สมาคมดาราศาสตร์ไทย

มลพิษทางแสงกับชะตากรรมของแมงกุดจี่นักดูดาว

มลพิษทางแสงกับชะตากรรมของแมงกุดจี่นักดูดาว

27 ส.ค. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
มลพิษทางแสง เป็นศัตรูตัวร้ายของนักดาราศาสตร์มาเป็นเวลานาน และนับวันจะยิ่งก่อปัญหาในการศึกษาดวงดาวมากขึ้นตามความเจริญของเมืองที่เพิ่มขึ้น สำหรับนักดาราศาสตร์ ปัญหานี้อาจทำให้การศึกษาท้องฟ้าและดวงดาวลำบากขึ้น แต่สำหรับด้วงขี้ควาย นี่อาจเป็นเรื่องความเป็นความตายเลยทีเดียว

ในปี 2556 งานวิจัยหนึ่งเผยว่า ด้วงขี้ควายมีความสามารถในการใช้ดวงดาวบนท้องฟ้าบอกทิศทางได้ นับเป็นความสามารถที่น่าทึ่งสำหรับสัตว์ที่ดูต้อยต่ำโสโครกเช่นนี้ 

ด้วงขี้ควาย หรือแมงกุดจี่ เป็นแมลงปีกแข็งที่กินมูลสัตว์เป็นอาหาร เมื่อพบก้อนมูลสัตว์ก็จะกลิ้งเป็นก้อนกลมแล้วใช้ขาหลังดันเพื่อกลิ้งก้อนมูลกลับไปเก็บที่รัง ในช่วงที่หาทางกลับรังนี้เองที่การรู้ทิศมีความสำคัญต่อด้วงขี้ควายเพราะจำเป็นต้องหาทางนำลาภก้อนโตกลับไปให้เร็วที่สุดก่อนที่ด้วงตัวอื่นจะมาแย่งชิงไป 

เจมส์ ฟอสเตอร์ และมารี ดักเคอ ขณะทดลองกับด้วงขี้ควายในชนบทของลิมโปโป
 (จาก Chris Collingridge)


ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวือทซ์บวร์คในเยอรมนี มหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดน และมหาวิทยาลัยวิตวาเทอร์สแรนด์ในแอฟริกาใต้ ได้ทดลองเพิ่มเติมเกี่ยวกับด้วงขี้ควายอีกครั้งโดยมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของมลพิษทางแสงต่อความสามารถในการนำทางด้วยดาวของด้วงขี้ควาย

ผลการทดลองซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเคอร์เรนต์ไบโอโลจีแสดงว่า เมื่อมีแสงรบกวน ด้วงขี้ควายจะมีอาการหลงทิศ เช่นในสถานการณ์ที่ถูกรบกวนด้วยแสงจากเมืองใหญ่ ด้วงขี้ควายมีแนวโน้มจะเดินตรงไปยังแหล่งกำเนิดแสงที่ใกล้และสว่างที่สุดแทนที่จะรีบหนีออกจากกองมูลสัตว์ การที่ด้วงแต่ละตัวต่างเดินไปในทางเดียวกัน ย่อมเพิ่มโอกาสในการปะทะและต่อสู้แย่งชิงกัน

ในสถานการณ์ที่แย่ยิ่งกว่านั้น นั่นคือมีแสงรบกวนฟุ้งกระจายไปทั่ว เช่นที่เกิดขึ้นตามชานเมือง เหล่าด้วงขี้ควายดูเหมือนจะเดินวกไปวนมาจนถึงกับหลงทางไปเลยทีเดียว

เจมส์ ฟอสเตอร์ หัวหน้านักวิจัยคณะดังกล่าวอธิบาย "ด้วงขี้ควายที่อาศัยอยู่ตามชานเมืองน่าจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางแสงมากที่สุด สัตว์อื่นที่ใช้ประโยชน์จากดวงดาวอย่างนกบางชนิดก็อาจมีปัญหาเช่นกัน" 
 
เรามักจะคิดว่ามลพิษทางแสงเป็นเรื่องของมนุษย์อย่างเดียว แต่ความจริงมันส่งผลกระทบไปถึงสรรพชีวิตชนิดอื่นด้วย สัตว์โลกล้วนแต่มีวิวัฒนาการมาเพื่อคุ้นเคยกับค่ำคืนที่มืดมิดและใช้ประโยชน์จากแสงดาว การนำความมืดตามธรรมชาติออกไปจากรัตติกาลย่อมเกิดผลต่อเนื่องตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้