สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวฤกษ์จิ๋ว เล็กกว่าดาวพฤหัสบดี

พบดาวฤกษ์จิ๋ว เล็กกว่าดาวพฤหัสบดี

Twinkle twinkle Saturn-sized star.

13 ก.ค. 2560
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวฤกษ์ดวงใหม่ดวงหนึ่ง เป็นดาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่เคยพบมา

ดาวดวงนี้มีชื่อว่า อีบีแอลเอ็ม เจ 0555-57 เอบี (EBLM J0555–57Ab) อยู่ห่างออกไป 600 ปีแสง เป็นสมาชิกของระบบดาวคู่ ๆ หนึ่ง มีขนาดใหญ่กว่าดาวเสาร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

เป็นขนาดที่เรียกได้ว่าเล็กที่สุดเท่าที่ดาวฤกษ์จะเล็กได้ หากมีขนาดเล็กกว่านี้เพียงเล็กน้อย ความดันภายในดาวจะน้อยเกินกว่าจะรักษากระบวนการหลอมไฮโดรเจนซึ่งเป็นกลไกหลักในการเป็นดาวฤกษ์ไว้ได้ กลายเป็นวัตถุอีกชนิดหนึ่งไปเรียกว่า ดาวแคระน้ำตาล

นอกจากจะเล็กจิ๋วแล้ว ดาวฤกษ์ดวงนี้ยังส่องแสงริบหรี่มาก ความเข้มแสงที่แผ่ออกมาน้อยกว่าของดวงอาทิตย์ 2,000-3,000 เท่า

หลักการที่ใช้ค้นพบดาวดวงนี้เหมือนกับหลักการค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบด้วยการสังเกตการผ่านหน้า ดาวอีบีแอลเอ็ม เจ 0555-57 เอบีถูกค้นพบขณะโคจรผ่านหน้าดาวสหายที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ชื่อ อีบีแอลเอ็ม เจ 0555-57 เอ (EBLM J0555–57A) การที่ดาวที่ผ่านหน้ามีกำลังอ่อนกว่าดาวที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้แสงรวมของทั้งคู่ลดลงเมื่อมองจากโลก การที่พบว่าแสงลดลงเป็นรายคาบเป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นผลจากการโคจร

ในตอนแรกนักดาราศาสตร์ก็ไม่คิดว่าวัตถุที่ผ่านหน้าดวงนี้เป็นดาวฤกษ์ ต่างพากันคิดว่านี่เป็นดาวเคราะห์ต่างระบบ จนเมื่อมีการสำรวจเพิ่มเติมโดยนักวิจัยจากโครงการวอส์ป จึงทราบว่าวัตถุดวงนี้มีมวลใกล้เคียงกับ ดาวแทรปพิสต์-1 ที่เป็นข่าวโด่งดังไปเมื่อต้นปี แต่มีขนาดเล็กกว่าแทรปพิสต์-1 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวฤกษ์จิ๋วดวงนี้อาจมีดาวเคราะห์ที่มีสภาพเอื้ออาศัยเป็นบริวารด้วยเช่นกัน

ดาวฤกษ์ที่มีมวลต่ำมากเช่นนี้ (ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์) เป็นประเภทที่มีจำนวนมากที่สุดในเอกภพ แต่การที่มีแสงริบหรี่มากและมักถูกบดบังโดยแสงจ้าจากดาวที่สว่างกว่ามาก นักดาราศาสตร์จึงยังรู้จักดาวประเภทนี้ดีนัก แต่อย่างน้อยการค้นพบครั้งนี้ก็แสดงให้รู้ว่าดาวฤกษ์เล็กได้มากขนาดไหน

(จาก Amanda Smith)

ที่มา: