สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ทะเลสาบบนดวงจันทร์ไททัน

ทะเลสาบบนดวงจันทร์ไททัน

18 ส.ค. 2549
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ได้ตั้งข้อสงสัยมาเป็นเวลานานแล้วว่าบนดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์อาจมีแหล่งของเหลวที่มีมีเทนหรืออีเทนเหลวอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่หนาวเย็นเช่นบริเวณใกล้ขั้วดาว 

ภาพถ่ายล่าสุดของดวงจันทร์ไททันเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ทำให้ทฤษฎีดังกล่าวน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ภาพชุดนี้ถ่ายโดยอุปกรณ์ชื่อเรดาร์ของยานแคสซีนี แสดงแต้มคล้ำหลายแต้มกระจัดกระจายซึ่งในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นทะเลสาบ บางแห่งมีลักษณะคล้ายลำธารที่ไหลเข้าออกด้วย รูปร่างของแต้มเหล่านั้นก็ดูเหมือนกับการเติมของของเหลว บางแห่งก็ดูเข้มมาก สีที่เข้มมากหมายความว่าสะท้อนเรดาห์ได้น้อย นั่นแสดงว่าจะต้องมีผิวหน้าที่ราบเรียบมาก ยิ่งกว่านั้นแต้มบางแต้มก็มีพบเส้นขอบด้วย บางทีเส้นขอบนั้นอาจเป็นตะกอนที่เกยอยู่บนตลิ่งเมื่อของเหลวระเหยออกไปก็ได้ 

บนดวงจันทร์ไททันไม่มีน้ำ แต่มีอีเทนและมีเทนอยู่มาก นักดาราศาสตร์จึงเชื่อว่าของเหลวที่อยู่ในแอ่งนั้นน่าจะเป็นอีเทนหรือมีเทนเหลว หากพบว่าเป็นทะเลสาบจริง ไททันก็จะเป็นสถานที่แห่งที่สองในระบบสุริยะนอกจากโลกที่มีทะเลสาบ แต่การจะทราบว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นทะเลสาบจริงหรือไม่จะต้องพิสูจน์กันต่อไป วิธีหนึ่งที่ทำได้แต่ต้องรอคือถ่ายภาพบริเวณนี้อีกครั้งในคราวต่อไปที่ยานผ่านมา แล้วสังเกตความเปลี่ยนแปลงของขนาดและลักษณะพื้นผิวที่อาจเกิดจากกระแสลม 

ภาพไททัน จากยานแคสซีนี ภาพสองภาพนี้ถ่ายจากยานแคสซีนีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ภาพบนอยู่ที่บริเวณละติจูด 80 องศาเหนือ 92 องศาตะวันตก คลุมพื้นที่ประมาณ 420x120 ตารางกิโลเมตร ภาพล่างถ่ายที่บริเวณ 78 องศาเหนือ 18 องศาตะวันตก คลุมพื้นที่ประมาณ 475x150 ตารางกิโลเมตร แต่ละจุดภาพมีขนาด 500 เมตร (ภาพจาก NASA/JPL/SSI)

ภาพไททัน จากยานแคสซีนี ภาพสองภาพนี้ถ่ายจากยานแคสซีนีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ภาพบนอยู่ที่บริเวณละติจูด 80 องศาเหนือ 92 องศาตะวันตก คลุมพื้นที่ประมาณ 420x120 ตารางกิโลเมตร ภาพล่างถ่ายที่บริเวณ 78 องศาเหนือ 18 องศาตะวันตก คลุมพื้นที่ประมาณ 475x150 ตารางกิโลเมตร แต่ละจุดภาพมีขนาด 500 เมตร (ภาพจาก NASA/JPL/SSI)

ที่มา: