ต่อมาสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ตั้งชื่อสามัญให้ว่า โอมูอามูอา ('Oumuamua) และมีชื่อเรียกตามระบบว่า 1 ไอ/2017 ยู 1 (1I/2017 U1) การวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงความสว่างของวัตถุดวงนี้แสดงว่ามีรูปร่างเป็นแท่งยาวเรียวเหมือนซิการ์ ยาวประมาณ 400 เมตร และกว้างเพียง 40 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีรูปร่างประหลาดมาก
วัตถุทรงซิการ์จากนอกระบบสุริยะอย่างนั้นหรือ?หรือว่ามันจะไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อย หากแต่เป็นยานอวกาศจากต่างดาว!
นี่ไม่ใช่คำถามเพ้อเจ้อของพวกบ้ายูเอฟโอนักดาราศาสตร์บางคนสงสัยแบบนั้นจริง ๆ หลายคนอาจคุ้นกับภาพยานอวกาศทรงซิการ์จากภาพยนตร์หรือนิยายวิทยาศาสตร์ ทรงซิการ์เป็นทรงเหมาะสำหรับยานอวกาศที่เดินทางไกล เพราะมีพื้นที่หน้าตัดแคบ ทำให้มีโอกาสกระทบกับสะเก็ดดาวอันตรายในอวกาศน้อย และยังเหมาะที่จะสร้างความโน้มถ่วงเทียมโดยการหมุนควงรอบตัวเอง หากมนุษย์เราจะสร้างอวกาศขนาดใหญ่สักลำเพื่อเดินทางไปไกลถึงระบบสุริยะอื่น ก็คงสร้างยานให้มีรูปร่างแบบซิการ์เหมือนกัน
เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดนักดาราศาสตร์ในโครงการเบรกทรูลิสเซนซึ่งเป็นโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวจึงใช้กล้องโทรทรรศน์กรีนแบงก์ในเวสต์เวอร์จิเนียวัดคลื่นวิทยุจากวัตถุดวงนี้โดยกวาดหาในย่านความถี่ตั้งแต่ 1 กิกะเฮิรตซ์จนถึง 12 กิกะเฮิรตซ์ เผื่อว่าจะพบรูปแบบสัญญาณที่เกิดจากการกระทำโดยเทคโนโลยี ไม่ใช่สัญญาณจากธรรมชาติดังที่พบในวัตถุท้องฟ้าทั่วไป
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จากโครงการได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นว่า ไม่พบสัญญาณใด ๆ ที่เป็นหลักฐานของการกระทำโดยเทคโนโลยีจากโอมูอามูอา
"โอมูอามูอาคงจะเป็นดาวเคราะห์น้อยจริงๆ " แอนดรู ไซเมียน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กลีย์ หัวหน้าโครงการเบรกทรูลิสเซนกล่าว
ขณะนี้โอมูอามูอาอยู่ห่างจากโลกประมาณ 200 ล้านกิโลเมตร และกำลังเคลื่อนที่ถอยห่างออกจากดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วสัมพัทธ์ 38.3 กิโลเมตรต่อวินาที
วัตถุทรงซิการ์จากนอกระบบสุริยะอย่างนั้นหรือ?
นี่ไม่ใช่คำถามเพ้อเจ้อของพวกบ้ายูเอฟโอ
เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัด
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
"โอมูอามูอาคงจะเป็นดาวเคราะห์น้อยจริง
ขณะนี้