สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พายุสุริยะเป็นเหตุให้ปลาวาฬเกยตื้น

พายุสุริยะเป็นเหตุให้ปลาวาฬเกยตื้น

27 ก.พ. 2563
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
สำหรับคนรักสัตว์แล้ว เหตุการณ์ธรรมชาติที่น่าสลดหดหู่ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ปลาวาฬเกยหาด ภาพของยักษ์ใหญ่แสนสุภาพแห่งท้องทะเลจำนวนมากต้องทุรนทุรายอยู่บนชายหาด หายใจรวยรินก่อนจะสิ้นใจ เป็นภาพที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง

เป็นเวลานานมาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาสาเหตุของปลาวาฬเกยหาด บางคนสันนิษฐานว่า โซนาร์จากเรือประมงไปรบกวนประสาทสัมผัสของปลาวาฬที่ใช้ในการนำทาง บ้างก็ว่าพิษในน้ำทะเลอาจมีส่วน บ้างก็กล่าวว่าเมื่อมีตัวใดตัวหนึ่งในฝูงเกยหาด ก็จะส่งเสียงเรียกให้เพื่อนมาช่วยจนพากันเกยหาดยกฝูง

ปลาวาฬสีเทา เดินทางไปกลับระหว่างคาบสมุททรบาฆากับแอลาสกาทุกปี  (จาก NOAA)

การจะหาสาเหตุว่าปลาวาฬเกยหาดได้อย่างไร ก็ต้องรู้ก่อนว่าปลาวาฬรู้เส้นทางการเดินทางได้อย่างไร ทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่าปลาวาฬรับรู้สนามแม่เหล็กโลกและใช้มันในการนำทางเหมือนมีเข็มทิศประจำตัว ทฤษฎีนี้มีหลักฐานสนับสนุนอยู่พอสมควร เคยมีงานวิจัยที่พบว่าปลาวาฬมักเดินทางไปตามเส้นแรงแม่เหล็กโลก หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่ความเข้มสนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลง และยังพบว่าจะมีโอกาสเกยหาดมากขึ้นในบริเวณที่สนามแม่เหล็กโลกอ่อน นอกจากปลาวาฬแล้ว สัตว์บางชนิดก็รับรู้และใช้ประโยชน์จากสนามแม่เหล็กโลกด้วย เช่นนก

ปลาวาฬสีเทาขณะกระโดดพลิกตัว  (จาก Merrill Gosho, NOAA)


เจสซี แกรนเจอร์ นักวิจัยด้านชีวฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยดุกสงสัยว่า พายุสุริยะอาจมีส่วนทำให้ปลาวาฬเกยหาดได้เหมือนกัน 

แกรนเจอร์ไม่ใช่คนแรกที่วิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพายุสุริยะกับเหตุการณ์ปลาวาฬเกยหาด เคยมีการพบว่าจุดมืดบนดวงอาทิตย์สัมพันธ์กับการเกยหาดของปลาวาฬหัวทุย แต่แกรนเจอร์วิเคราะห์ลึกกว่านั้น โดยเลือกเอาเฉพาะปลาวาฬสีเทา (Eschrichtius robustusเนื่องจากปลาวาฬชนิดนี้มีเส้นทางการเดินทางไกล และมีเส้นทางเดินทางค่อนข้างขนานกับชายฝั่ง ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาดในการนำทางก็จะมีโอกาสเกยหาดมากกว่าปลาวาฬที่เดินทางผ่านมหาสมุทรเปิด

จุดมืดบนดวงอาทิตย์ เกิดขึ้นในบริเวณผิวดวงอาทิตย์ที่สนามแม่เหล็กเข้มข้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการพ่นมวลคอโรนาและพายุสุริยะ (จาก NASA/SDO/AIA/HMI/Goddard Space Flight Center)

สนามแม่เหล็กโลกและกระแสไฟฟ้ารอบโลกที่แปรปรวนจากลมสุริยะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก  (จาก ESA/ATG medialab)


ปลาวาฬสีเทาเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสิบในบรรดาสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เป็นปลาวาฬนักเดินทางไกลชนิดหนึ่ง ปีหนึ่งอาจเดินทางเป็นระยะทางถึง 16,000 กิโลเมตรระหว่างพื้นที่หากินกับพื้นที่ผสมพันธุ์  การที่ปลาวาฬสีเทาต้องเดินทางไกล จึงเชื่อว่าน่าจะต้องรับรู้และใช้ประโยชน์จากสนามแม่เหล็กโลกในการนำทางบ้าง ไม่มากก็น้อย

แกรนเจอร์ได้วิเคราะห์ประวัติการเกิดจุดมืดดวงอาทิตย์เป็นเวลา 31 ปี ตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2559 จุดมืดดวงอาทิตย์เป็นกัมมันตภาพสุริยะชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นจุดสีคล้ำบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดพายุสุริยะ เมื่อพายุสุริยะพัดมายังโลก จะรบกวนแมกนีโทสเฟียร์ของโลก และยังส่งคลื่นรบกวนในย่านความถี่วิทยุอีกด้วย 

การพ่นมวลคอโรนาบนดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดการแปรปรวนของสนามแม่เหล็กโลกและทำให้เกิดการรบกวนในย่านความถี่วิทยุ 
 (จาก NASA SDO J. Major.)


แกรนเจอร์คัดเอากรณีการเกยหาดที่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอื่นออกด้วย เช่นป่วย บาดเจ็บ ขาดสารอาหาร หรือติดตาข่ายของชาวประมง จึงเหลือกรณีการเกยหาดที่เกิดในปลาวาฬที่ปกติดี 186 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อเทียบบันทึกการเกิดจุดมืดบนดวงอาทิตย์กับบันทึกการเกยหาดของปลาวาฬทั้ง 186 ครั้ง พบว่าในช่วงที่มีพายุสุริยะพัดเข้ามายังโลก ปลาวาฬสีเทามีโอกาสเกยหาดมากกว่าช่วงอื่นถึง 4.3 เท่า

งานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารเคอร์เรนต์ไบโอโลจีในหัวข้อ "Gray Whales Strand More Often on Days With Increased Levels of Atmospheric Radio-Frequency Noise"

อย่างไรก็ตาม แกรนเจอร์เชื่อว่าสิ่งที่รบกวนระบบนำทางของปลาวาฬสีเทาไม่ใช่สนามแม่เหล็กโลกที่แปรปรวนจากการกระตุ้นของพายุสุริยะ หากแต่เป็นคลื่นความถี่วิทยุจากพายุสุริยะที่รบกวนสัมผัสการรับรู้สนามแม่เหล็กของปลาวาฬ จนเป็นเหตุให้หลงทางและเกยหาดในที่สุด

แม้งานวิจัยฉบับนี้ไม่ได้อธิบายว่าปลาวาฬรับรู้สนามแม่เหล็กได้อย่างไร แต่ก็ได้เพิ่มน้ำหนักให้แก่สมมุติฐานว่าปลาวาฬรับรู้และใช้ประโยชน์จากสนามแม่เหล็กโลกได้จริง และยังช่วยตอกย้ำถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างดวงอาทิตย์กับสรรพชีวิตบนโลกอีกด้วย