สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ทำดาวเทียมให้เป็นป้ายโฆษณาลอยฟ้า

ทำดาวเทียมให้เป็นป้ายโฆษณาลอยฟ้า

6 เม.ย. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ลองจินตนาการดูถึงวันหยุดสุดสัปดาห์หนึ่ง คุณออกไปเที่ยวนอกเมืองเพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย สูดไอดินปูเสื่อนอนดูดาว แต่ระหว่างที่กำลังมองดูดาวระยิบระยับแข่งกับแสงทางช้างเผือกอยู่เพลิน ๆ ก็มีจุดสว่างเคลื่อนมาจากขอบฟ้า แวบแรกก็คล้ายกับจะเป็นดาวเทียม แต่เมื่อแสงนั้นเข้ามาใกล้เหนือศีรษะมากขึ้น ก็เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่ดาวเทียมธรรมดา เพราะจุดแสงสว่างเรียงกันเป็นอักษร "KFC"! 

คุณไม่ได้เผลอหลับฝันไป แล้วนั่นก็ไม่ใช่ยูเอฟโอ แต่เป็นป้ายโฆษณาลอยฟ้ารุ่นใหม่ชื่อ ออร์บิทัลดิสเพลย์ ของบริษัทสัญชาติรัสเซียชื่อ สตาร์ร็อกเก็ต 

ป้ายนี้ไม่ได้ลอยแบบเครื่องบินหรือบัลลูน แต่โคจรอยู่เหนือพื้นโลกขึ้นไป 450 กิโลเมตรเช่นเดียวกับดาวเทียม ประกอบด้วยฝูงของคิวบ์แซตหรือดาวเทียมจิ๋วเกาะกลุ่มเรียงกันเป็นตาราง คิวบ์แซตแต่ละดวง สามารถคลี่ใบที่ทำจากไมลาร์ให้แผ่ออกกว้าง 10 เมตรเพื่อทำหน้าที่เป็นแผ่นสะท้อนแสงอาทิตย์ ด้วยการเปิดปิดใบของคิวบ์แซตตามรูปแบบ ก็สามารถกำหนดรูปแบบของอักษรหรือรูปภาพที่แสดงบนฟ้าได้ เช่นเดียวกับป้ายโฆษณาทั่วไป นอกจากจะใช้โฆษณาเพื่อการค้าแล้ว ยังมีประโยชน์สำหรับในการแจ้งข่าวในภาวะฉุกเฉินได้ด้วย

ป้ายโฆษณาแห่งอนาคต อาจลอยมาบนฟ้าแบบนี้
 (จาก Orbital Display/Vimeo screengrab)


นักถ่ายภาพท้องฟ้า หรือนักดาราศาสตร์ คงไม่ชอบแน่ ๆ หากยามค่ำคืนจะมีข้อความแบบนี้ลอยมา   (จาก Orbital Display/Vimeo screengrab)


แต่เรื่องนี้นักดาราศาสตร์ไม่ปลื้ม เพราะมองว่าเป็นการเพิ่มมลพิษทางแสงบนท้องฟ้าอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นศัตรูตัวร้ายของวิชาดาราศาสตร์มาทุกยุคทุกสมัย 

จอห์น บาเรนไทน์ ผู้อำนวยการของสมาคมฟ้ามืดสากลที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในทูซอน แอริโซนา กล่าวว่า บิลบอร์ดแบบนี้เป็นทั้งแหล่งกำเนิดมลพิษทางแสงและเป็นทั้งขยะอวกาศ และอาจรบกวนสัญญาณวิทยุอีกด้วย วัตถุประเภทนี้เป็นอุปสรรคต่อการวิจัยทางดาราศาสตร์จากภาคพื้นดิน สิ่งที่เขากล่าวถึงไม่เพียงแต่ออร์บิทัลดิสเพลย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคิวบ์แซตอีกไม่น้อยกว่า 7,500 ดวงที่สเปซเอกซ์มีแผนจะปล่อยขึ้นสู่อวกาศในอนาคตอีกด้วย 

