สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัฏจักรสุริยะรอบใหม่เริ่มต้น?

วัฏจักรสุริยะรอบใหม่เริ่มต้น?

25 ธ.ค. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบสัญญาณอย่างหนึ่งจากภาพถ่ายดวงอาทิตย์ที่ถ่ายโดยหอดูดาวโซโฮ สัญญาณที่ว่านี้ไม่ใช่พายุสุริยะหรือการปะทุรุนแรงที่จะเป็นภัยต่อโลก มันเป็นเพียงสนามแม่เหล็กบนผิวดวงอาทิตย์ที่กระจุกกันเป็นปมขนาดเขื่องปมหนึ่งที่ไม่มีอันตรายอะไร แต่นี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า วัฏจักรสุริยะรอบใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว

บนดวงอาทิตย์มีกัมมันตภาพหลายชนิดเช่นจุดมืด (sunspot) เปลวสุริยะ (prominence) การลุกจ้า (flare) การพ่นมวลคอโรนา (coronal mass ejection) ซึ่งมีความถี่ของการเกิดและความรุนแรงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างเป็นวัฏจักร นักดาราศาสตร์เรียกวัฏจักรของกัมมันตภาพนี้ว่าวัฏจักรสุริยะ มีความคาบ 11 ปี 

เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่ดวงอาทิตย์อยู่ในภาวะเงียบเหงา ไม่มีการปะทุหรือกัมมันตภาพรุนแรงใด ๆ เนื่องจากอยู่ในช่วงต่ำสุดของวัฏจักร และถือว่าเป็นเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดของวัฏจักรสุริยะที่ 23 ส่วนวัฏจักรรอบใหม่คาดว่าน่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงนี้

สิ่งที่นักดาราศาสตร์ใช้เป็นตัวบอกจุดเริ่มต้นของวัฏจักรคือจุดมืด ช่วงท้ายวัฏจักรจุดมืดจะเกิดขึ้นบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร เมื่อวัฏจักรใหม่เริ่มต้นขึ้นจุดมืดจะเกิดขึ้นที่ละติจูดสูง ราว 25-30 องศาทั้งเหนือและใต้ และมีขั้วของสนามแม่เหล็กในจุดมืดตรงข้ามกับรอบที่ผ่านมา 

ปมสนามแม่เหล็กที่พบเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมเกิดขึ้นที่ละติจูด 24 องศาเหนือและมีขั้วสนามแม่เหล็กตรงข้ามกับรอบก่อนอย่างที่ควรจะเป็น แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา นั่นคือมันไม่มีจุดมืด แม้ปมสนามแม่เหล็กมักเกิดขึ้นร่วมกับจุดมืด แต่ในเมื่อไม่มีจุดมืด จึงไม่อาจพูดอย่างเต็มปากได้ว่าวัฏจักรสุริยะรอบใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วจริง 

นักดาราศาสตร์คาดว่าวัฏจักรใหม่ซึ่งจะเป็นวัฏจักรที่ 24 จะดุเดือดรุนแรง และจะขึ้นถึงช่วงสูงสุดในราวปี 2554 หรือ 2555 ซึ่งจะส่งผลกระทบหลายด้านต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งด้านการสื่อสาร การสัญจรทางอากาศ ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบจีพีเอส ส่วนด้านดีของพายุสุริยะก็ได้แก่จะมีแสงเหนือที่สวยงามตระการตา มองเห็นได้ที่พื้นที่ใกล้ขั้วโลก

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต ถ่ายโดยหอสังเกตการณ์โซโฮ และภาพถ่ายที่แสดงขั้วสนามแม่เหล็ก

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต ถ่ายโดยหอสังเกตการณ์โซโฮ และภาพถ่ายที่แสดงขั้วสนามแม่เหล็ก

แผนภูมิแสดงจำนวนของจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์จำนวนจุดมืดจนถึงเดือนมกราคม 2551 (ภาพจาก NOAA/Space Weather Prediction Center)

แผนภูมิแสดงจำนวนของจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์จำนวนจุดมืดจนถึงเดือนมกราคม 2551 (ภาพจาก NOAA/Space Weather Prediction Center)

ที่มา: