สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุแถบไคเปอร์ยักษ์

วัตถุแถบไคเปอร์ยักษ์

1 ธ.ค. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบวัตถุแถบไคเปอร์ดวงใหม่อีกดวงหนึ่ง วัตถุนี้มีชื่อว่า 2000 WR106 อันดับความสว่าง 20 อยู่ถัดจากดาว เอปไซลอน คนคู่ ไปทางใต้ไปประมาณ 1.5 องศา จากการคำนวณเบื้องต้นพบว่ามันมีขนาดถึง 1,000 กิโลเมตร วัตถุดวงนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดย โรเบิร์ต เอส. แมกมิลแลน และ เจฟฟรีย์ เอ. ลาร์เซน จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาด้วยกล้องสเปซวอตช์ขนาด 0.9 เมตรที่ยอดเขาคิตต์ เขาค้นพบโดยการมองภาพดาวบนจอคอมพิวเตอร์และสังเกตพบว่าวัตถุนี้มีการเปลี่ยนตำแหน่งไป การเปลี่ยนตำแหน่งนี้เป็นไปอย่างช้ามากจนซอฟต์แวร์ตรวจจับการเคลื่อนที่อัตโนมัติของสเปซวอตช์ตรวจจับไม่ได้

2000 WR106 อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 43 หน่วยดาราศาสตร์หรือประมาณ 6.4 ล้านกิโลเมตร ซึ่งแสดงว่าเป็นวัตถุแถบไคเปอร์ที่อยู่นอกวงโคจรของพลูโต แต่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์นี้ยังเป็นตัวเลขประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น การหาระยะห่างที่แท้จริงจำเป็นต้องอาศัยการสังเกตการณ์ที่ยาวนานมากกว่านี้ และเนื่องจากระยะห่างยังเป็นตัวเลขที่ไม่แน่นอน จึงยังไม่สามารถประมาณขนาดของ 2000 WR106 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไบรอัน จี. มารส์เดน จากศูนย์ดาวเคราะห์น้อยของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลให้ความเห็นว่า ระยะห่างที่แท้จริงไม่น่าจะต่างจากตัวเลขนี้มากนัก คุณสมบัติอีกด้านหนึ่งที่ยังไม่ทราบของวัตถุดวงนี้ก็คือ อัลบีโด หาก 2000 WR106 สะท้อนแสงได้มากแบบเดียวกับพลูโตหรือคารอน เส้นผ่านศูนย์กลางของมันก็ไม่น่าจะเกิน 500 กิโลเมตร หรือพอๆ กับดาวเคราะห์น้อยเวสตา แต่นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าวัตถุแถบไคเปอร์เป็นวัตถุสีดำมืดเช่นเดียวกับนิวเคลียสของดาวหางมากกว่า หากเป็นเช่นนั้น 2000 WR106 ก็จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1,200 กิโลเมตร หรือใหญ่กว่า ซีรีส ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุดเสียอีก

ภาพที่ค้นพบ 2000 WR<sub>106</sub> (SpaceWatch)

ภาพที่ค้นพบ 2000 WR<sub>106</sub> (SpaceWatch)

ที่มา: