สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14

ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14

8 มกราคม 2556
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
2012 ดีเอ 14 (2012 DA14) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่จะเฉียดใกล้โลกในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ชื่อของดาวเคราะห์น้อยมาจากปีที่ค้นพบ ตามด้วยตัวอักษรและตัวเลข ซึ่งบ่งบอกถึงลำดับการค้นพบในปีนั้น 2012 ดีเอ 14 อยู่ในกลุ่มของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรตัดวงโคจรของโลก นักดาราศาสตร์เฝ้าติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุเหล่านี้ เพื่อคำนวณว่ามันจะเข้าใกล้โลกหรือดาวเคราะห์ดวงอื่นเมื่อใด และมีโอกาสชนหรือไม่

ขนาดและวงโคจร


2012 ดีเอ 14 มีขนาดราว 44 เมตร (ยังไม่ทราบขนาดที่แน่นอน คาดว่าอยู่ในช่วง 25-75 เมตร) ค้นพบเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ที่หอดูดาวลาซากรา (La Sagra) ในสเปน ปัจจุบันโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีด้วยคาบ 366.2 วัน ใกล้เคียงกับคาบการโคจรของโลก และวงโคจรเอียงทำมุม 10° กับระนาบวงโคจรโลก (คาบและวงโคจรจะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากผ่านใกล้โลก)

การเข้าใกล้โลก


ภาพต่อเนื่อง แสดงการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 ที่หอดูดาวลาซากราบันทึกภาพไว้ได้ (จาก La Sagra Sky Survey)

การคำนวณย้อนไป พบว่าดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 ได้ผ่านใกล้โลกเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 (ก่อนค้นพบหนึ่งสัปดาห์) ที่ระยะห่าง 2.6 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 6.5 เท่าของระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลก-ดวงจันทร์ 2012 ดีเอ 14 จะใกล้โลกอีกครั้งในปี 2556 แต่เฉียดใกล้กว่าปี 2555 คาดว่าขณะใกล้ที่สุดจะอยู่ห่างจากศูนย์กลางโลกเพียง 35,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็นระยะทางราว 28,600 กิโลเมตร จากผิวโลก ใกล้กว่าความสูงของดาวเทียมค้างฟ้า ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีคาบการโคจรเท่ากับคาบการหมุนของโลก

ข้อมูล ณ ต้นเดือนมกราคม 2556 จากเว็บไซต์ขององค์การนาซา (JPL Solar System Dynamics http://ssd.jpl.nasa.gov/) ระบุว่าขณะที่ 2012 ดีเอ 14 ผ่านใกล้โลกที่สุด มันน่าจะอยู่ห่างจากศูนย์กลางโลก 35,000 กิโลเมตร แต่เมื่อคำนึงถึงความไม่แน่นอนของวงโคจร มันอาจใกล้กว่านี้ที่ระยะ 27,100 กิโลเมตร หรือไกลกว่านี้ที่ระยะ 52,900 กิโลเมตร ซึ่งหากเปรียบเทียบกับดาวเทียมค้างฟ้า ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางโลก 42,160 กิโลเมตร (จากผิวโลก 35,780 กิโลเมตร) เราจะพบมีโอกาสที่ 2012 ดีเอ 14 อาจชนกับดาวเทียม แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะน้อยมากจนกล่าวได้ว่าแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น [ดูข้อมูลปรับปรุงล่าสุดท้ายบทความ]

หมายเหตุ ดาวเทียมจีพีเอส (GPS) ซึ่งมีอยู่หลายดวง อยู่ห่างจากศูนย์กลางโลกที่ระยะทางเฉลี่ย 26,560 กิโลเมตร ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 จึงไม่มีโอกาสชนดาวเทียมจีพีเอส

การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 ขณะผ่านใกล้โลกในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2556 ตามเวลาประเทศไทย (ในมุมมองจากดาวเคราะห์น้อย) สีเหลืองคือวงโคจรของดาวเทียมไทยคม และไทยคม ซึ่งเป็นดาวเทียมค้างฟ้า แสดงไว้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ (มุมบนซ้ายแสดงระยะห่างของดาวเคราะห์น้อยจากผิวโลก มุมบนขวาแสดงเวลาประเทศไทย)

การสังเกตจากพื้นโลก


การเข้าใกล้โลกครั้งนี้สามารถสังเกตได้ดีจากประเทศในแถบยุโรป แอฟริกา และพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชีย โดยเฉพาะทางด้านตะวันตก รวมทั้งประเทศไทย ขณะสว่างที่สุด ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจสว่างถึงระดับที่สังเกตเห็นได้ด้วยกล้องสองตาภายใต้ท้องฟ้ามืด โดยคาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับดาวเนปจูน หรืออาจสว่างกว่าเล็กน้อย ปรากฏเป็นจุดคล้ายดาว เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วจากซีกฟ้าใต้ไปซีกฟ้าเหนือ (ขนาดปรากฏเล็กมาก ราว 0.3 พิลิปดา) เดิมคาดว่าหลังจากใกล้โลกที่สุดได้ไม่นาน มันจะผ่านเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกนานประมาณ 18 นาที แต่วงโคจรล่าสุด (ปรับปรุงเมื่อ 13 พ.ค. 2555) พบว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น

ข้อมูลจากนาซาระบุว่าดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 จะใกล้โลกที่สุดในเวลา 02:25 น. (± นาที) ตามเวลาประเทศไทย ด้วยความเร็วสัมพัทธ์ 7.8 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อสังเกตจากพื้นโลกคาดว่าจะสว่างที่สุดราวโชติมาตร 7-8 และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วปรากฏสูงสุดราว ลิปดาต่อวินาที หรือระยะพอ ๆ กับขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในเวลาเพียงครึ่งนาที

เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 เมื่อสังเกตจากบริเวณกรุงเทพฯ (ที่อื่น ๆ จะต่างจากนี้เล็กน้อย) (ปรับปรุง: 12 ก.พ. 2556) 

การสังเกตจากประเทศไทย


ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถสังเกตดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ดี เนื่องจากช่วงที่ใกล้โลกที่สุด ดาวเคราะห์น้อยจะอยู่สูงที่มุมเงยประมาณ 60° และมีเส้นทางปรากฏเคลื่อนผ่านเหนือศีรษะในเวลาประมาณตี จำเป็นต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำที่มีฐานยึดกับขาตั้ง สามารถปรับหมุนตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยได้ และควรสังเกตจากชานเมือง หรือสถานที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ หากถ่ายภาพโดยเปิดหน้ากล้องทิ้งไว้ ภาพที่ได้ก็จะเห็นดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่เป็นทางโดยมีดาวฤกษ์เป็นฉากหลัง

เมื่อสังเกตจากประเทศไทย 2012 ดีเอ 14 จะปรากฏบนท้องฟ้าในคืนวันศุกร์ที่ 15 เข้าสู่เช้ามืดวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 โดยขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง สว่างที่โชติมาตร 9-10 อยู่บริเวณใกล้กลุ่มดาวกางเขนใต้ จากนั้นเคลื่อนที่ขึ้นมาทางทิศเหนือ ผ่านกลุ่มดาวสิงโตในเวลาประมาณตี ซึ่งเป็นช่วงที่สว่างที่สุดราวโชติมาตร 7.1 จากนั้นผ่านกลุ่มดาวหมีใหญ่ในเวลาประมาณตี โดยความสว่างลดลงไปที่โชติมาตร 8.6 (ขณะนี้บอกได้เพียงเส้นทางคร่าว ๆ เพราะมีโอกาสคลาดเคลื่อนไปจากนี้) สภาพท้องฟ้าโดยทั่วไปเป็นคืนเดือนมืด ดวงจันทร์อยู่ในช่วงครึ่งแรกของข้างขึ้น ตกลับขอบฟ้าก่อน ทุ่มเล็กน้อย จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการสังเกตการณ์

วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ระดับหนึ่ง จึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนจากแนวเส้นทางที่คาดหมาย เป็นเหตุให้ขณะที่เขียนบทความนี้ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งบนท้องฟ้าอย่างแม่นยำได้ เมื่อใกล้วันที่ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก คาดว่าจะมีการสังเกตการณ์เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากหอดูดาวในซีกโลกใต้ ซึ่งน่าจะช่วยให้วงโคจรของ 2012 ดีเอ 14 ได้รับการปรับปรุง และสามารถคำนวณเส้นทางการเคลื่อนที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คาดว่าจะทราบตำแหน่งที่แน่นอนเมื่อถึงเวลานั้น

ข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง


ช่วงปี 2555 ได้มีการเสนอข่าวที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า 2012 ดีเอ 14 มีโอกาสชนโลกในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยืนยันว่ามันจะไม่ชนโลกในปีนี้อย่างแน่นอน ส่วนโอกาสที่จะชนโลกในอนาคตหลังจากนั้นอาจยังมีอยู่ ต้องคอยติดตามวงโคจรที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการเฉียดเข้าใกล้โลกครั้งนี้

ข้อมูลปรับปรุงล่าสุด


23 กุมภาพันธ์ 2556 ผลการคำนวณเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 โดยองค์การนาซาและนีโอดิส (NEODyS) ของยุโรป พบว่าดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 ได้ผ่านใกล้โลกที่สุดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 02:24-02:25 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยห่างจากศูนย์กลางโลก 34,053 กิโลเมตร หรือจากผิวโลก 27,675 กิโลเมตร ไม่มีโอกาสชนกับดาวเทียมค้างฟ้า และไม่ได้ผ่านเงามืดของโลก ข้อมูลล่าสุดจากการวัดด้วยเรดาร์พบว่า 2012 ดีเอ 14 มีขนาดเล็กกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยวัดได้ว่ามีขนาดประมาณ 20×40 เมตร หมุนรอบตัวเองด้วยคาบ 8-9 ชั่วโมง

เมื่อสังเกตจากประเทศไทย ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดเมื่อเวลาประมาณ 02:30 น. ขณะนั้นอยู่สูงทางทิศใต้ที่มุมเงย 70° ในพื้นที่ของกลุ่มดาวสิงโต หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที ดาวเคราะห์น้อยจะสว่างที่สุดที่โชติมาตร 6.7 ขณะผ่านใกล้ดาวหางสิงห์ (Denebola) หรือบีตาสิงโต (β Leo) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์โชติมาตร 2

ภาพเรดาร์จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่โกลด์สโตนในทะเลทรายโมฮาวี รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ขณะใกล้โลก ได้มีการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์บนเว็บไซต์ต่าง 

     JPL/NASA
     The Virtual Telescope Project
     Clay Center Observatory
     SLOOH SpaceCamera
     Bareket Observatory

ภาพถ่าย 2012 ดีเอ 14 โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย


สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้บันทึกภาพเหตุการณ์ ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคต ต.โป่งก้อนเส้า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ภาพนี้ถ่ายโดยการหันกล้องตามดาวเคราะห์น้อย จึงเห็นดาวเคราะห์น้อยเป็นจุด เส้นที่เห็นเป็นขีดคือดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง





แหล่งข้อมูล


     2012 DA14 JPL Small-Body Database Browser
     Near-Earth Asteroid 2012 DA14 to Miss Earth on February 15, 2013 Near Earth Object Program NASA
     Asteroid 2012 DA14 To Pass Very Close to the Earth on February 15, 2013 Near Earth Object Program NASA
     Asteroid 2012 DA14 – Earth Flyby Reality Check NASA
     Record Setting Asteroid Flyby NASA Science
     2012 DA14 Earth Impact Risk Summary Near Earth Object Program NASA
     2012 DA14 NEODyS
     Clearing Up the FUD on 2012 DA14 IAU Minor Planet Center
     Near-miss asteroid will return next year ESA
     Stranger in the night: space rock to make close Earth flyby ESA
     2012 DA14 E.A.R.N DLR
     Asteroid 2012 DA14 to Zip Past Earth Sky Telescope
     2012 DA14 Goldstone Radar Observations Planning NASA

ดูเพิ่ม


     ข่าวดาราศาสตร์ เตรียมต้อนรับดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14
     สารพันคำถามเกี่ยวกับดาราศาสตร์ หมวดดาวหางและดาวเคราะห์น้อย

บทความที่เกี่ยวข้อง :