สมาคมดาราศาสตร์ไทย

กระจุกดาวรวมร่าง

กระจุกดาวรวมร่าง

16 ต.ค. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
กระจุกดาวเปิด เป็นวัตถุท้องฟ้าที่เป็นที่สนใจเสมอ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของนักดาราศาสตร์หรือนักดูดาว 

กระจุกดาวเปิดประกอบด้วยดาวฤกษ์ที่มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มแก๊สก้อนเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เกาะกลุ่มกันอยู่อย่างหลวม ๆ และเคลื่อนที่ไปในอวกาศด้วยกัน ปัจจุบันนักดาราศาสตร์พบกระจุกดาวเปิดในดาราจักรทางช้างเผือกหลายพันกระจุก 

กระจุกดาวมีสองชนิด ได้แก่กระจุกดาวเปิดและกระจุกดาวทรงกลม กระจุกดาวเปิดต่างจากกระจุกดาวทรงกลมมาก ในขณะที่กระจุกดาวทรงกลมมีอายุเก่าแก่และอายุยืนมาก กระจุกดาวเปิดกลับมีอายุไม่ยืนนัก หลังจากที่โคจรรอบใจกลางดาราจักรได้ไม่กี่รอบ สภาพของกระจุกก็จะค่อย ๆ สลายไป 

กระจุกดาวคู่ในเนบิวลาบึ้ง อยู่ในดาราจักรเมฆมาเจลันใหญ่ คาดว่ากระจุกดาวคู่นี้กำลังจะชนและหลอมรวมกันในที่สุด นักดาราศาสตร์พบว่า กระจุกดาวเอ็นจีซี 1605 ที่อยู่ในดาราจักรทางช้างเผือกก็เป็นกระจุกดาวคู่ที่กำลังชนกันเหมือนกัน (จาก NASA)

ปกติโอกาสที่กระจุกดาวเปิดจะเคลื่อนมาอยู่ใกล้กันเกิดขึ้นได้ยากอยู่แล้ว โอกาสที่จะเข้ามาใกล้กันมากจนกลายเป็นกระจุกดาวคู่ก็ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก โอกาสที่ชนกันและรวมกันเป็นกระจุกดาวเดียวก็ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

เดนิลโซ คามาร์โก นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกลางรีอูกรันดีดูซูลในโปร์ตูอาเลกรี ประเทศบราซิล ได้วิเคราะห์กระจุกดาว เอ็นจีซี 1605 โดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมไกอาและจากกล้องไวส์ของนาซา  และพบว่า แท้จริงแล้วมันไม่ใช่กระจุกเดี่ยว แต่เป็นกระจุกดาวสองกระจุกที่กำลังจะรวมกันเป็นกระจุกเดียว 

แผนที่กลุ่มดาวเพอร์ซิอัส แสดงตำแหน่งของกระจุกดาวเอ็นจีซี 1605  (จาก BFCSpace.com)

กระจุกดาว เอ็นจีซี 1605 ค้นพบโดย วิลเลียม เฮอร์เชล เมื่อปี ค.ศ. 1786 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 8,300 ปีแสง ในกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส มีอันดับความสว่าง 11 มองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาด นิ้วขึ้นไป เป็นกระจุกดาวที่มีรูปร่างสวยงาม จึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักดูดาว แต่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนเลยว่าแท้จริงแล้วกระจุกดาวที่สวยงามแห่งนี้เป็นกระจุกดาวคู่

กระจุกดาวทั้งสอง ได้ชื่อแยกกันว่า เอ็นจีซี 1605 เอ และ เอ็นจีซี 1605 บี ที่น่าสนใจคือกระจุกดาวแรกมีอายุเก่าแก่ถึงสองพันล้านปี ส่วนอีกกระจุกหนึ่งมีอายุเพียง 600 ล้านปีเท่านั้น

กระจุกดาวคู่ส่วนใหญ่มีอายุน้อย ซึ่งบ่งบอกว่าดาวจากทั้งสองกระจุกมีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มแก๊สก้อนเดียวกันที่แยกออกมาเป็นสองกลุ่ม ดังนั้นกระจุกดาวทั้งสองกระจุกก็ควรมีอายุเท่ากันหรือไล่เลี่ยกัน ไม่ใช่ห่างกันหลายเท่าตัวแบบกรณีของเอ็นจีซี 1605 

นั่นหมายความว่าในกรณีของเอ็นจีซี 1605 กระจุกดาวทั้งคู่มีต้นกำเนิดจากต่างถิ่นกัน ต่อมามีเคลื่อนที่มาเข้าใกล้กันจนกระทั่งบรรจบกัน ปัจจุบันทั้งเอ็นจีซี 1605 เอ และ เอ็นจีซี 1605 บี เข้าใกล้กันมากจนทับเหลื่อมกันบางส่วนแล้ว แรงน้ำขึ้นลงซึ่งเป็นอันตรกิริยาทางความโน้มถ่วงระหว่างกระจุกดาวทั้งสองทำให้มีดาวสมาชิกจำนวนหนึ่งในกระจุกหลุดลอยออกไปเป็นสาย 

"การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญมาก กระจุกดาวคู่นี้อาจช่วยพิสูจน์ทฤษฎีต่าง ๆ ได้ ทั้งเรื่องการกำเนิดกระจุกดาวคู่จากการคว้าจับโดยความโน้มถ่วง การกำเนิดกระจุกดาวขนาดใหญ่จากการหลอมรวมของกระจุกดาวเล็ก และการฉีกสลายระบบดาวฤกษ์จากการรบกวนของแรงน้ำขึ้นลง" คามาร์โกอธิบาย

ที่มา: