สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางในปี 2554

ดาวหางในปี 2554

9 มีนาคม 2554
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2564
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ดาวหางเป็นวัตถุขนาดเล็กที่มีรูปร่างไม่แน่นอน โดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่า 10 กิโลเมตร ประกอบด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแอมโมเนีย ปะปนอยู่กับฝุ่นและหิน ขณะที่ดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์มันจะมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยและจางมาก แสงส่วนใหญ่ที่สังเกตได้เกิดจากการสะท้อนแสงอาทิตย์ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ รังสีความร้อนจะทำให้น้ำแข็งระเหิด นำพาฝุ่น แก๊ส และโมเลกุลต่าง ๆ พุ่งออกมา เกิดเป็นหัวดาวหางหรือโคม่า (coma) มีลักษณะเป็นทรงกลมล้อมรอบนิวเคลียส ฝุ่นและแก๊สเหล่านี้พุ่งออกมาจากพื้นผิวด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ จากนั้นลมสุริยะอาจทำให้เกิดหาง โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น หาง คือหางแก๊สกับหางฝุ่น

หางแก๊สประกอบด้วยอนุภาคมีประจุไฟฟ้า มันได้รับอิทธิพลจากสนามแม่เหล็กในลมสุริยะ จึงพุ่งเหยียดตรงไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หางฝุ่นมักทอดยาวเป็นแนวโค้ง แผ่กว้างและแบน ฝุ่นที่ถูกทิ้งไว้ในอวกาศเรียกว่าสะเก็ดดาว (meteoroid) ซึ่งหากแนวการเคลื่อนที่ของมันผ่านใกล้วงโคจรโลก อาจทำให้เกิดฝนดาวตก

ดาวหางแมกนอต (C/2006 P1 McNaught) เมื่อเดือนมกราคม 2550 เป็นดาวหางสว่างที่มีหางแผ่กว้างสวยงาม น่าเสียดายที่ดาวหางดวงนี้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถเห็นได้จากประเทศไทย โดยเฉลี่ยมีดาวหางที่สว่างจนสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ทศวรรษละหนึ่งดวง (ภาพ – Robert McNaught) 

เราอาจแบ่งดาวหางออกเป็น ชนิดใหญ่ ๆ ตามวงโคจร ดาวหางรายคาบหรือดาวหางคาบสั้น มีคาบต่ำกว่า 200 ปี ชื่ออย่างเป็นทางการของดาวหางชนิดนี้จะเริ่มต้นด้วย P/ แล้วตามด้วยปีที่ค้นพบ ลำดับของการค้นพบ และชื่อผู้ค้นพบ ซึ่งอาจเป็นบุคคล หรือชื่อโครงการสำรวจต่าง ๆ นอกเหนือจากนั้นเป็นดาวหางคาบยาว วงโคจรเป็นได้ทั้งวงรี พาราโบลา หรือไฮเพอร์โบลา ชื่อของดาวหางกลุ่มหลังนี้ขึ้นต้นด้วย C/

ตลอดปี 2554 มีดาวหางรายคาบอยู่มากกว่า 30 ดวง และดาวหางคาบยาวอีกเกือบ 20 ดวงที่จะผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (ข้อมูลเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2554) เกือบทั้งหมดมีความสว่างต่ำมาก สังเกตได้ยากสำหรับนักดูดาวสมัครเล่น ดาวหางเอเลนินและดาวหางแกร์ราดด์เป็นดาวหาง ดวงที่สว่างพอจะสังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องสองตา

ดาวหางเอเลนิน (C/2010 X1 Elenin)

เลโอนิด เอเลนิน (Леонид Еленин Leonid Elenin) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวรัสเซีย ค้นพบดาวหางดวงนี้ในภาพที่ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 18 นิ้ว ในหอดูดาว ISON-NM รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 วงโคจรของดาวหางเป็นวงรีที่มีความรีสูงมากจนเกือบเป็นพาราโบลา ระนาบวงโคจรเอียงทำมุมเพียง 1.8° กับระนาบวงโคจรโลก มันจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 10 กันยายน 2554 ตามเวลาสากล ที่ระยะห่าง 0.482 หน่วยดาราศาสตร์ (72 ล้านกิโลเมตร) ระนาบวงโคจรที่มีความเอียงต่ำทำให้ดาวหางเอเลนินมีโอกาสผ่านใกล้ดาวเคราะห์น้อยบางดวงในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (ไม่พบว่ามีโอกาสชนกับวัตถุใด ๆ)

ดาวหางเอเลนินเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2553 ภาพนี้เป็นภาพซ้อนจากภาพถ่าย ภาพ แต่ละภาพเปิดช่องรับแสงนาน 300 วินาที จุดดาวที่เห็นเกิดจากการเคลื่อนที่ของดาวหาง (ภาพ – Aleksei Sergeyev Artyom Novichonok Maidanak Observatory) 

