สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุลึกลับบดบังดาวเอปไซลอนสารถี

วัตถุลึกลับบดบังดาวเอปไซลอนสารถี

14 เม.ย. 2553
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในบรรดาดาวฤกษ์ที่พิสดารที่สุดบนท้องฟ้า ดาวเอปไซลอนสารถี (Epsilon Aurigae) คงต้องอยู่ในอันดับต้น ๆ นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาดาวดวงนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1821 พบว่าทุก 27 ปี ดาวดวงนี้จะหรี่แสงลง 2.9 3.8 อันดับเป็นเวลา 640-730 วัน แม้ส่วนใหญ่จะคิดเห็นตรงกันว่าเป็นดาวแปรแสงประเภทดาวคู่อุปราคา นั่นคือประกอบด้วยดาวฤกษ์สองดวงโคจรรอบกันเองโดยมีระนาบการโคจรหันข้างมายังโลก เมื่อสังเกตจากโลกจึงพบการหรี่แสงลงรอบละสองครั้งซึ่งเกิดจากการบังกันเองระหว่างดาวทั้งสอง 
แต่ในกรณีของดาวเอปไซลอนสารถี ดาวดวงรองที่บังดาวหลักมีความสว่างต่ำมาก ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าสิ่งที่มาบังนั้นอาจไม่ใช่ดาว อาจเป็นหลุมดำ หรือสิ่งอื่น
ทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า สิ่งที่เข้ามาบังดาวฤกษ์หลักนั้นเป็นจานฝุ่นแน่นทึบ หันเอาด้านขอบชี้มายังโลกเกือบพอดี ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาพถ่ายล่าสุดที่ถ่ายโดยอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน
คณะสำรวจจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้พัฒนาอุปกรณ์ใหม่มีชื่อว่า เมิร์ก (MIRC--Michigan Infra-Red Combiner) ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคอินเตอร์เฟอโรเมทรีในการรวมแสงจากแถวลำดับกล้องโทรทรรศน์ชารา (CHARA) ที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์เจียสเตตและขยายขึ้นเพื่อให้ได้ภาพที่เหมือนกับกล้องที่ใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถึง 100 เท่า ผลที่ได้ก็คือ ภาพที่แสดงความสว่างที่แตกต่างกันบนพื้นผิวของดาวเลยทีเดียว ต่างจากในอดีตที่ทำได้เพียงมองเห็นจุดแสงเท่านั้น นี่ทำให้นักดาราศาสตร์ได้เห็นภาพการเกิดอุปราคาของดาวดวงอื่นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก 
ภาพที่ได้ไม่ได้แสดงภาพสีสันของจานฝุ่น เพราะมืดสนิท แต่มองเห็นภาพเงาเป็นโครงร่างที่ไปบังภาพดาวเอปไซลอนสารถีเท่านั้น
นับเป็นโชคประการหนึ่งที่ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เกิดอุปราคาอยู่พอดี การบังครั้งปัจจุบันเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 และได้กลายเป็นมหกรรมการสำรวจครั้งใหญ่โดยนักดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นจากทั่วโลกร่วมกันเฝ้าสำรวจดาวดวงนี้
ภาพถ่ายที่ได้ในครั้งนี้นอกจากจะสนับสนุนทฤษฎีจานฝุ่นแล้ว ยังพบว่าจานนี้บางแบนมาก แต่ยังมีส่วนที่เป็นชั้นโปร่งแสงที่พอมองผ่านได้ขณะที่บังดาวเอปไซลอนสารถี ภาพวาดตามแบบจำลองของดาวดวงนี้ตามข้อมูลใหม่จึงวาดให้จานฝุ่นมีลักษณะแบนเหมือนโรตี  แทนภาพเดิมที่อิงจากข้อมูลสำรวจจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ซึ่งให้ภาพของจานนี้หนาฟูเหมือนก้อนเหมือนโดนัท
เนื่องจากวัตถุที่บังมืดมาก จึงมองไม่เห็นการสะท้อนแสงใด ๆ นักดาราศาสตร์ยังหวังว่าการบังกันครั้งต่อไปอาจจะมีแสงกระเจิงออกมาให้ศึกษาได้บ้าง แต่การทำอย่างนั้นจำป็นต้องใกล้กล้องที่มีกำลังแยกภาพสูงและช่วงความยามคลื่นกว้างมากด้วย

ด้วยการใช้เทคนิคอินเตอร์เฟอโรเมทรี ทำให้นักดาราศาสตร์มองเห็นการบังดาวได้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ภาพนี้แสดงจานฝุ่นมืดทึบเข้าบังดาวเอปไซลอนสารถี ซึ่งเกิดขึ้นทุก 27 ปี

ด้วยการใช้เทคนิคอินเตอร์เฟอโรเมทรี ทำให้นักดาราศาสตร์มองเห็นการบังดาวได้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ภาพนี้แสดงจานฝุ่นมืดทึบเข้าบังดาวเอปไซลอนสารถี ซึ่งเกิดขึ้นทุก 27 ปี

ภาพวาดตามจินตนากรของศิลปิน โดยอาศัยข้อมูลจากกล้องสปิตเซอร์ แสดงภาพของจานฝุ่นที่บังมีลักษณะฟูหนา แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าจานที่บังมีความบางมาก

ภาพวาดตามจินตนากรของศิลปิน โดยอาศัยข้อมูลจากกล้องสปิตเซอร์ แสดงภาพของจานฝุ่นที่บังมีลักษณะฟูหนา แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าจานที่บังมีความบางมาก (จาก spitzer)

ที่มา: