นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวแคระน้ำตาลเป็นครั้งแรกเมื่อราวสิบปีก่อน นับจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการพบดวงใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าดาวแคราะน้ำตาลอาจมีจำนวนใกล้เคียงกับดาวฤกษ์ธรรมดาอย่างดวงอาทิตย์เลยทีเดียว
ดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ทั่วไปให้กำเนิดพลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งเป็นการแปลงไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม แต่ดาวแคระน้ำตาลมีมวลไม่ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ขึ้นได้ ความร้อนจากดาวแคระน้ำตาลเกิดจากแรงโน้มถ่วงของตัวเอง แม้จะมีพลังงานไม่มากเท่าดาวฤกษ์แต่ก็เปล่งแสงสีแดงให้พอสังเกตเห็นได้
นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตตใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลค้นหาดาวแคระน้ำตาลจาก15 บริเวณทั้งเหนือและใต้ระนาบทางช้างเผือก จากข้อมูลที่สำรวจในย่านแสงอินฟราเรดใกล้ ได้พบดาวแสงจาง 28 ดวงที่มีสีแดงมาก มีชนิดสเปกตรัมเป็นแอลหรือที ซึ่งเป็นชนิดที่เย็นที่สุด และมีอันดับความสว่าง 21 ถึง 25 เป็นไปได้มากว่าอาจเป็นดาวแคระน้ำตาล
จากการประเมินจำนวนของดาวจางที่พบใหม่นี้นักดาราศาสตร์คณะดังกล่าวเชื่อว่าในดาราจักรของเราอาจมีดาวสเปกตรัมแอลและทีมากถึงราว 100,000 ดวง หรือมากใกล้เคียงกับดาวฤกษ์ชนิดอื่นรวมกันเลยทีเดียว
ด้วยปริมาณมากมายมหาศาลนี้แสดงว่าภายในรัศมี 12 ปีแสงจากดวงอาทิตย์น่าจะมีดาวแคระน้ำตาลสักยี่สิบกว่าดวง แต่จากการสำรวจเพิ่งพบเพียง 2 ดวงเท่านั้น ทั้งสองดวงนี้อยู่ในระบบเดียวกัน นั่นคือโคจรรอบดาวเอปไซลอนอินเดียนแดง จึงเป็นไปได้ว่าอาจยังมีดวงที่ยังไม่พบหลบซ่อนอยู่อีกมาก
อย่างไรก็ตามแม้จะมีดาวแคระน้ำตาลเป็นจำนวนมาก แต่มวลรวมของดาวแคระน้ำตาลในดาราจักรก็น้อยมาก คาดว่าในดาราจักรทางช้างเผือกมีมวลรวมของดาวแคระน้ำตาลราวหนึ่งพันล้านมวลสุริยะ หรือราว 0.1 เปอร์เซ็นต์ของมวลทั้งดาราจักรเท่านั้น ดังนั้น การค้นพบว่าดาวแคระน้ำตาลมีอยู่เป็นจำนวนมากนี้จึงไม่ทำให้แนวคิดเรื่องวัตถุมืดสั่นคลอนแต่อย่างใด
วัตถุมืดเป็นวัตถุลึกลับที่นักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีอยู่จริงดาราจักรทางช้างเผือกมีมวลราวหนึ่งล้านล้านมวลสุริยะ คาดว่าเกือบทั้งหมดเป็นมวลของวัตถุมืด
ดวงอาทิตย์
นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตตใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลค้นหาดาวแคระน้ำตาลจาก
จากการประเมินจำนวนของดาวจางที่พบใหม่นี้
ด้วยปริมาณมากมายมหาศาลนี้
อย่างไรก็ตาม
วัตถุมืดเป็นวัตถุลึกลับที่นักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีอยู่จริง