ปลายเดือนสิงหาคม 2554 ดาวหางเอเลนินอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว อาจมีโชติมาตร ซึ่งจางเกินกว่าที่ตาเปล่าจะเห็นได้ และสังเกตได้ยากจากประเทศไทย เนื่องจากเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดสนิทหลังดวงอาทิตย์ตกแล้ว ดาวหางจะอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามาก หลังจากนั้นสว่างขึ้นอย่างช้า ๆ พร้อมกับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ยานโซโฮที่สำรวจดวงอาทิตย์จะสามารถจับภาพดาวหางได้ (ปรากฏใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 25-26 กันยายน) ขณะนั้นดาวหางสว่างที่สุดด้วยโชติมาตร 5-6

เช้ามืดของต้นเดือนตุลาคม 2554 จะเริ่มสังเกตดาวหางเอเลนินได้บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในกลุ่มดาวสิงโต อาจสว่างที่โชติมาตร สังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ภายใต้ฟ้ามืด มันทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์อย่างรวดเร็ว หากไม่มีเมฆฝนเป็นอุปสรรค วันที่ 8-11 ตุลาคม จะเป็นช่วงที่สังเกตได้ดีที่สุดก่อนแสงจันทร์รบกวน โดยดาวหางจะปรากฏทางทิศเหนือของดาวหัวใจสิงห์

เช้ามืดวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ดาวหางเอเลนินจะใกล้โลกที่สุด ห่างประมาณ 0.23 หน่วยดาราศาสตร์ (35 ล้านกิโลเมตร) ขณะนั้นดาวหางเข้าสู่กลุ่มดาวปู คาดว่ามีโชติมาตร 6.5 วันที่ 21 ตุลาคม เข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ ผ่านใกล้ดาวพอลลักซ์และคาสเตอร์ ความสว่างน่าจะลดลงไปที่โชติมาตร ปลายเดือนตุลาคมย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวสารถี และคาดว่าจะจางลงไปที่โชติมาตร 8

ข้อมูลเพิ่มเติม (31 สิงหาคม 2554)

จากการสังเกตการณ์ของนักดาราศาสตร์ พบว่าในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2554 ดาวหางเอเลนินได้ลดความสว่างลง แทนที่จะเพิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้สูงว่ามันได้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และอาจไม่สว่างพอที่จะสังเกตได้ในต้นเดือนตุลาคม ตามที่คาดหมายไว้ก่อนหน้านี้

ดาวหางแกร์ราดด์ (C/2009 P1 Garradd)

กอร์ดอน แกร์ราดด์ (Gordon Garradd) เป็นผู้ค้นพบดาวหางดวงนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ที่หอดูดาวไซดิงสปริง รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ดาวหางแกร์ราดด์โคจรรอบดวงอาทิตย์ในวงโคจรรูปไฮเพอร์โบลา ระนาบวงโคจรเอียงทำมุม 106° กับระนาบวงโคจรโลก จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ตามเวลาสากล ที่ระยะห่าง 1.551 หน่วยดาราศาสตร์ (232 ล้านกิโลเมตร)

เมื่อสังเกตจากโลก ดาวหางแกร์ราดด์จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในเดือนสิงหาคม 2554 ขณะนั้นอาจสว่างที่โชติมาตร ถึง สังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ เป็นช่วงดาวหางเคลื่อนอยู่บริเวณกลุ่มดาวโลมาและลูกธนู สังเกตได้นานหลายชั่วโมงตั้งแต่หัวค่ำถึงเช้ามืด หลังจากนั้นมันจะสว่างขึ้นอย่างช้า ๆ โดยเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส เริ่มเห็นได้ตั้งแต่เวลาหัวค่ำ แต่มีช่วงเวลาที่สามารถสังเกตได้สั้นลงทุกวัน เนื่องจากมันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น

ต้นเดือนพฤศจิกายน ดาวหางอาจสว่างที่โชติมาตร ปลายเดือนเป็นต้นไปดาวหางจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จนสังเกตไม่ได้ ต้นเดือนมกราคม 2555 เริ่มสังเกตได้อีกครั้งบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ความสว่างของดาวหางแกร์ราดด์จะเพิ่มขึ้น คาดว่าสว่างที่สุดด้วยโชติมาตร ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และสามารถสังเกตได้ต่อไปถึงฤดูร้อน เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2555 ดาวหางเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวมังกร หมีเล็ก และหมีใหญ่ คาดว่าปลายเดือนเมษายนอาจจางลงไปที่โชติมาตร ขณะเข้าสู่กลุ่มดาวแมวป่า

หมายเหตุ ความสว่างของดาวหางอาจต่างจากที่คาดหมายได้