สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ทฤษฎีใหม่ชี้ อีก 15 ปีมีหนาว วัฏจักรสุริยะจะอ่อนลง 60 เปอร์เซ็นต์

ทฤษฎีใหม่ชี้ อีก 15 ปีมีหนาว วัฏจักรสุริยะจะอ่อนลง 60 เปอร์เซ็นต์

13 ก.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ได้สร้างแบบจำลองของวัฏจักรสุริยะใหม่ ซึ่งอธิบายการเกิดวัฏจักรสุริยะ และพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำอย่างที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน ผลการพยากรณ์นี้ยังบอกว่าโลกอาจเข้าสู่ยุคแห่งความหนาวเย็นอีกครั้งในอีก 15 ปีข้างหน้า

ศ.วาเลนตินา ซาร์โควา ได้นำเสนอแบบจำลองและผลการพยากรณ์นี้ในที่ประชุมสมาคมดาราศาสตร์หลวงแห่งสหราชอาณาจักรที่แลนดิดโนเมื่อวันที่ กรกฎาคมที่ผ่านมา

เป็นเวลากว่า 172 ปีมาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าดวงอาทิตย์มีกัมมันตภาพที่ขึ้นลงเป็นวัฏจักรโดยมีคาบประมาณ 11 ปี แต่ละวัฏจักรมีคาบผันแปรไประหว่าง 10-12 ปีโดยที่ไม่มีแบบจำลองใดอธิบายถึงที่มาได้ นักฟิสิกส์สุริยะจำนวนมากเชื่อว่าวัฏจักรนี้เกิดจากปรากฏการณ์ไดนาโมที่เกิดขึ้นโดยกระแสไหลวนของแก๊สร้อนภายในดวงอาทิตย์  ล่าสุด ซาร์โควาและคณะได้เสนอทฤษฎีใหม่ แบบจำลองของทฤษฎีนี้อธิบายว่าไดนาโมชุดที่สองอยู่ใกล้ผิวดวงอาทิตย์มากกว่า ทฤษฎีใหม่นี้อธิบายและพยากรณ์วัฏจักรได้ถูกต้องแม่นยำอย่างเหลือเชื่อ 

ซาร์โควาอธิบายว่า "เราพบว่าองค์ประกอบคลื่นแม่เหล็กปรากฏเป็นคู่ เกิดจากชั้นสองชั้นภายในโครงสร้างของดวงอาทิตย์ ทั้งสองมีวัฎจักรประมาณ 11 ปี ช่วงคาบต่างกันเล็กน้อยและเหลื่อมเวลากัน ตลอดระยะของวัฏจักร คลื่นทั้งสองเปลี่ยนแปลงขึ้นลงระหว่างซีกเหนือและซีกใต้ของดวงอาทิตย์ เมื่อรวมคลื่นทั้งสองเข้าด้วยกันและเปรียบเทียบผลที่ได้กับข้อมูลจากการสังเกตการณ์จริงของวัฏจักรปัจจุบัน พบว่าทฤษฎีใหม่นี้มีความแม่นยำถึง 97 เปอร์เซ็นต์"   นอกจากนี้เมื่อนำแบบจำลองนี้มาพยากรณ์จำนวนจุดมืดเฉลี่ย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของวัฏจักรสุริยะ ก็พบว่าให้ผลใกล้เคียงกับค่าที่ได้จากการสังเกตการณ์มากเช่นกัน

คณะของซาร์โควาคิดแบบจำลองใหม่นี้โดยอาศัยเทคนิคที่เรียกว่า การวิเคราะห์องค์ประกอบหลักจากการสังเกตสนามแม่เหล็กที่ได้จากหอสังเกตการณ์สุริยะวิลคอกในแคลิฟอร์เนีย นักดาราศาสตร์กลุ่มนี้ได้ตรวจสอบกัมมันตภาพด้านสนามแม่เหล็กในช่วงสามวัฏจักรที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2519 ถึง 2551 

เมื่อมองไปยังอนาคตข้างหน้า วัฏจักรถัดไปจะเป็นวัฏจักรที่ 25 แบบจำลองใหม่นี้คาดการณ์ว่าคลื่นทั้งสองจะเหลื่อมเวลากันมากขึ้น และจะถึงช่วงสูงสุดของวัฏจักรในปี 2565 ส่วนในวัฏจักรที่ 26 ซึ่งอยู่ในช่วงทศวรรษ 2030-2040 คลื่นทั้งสองจะเหลื่อมกันมากขึ้นจนถึงกับต้านกันเอง ส่งผลให้กัมมันตภาพสุริยะลดลงไปเป็นอย่างมาก

ซาร์โควาเสริม "เราเชื่อว่าปรากฏการณ์แบบนี้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดช่วงต่ำสุดมอนเดอร์"

ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ หมายถึงช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2188-2258 ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์มีกัมมันตภาพน้อยมาก แทบไม่มีรายงานการพบเห็นจุดมืดบนดวงอาทิตย์เลย และเป็นช่วงที่อากาศในยุโรปหนาวเย็นผิดปรกติ ถึงระดับที่น้ำในแม่น้ำเทมส์แข็งเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว นักวิทยาศาสตร์เปรียบเปรยช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็น "ยุคน้ำแข็งย่อม"

หากแบบจำลองของซาร์โควานี้ถูกต้อง อีกเพียง 15 ปีข้างหน้าเราคงไม่ต้องมาบ่นว่าอากาศร้อนกันอีกนาน เพราะโลกอาจเข้าสู่ "ยุคน้ำแข็งย่อม" อีกครั้งหนึ่งก็ได้
ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ในย่านรังสีอัลตราไวโอเล็ตที่ถ่ายในช่วงหนึ่งวัฏจักร ระหว่างปี 2534 ถึงปี 2544 แสดงถึงกัมมันตภาพที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากวัฏจักรสุริยะ

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ในย่านรังสีอัลตราไวโอเล็ตที่ถ่ายในช่วงหนึ่งวัฏจักร ระหว่างปี 2534 ถึงปี 2544 แสดงถึงกัมมันตภาพที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากวัฏจักรสุริยะ (จาก Yohkoh/ISAS/Lockheed-Martin/NAOJ/U. Tokyo/NASA)

ที่มา: