สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวแคระน้ำตาลใกล้บ้าน 95 ดวง

พบดาวแคระน้ำตาลใกล้บ้าน 95 ดวง

4 พ.ย. 2563
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวแคระน้ำตาล เป็นวัตถุที่มีสมบัติก้ำกึ่งระหว่างดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ ดูเผิน ๆ คล้ายดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ แต่ที่แก่นดาวมีปฏิกิริยาหลอมดิวทีเรียม จึงแผ่ความร้อนออกมาด้วย ดาวแคระน้ำตาลมีความหลากหลายในด้านสมบัติทางกายภาพมาก  บางดวงอาจมีอุณหภูมิพื้นผิวได้เป็นพันองศาเซลเซียส ร้อนไม่ต่างจากดาวฤกษ์ แต่ก็เคยมีการพบดาวแคระน้ำตาลที่มีอุณหภูมิต่ำได้ถึงระดับอุณหภูมิห้องบนโลก บางดวงก็เย็นพอที่จะมีเมฆที่ประกอบด้วยไอน้ำได้ หรือบางดวงอาจมีลักษณะคล้ายดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ที่มีบรรยากาศปั่นป่วน 

ดาวแคระน้ำตาลที่อุณหภูมิต่ำที่สุดคือ ไวส์ 0855 ซึ่งถูกค้นพบในปี 2557 อยู่ห่างจากโลกเพียง ปีแสง มีอุณหภูมิหนาวยะเยือกถึง -23 องศาเซลเซียส จนนักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าอาจเป็นดาวเคราะห์อิสระเสียด้วยซ้ำ 

ภาพในจินตนาการของศิลปิน ดาวแคระน้ำตาลคู่กับดาวแคระขาวที่อยู่เบื้องหลัง ดาวแคระน้ำตาลมีสมบัติก้ำกึ่งระหว่างดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ ดาวแคระน้ำตาลแผ่รังสีเช่นเดียวกับดาวฤกษ์ แต่ภายในไม่มีปฏิกิริยาหลอมไฮโดรเจน  (จาก NOIRLab/ NSF/ AURA/ P. Marenfeld/ William Pendrill/ JPL.)

เปรียบเทียบมวลทั่วไปของดาวเคราะห์ต่างระบบ ดาวแคระน้ำตาล และดาวฤกษ์ (จาก NASA/ Caltech/ R. Hurt (IPAC).)

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 องค์การนาซาได้ประกาศการค้นพบดาวแคระน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกมากถึง 95 ดวง ส่วนใหญ่อยู่ในละแวกใกล้กับระบบสุริยะของเรานี้เอง

ด้วยเหตที่เป็นวัตถุที่โดยทั่วไปมีอุณหภูมิต่ำ แผ่รังสีออกมาได้น้อย ตรวจพบได้ยาก เป็นเหตุผลหนึ่งที่เพิ่งมาถูกค้นพบเอาป่านนี้แม้จะอยู่ใกล้มาก  

ความน่าสนใจประการหนึ่งของการค้นพบครั้งนี้คือ เกิดจากการร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์บ้านจำนวนมาก เป็นผลจากโครงการแบ็กยาร์ดเวิลส์ แพลเน็ต (Backyard Worlds: Planet 9) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดยนาซา มีวัตถุประสงค์ในการค้นหาวัตถุใหม่จากคลังภาพถ่ายกองมหึมาที่ได้จากภารกิจต่าง ๆ เช่นดาวเทียมนีโอไวส์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ และจากโครงการนอยร์แล็บ (NOIRLab) ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ 

"การเพ่งหาจุดแปลกปลอมจากข้อมูลมหาศาลเช่นนี้ย่อมต้องใช้แรงงานมหาศาลเช่นกัน โครงการนี้จึงใช้อาสาสมัครที่เรียกว่า "นักวิทยาศาสตร์ชาวบ้าน" มาช่วยงานในส่วนนี้ ซึ่งโครงการนี้มีอาสาสมัครกว่า 10,000 คนทั่วโลก" แอรอน ไมส์เนอร์ จาก นอยร์แล็บ ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการและหัวหน้าผู้เขียนรายงานการค้นพบฉบับนี้อธิบาย

ภาพในจินตนาการของสภาพบรรยากาศบนดาวแคระน้ำตาล (จาก NASA/ JPL-Caltech/ University of Western Ontario/ Stony Brook U.)

การค้นพบครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า สาธารณชนก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอวกาศระยะใกล้ได้เหมือนกัน