ทางฝ่ายสตาร์ร็อกเก็ตได้แย้งว่า เรื่องนี้ไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้ก็มีแหล่งกำเนิดแสงคล้าย ๆ กับบนท้องฟ้าอยู่แล้ว ดาวเทียมจำนวนมากที่โคจรบนท้องฟ้าก็สะท้อนแสงอาทิตย์จนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเวลาสั้น ๆ ซึ่งมองเห็นได้คืนละหลายสิบดวง บางดวงก็สว่างมาก เช่นดาวเทียมอิริเดียม ซึ่งมีมากถึง 66 ดวง แสงสะท้อนจากดาวเทียมอิริเดียมบางครั้งอาจสว่างได้ถึงอันดับ -8 (สว่างกว่าดาวศุกร์ช่วงที่สว่างที่สุดราว 25 เท่า!) แสงจากออร์บิทัลดิสเพลย์ก็จะมีความสว่างพอ ๆ กับอิริเดียม 

และเช่นเดียวกับดาวเทียมทั่วไป ออร์บิทัลดิสเพลย์มองเห็นได้เฉพาะช่วงหัวค่ำและเช้ามืดเท่านั้น จะไม่มีวันมาส่องแสงตอนเที่ยงคืนแน่นอน นอกจากนี้ด้วยลักษณะการโคจร ทำให้แต่ละพื้นที่มีโอกาสเห็นออร์บิทัลดิสเพลย์ได้ไม่ทุกวัน อาจมองเห็นต่อเนื่องกันเพียงไม่กี่วัน แล้วก็จะหายไปอีกเป็นสัปดาห์ก่อนจะกลับมาให้เห็นอีก และการเห็นแต่ละครั้งก็กินเวลาเพียงไม่เกิน นาทีเท่านั้น

"แค่แวะไปฉี่หรือไปซดกาแฟสักแก้ว กลับมาแสงก็หายไปหมดแล้ว" วลาดิเลน ซิตนิคอฟ ประธานกรรมการของสตาร์ร็อกเก็ตกล่าว

แนวคิดเรื่องนำเอากระจกสะท้อนแสงไปไว้บนฟ้าไม่ใช่ของใหม่ ก่อนหน้านี้ไม่นานจีนเคยเสนอที่จะปล่อย "ดวงจันทร์เทียม" ขึ้นไปบนฟ้าเพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืนแทนการใช้โคมไฟส่องถนน แต่โครงการนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น อีกรายหนึ่ง ฮิวแมนิตีสตาร์ ก็เพิ่งส่งลูกบอลดิสโก้ขนาดใหญ่ขึ้นไปส่องสว่างบนวงโคจรมาแล้ว 

ย้อนหลังไปในปี 2466 นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน เฮอร์มันน์ โอแบร์ท ได้เสนอแนวคิดที่สร้างอาวุธมหาประลัยด้วยการนำกระจกกว้าง 100 เมตรขึ้นไปไว้บนวงโคจรเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ลงมา แต่ก็ไม่เคยมีการสร้างขึ้นมาจริง ๆ 

ในแง่วิศวกรรม การสร้างออร์บิทัลดิสเพลย์ไม่ใช่เรื่องง่าย การจัดขบวนของคิวบ์แซตแต่ละดวงให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องจำเป็นต้องมีระบบขับเคลื่อนในตัว แผ่นไมลาร์ที่กว้างใหญ่นอกจากทำหน้าที่เป็นแผ่นสะท้อนแสงแล้วยังเป็นตัวต้านอากาศที่ดีอีกด้วย สมบัติข้อนี้ทำให้คิวบ์แซตแต่ละดวงเสียความเร็วและตกลงสู่โลกในเวลาอันรวดเร็วหากไม่มีระบบขับดันเพื่อรักษาความเร็ว 

ขณะนี้ ออร์บิทัลดิสเพลย์ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยเป็นโครงการร่วมระหว่างสตาร์ร็อกเก็ตกับมหาวิทยาลัยสโกลเทคในกรุงมอสโก คาดว่าดาวเทียมชุดแรกจะพร้อมนำขึ้นสู่วงโคจรได้ในปีนี้ และพร้อมใช้งานได้จริงในปี 2564