สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ 27 พฤษภาคม 2565

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ 27 พฤษภาคม 2565

26 พฤษภาคม 2565 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 ดวงจันทร์จะบังดาวศุกร์ในเวลากลางวัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยกเว้นภาคเหนือตอนบน อยู่ใต้เงาของดวงจันทร์ แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลากลางวัน ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าโปร่ง กล้องโทรทรรศน์ (อาจรวมถึงกล้องสองตา) มีโอกาสสังเกตได้หากทราบตำแหน่งที่แน่นอนของดวงจันทร์บนท้องฟ้า สิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคคือสภาพท้องฟ้าในเดือนนี้ที่มักจะมีเมฆมาก

การเคลื่อนที่ของดาวศุกร์เทียบกับดวงจันทร์ระหว่างเกิดการบังกันในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

โดยทั่วไป เวลาที่ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าในเวลากลางวัน เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ เนื่องจากพื้นผิวดวงจันทร์สว่างพอให้สังเกตด้วยตาเปล่า ดาวศุกร์มีความสว่างพื้นผิวมากกว่าดวงจันทร์ จึงสามารถเห็นได้เช่นกัน แต่ด้วยขนาดที่เล็กกว่ามาก ทำให้ระบุตำแหน่งบนท้องฟ้าได้ยาก เมื่อเกิดการบังกัน ดวงจันทร์อยู่เคียงดาวศุกร์ เราจึงมีโอกาสสังเกตดาวศุกร์ในช่วงก่อนและหลังการบัง

วันนั้นดวงจันทร์เป็นเสี้ยว อยู่ห่างดวงอาทิตย์ 37°-38° เริ่มบังดาวศุกร์ที่ด้านสว่างแล้วสิ้นสุดการบังที่ด้านมืดของดวงจันทร์ ขณะเกิดการบัง ดวงจันทร์อยู่สูงบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก เกือบถึงจุดเหนือศีรษะ เมื่อเริ่มบัง ดาวศุกร์อยู่ที่ขอบด้านสว่างของดวงจันทร์

แต่ละสถานที่เกิดการบังไม่พร้อมกัน ตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ เริ่มเวลา 09:58 น. สิ้นสุดเวลา 11:14 น. ขอนแก่นเริ่มเวลา 10:11 น. สิ้นสุดเวลา 11:22 น. นครราชสีมาเริ่มเวลา 10:04 น. สิ้นสุดเวลา 11:20 น. นครศรีธรรมราชเริ่มเวลา 09:36 น. สิ้นสุดเวลา 11:10 น. ประจวบคีรีขันธ์เริ่มเวลา 09:49 น. สิ้นสุดเวลา 11:11 น. ระยองเริ่มเวลา 09:54 น. สิ้นสุดเวลา 11:17 น. สงขลาเริ่มเวลา 09:32 น. สิ้นสุดเวลา 11:11 น. อุบลราชธานีเริ่มเวลา 10:06 น. สิ้นสุดเวลา 11:30 น. (เวลาที่แสดงนี้ คิดตอนที่ศูนย์กลางของดาวศุกร์อยู่ที่ขอบดวงจันทร์)

แผนที่บริเวณที่เห็นการบังกัน (ภายในพื้นที่ล้อมรอบด้วยเส้นสีน้ำเงิน) (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ครั้งถัดไปที่สังเกตได้ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 24 มีนาคม 2566

ดูเพิ่ม


 ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ที่เห็นได้ในประเทศไทย พ.ศ. 2555-2584