สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ของดาวดวงอื่น

ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ของดาวดวงอื่น

24 มิ.ย. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
สำหรับคนทั่วไป ดวงอาทิตย์ที่เราเห็นอยู่ทุกวันก็คือดาวฤกษ์ที่กลมเกลี้ยงร้อนแรงเหมือนกันทุกวัน แต่สำหรับนักดาราศาสตร์ ดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดวงอาทิตย์มีกัมมันตภาพ (activity) เช่น จุดมืด การลุกจ้า พายุสุริยะ เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน และมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความถี่ของการเกิดและความรุนแรงขึ้นลงเป็นคาบ แต่ละคาบยาวนาน 11 ปี นี่คือภาวะปรกติของดวงอาทิตย์

แต่ในระหว่างปี ค.ศ. 1645 ถึงปี 1714 เป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกลงสู่ช่วงของการ "หลับยาว" นั่นคือแทบไม่เกิดกัมมันตภาพใด ๆ ขึ้นเลย ไม่มีรายงานการพบจุดมืด แสงเหนือที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าในดินแดนตอนเหนือของโลกซึ่งเกิดขึ้นจากพายุสุริยะก็เกิดน้อยกว่าปรกติมาก ช่วงเวลานั้นมีชื่อเรียกว่า ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ 

ช่วงเวลานั้นตรงกับช่วงที่เรียกว่า "ยุคน้ำแข็งน้อย" บนโลก เพราะภูมิอากาศของโลกในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือหนาวเย็นผิดปรกติเป็นเวลานาน ถึงขนาดแม่น้ำเทมส์ในประเทศอังกฤษแข็งเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว นั่นแสดงว่าช่วงที่ดวงอาทิตย์มีกัมมันตภาพน้อยก็จะมีพลังงานออกมาน้อยด้วย 

  

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวฤกษ์ดวงอื่นที่มีสมบัติคล้ายดวงอาทิตย์ก็อาจเกิดช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ได้เช่นกัน ในปี 1976 จึงได้เริ่มมีการค้นหาดาวฤกษ์ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์บริเวณใกล้เคียงว่ามีดวงใดบ้างที่อยู่ในช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ โดยหวังว่าอาจช่วยให้เข้าใจถึงกลไกและเหตุผลของการหลับยาวของดาวฤกษ์ได้ และอาจช่วยในการพยากรณ์ว่าดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ช่วงนั้นอีกเมื่อใด การค้นหาครั้งนั้นดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเพราะได้พบดาวฤกษ์เป็นจำนวนมากมีพลังงานลดต่ำลงเหมือนกับอยู่ในช่วงต่ำสุดมอนเดอร์

แต่จากการวิจัยใหม่โดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กเลย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้ต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่าดาวต้องสงสัยเหล่านั้นซึ่งมีอยู่หลายร้อยดวงอยู่ในช่วงต่ำสุดมอนเดอร์จริงหรือไม่ เพราะหลังจากการวิเคราะห์สมบัติของดาวอย่างละเอียดพบว่า หลายดวงในจำนวนนี้ไม่ใช่ดาวฤกษ์แบบเดียวกับดวงอาทิตย์ ส่วนใหญ่เป็นดาวที่อายุมากแล้วหรือเป็นดาวที่มีธาตุหนักเช่นเหล็กหรือนิกเกิลอยู่มาก บางดวงก็มีสนามแม่เหล็กอ่อนเกินไป บางดวงหมุนช้าจนทำให้เกิดความปั่นป่วนของสนามแม่เหล็กน้อย หรือบางดวงสนามแม่เหล็กได้สูญหายไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลให้พลังงานของดาวลดลง แต่ไม่เกี่ยวกับการเกิดช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ ถึงปัจจุบันกล่าวได้ว่าไม่มีดาวดวงใดเลยที่แน่ใจได้ว่าอยู่ในช่วงต่ำสุดมอนเดอร์จริง 

การค้นพบนี้ต้องขอบคุณดาวเทียมฮิปปาร์คอสซึ่งเป็นดาวเทียมวัดตำแหน่งและระยะทางของดาวฤกษ์ ข้อมูลที่แม่นยำจากฮิปปาร์คอสช่วยให้นักดาราศาสตร์ทราบว่าดาวฤกษ์แต่ละดวงอยู่ห่างเท่าใด เมื่อเทียบกับความสว่างที่ปรากฏแล้ว จึงสามารถคำนวณพลังงานที่ดาวเหล่านั้นแผ่ออกมาได้อย่างแม่นยำ จนได้พบถึงความไม่ถูกต้องของงานวิจัยเดิม

การบ้านต่อไปของนักวิทยาศาสตร์อาจกลับมาอยู่ที่ของใกล้ตัวอย่างดวงอาทิตย์ เพราะจนบัดนี้นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงเป็นคาบ 11 ปีได้อย่างไร ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์เกิดขึ้นได้อย่างไร เคยเกิดมาแล้วกี่ครั้ง หรือจะเกิดอีกครั้งเมื่อใด

บางทีอาจเป็นพรุ่งนี้ก็ได้ 

ที่มา: