สมาคมดาราศาสตร์ไทย

คู่มือการใช้แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ รุ่น “ดาวชาละวัน” สมาคมดาราศาสตร์ไทย

คู่มือการใช้แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ รุ่น “ดาวชาละวัน” สมาคมดาราศาสตร์ไทย

27 สิงหาคม 2562 โดย: นายพรชัย รังษีธนะไพศาล
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 13 มกราคม 2563
       แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ รุ่น “ดาวชาละวัน” ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย สำหรับใช้ดูดาวที่ละติจูด ๑๕ องศาเหนือ ใช้ได้กับประเทศไทยและทุกประเทศในโลกที่ตั้งอยู่บริเวณละติจูด ๑๕ องศาเหนือ เป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา และผู้สนใจใช้สำหรับฝึกทักษะการดูดาวด้วยตนเองอีกด้วย 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙  ชื่อ “ชาละวัน” ชนะการลงคะแนนทั่วโลกเพื่อตั้งชื่อให้แก่ดาว  47 Ursae Majoris ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (ดาวจระเข้) ดาวดวงนี้มีดาวเคราะห์ต่างระบบที่พบเป็นดาวบริวารในขณะนั้น ๒ ดวง ชื่อ ตะเภาทอง และตะเภาแก้ว เป็นดาวเคราะห์แก๊ส บริวารทั้ง ๒ ดวง นับเป็นชื่อสามัญของระบบดาวฤกษ์และดาวเคราะห์เป็นชื่อไทยชุดแรกในเอกภพ 

แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 

   ๑. ใช้ค้นหาวัตถุท้องฟ้า, กลุ่มดาวจักรราศี, กลุ่มดาวสำคัญๆ, สามเหลี่ยมฤดูหนาว, สามเหลี่ยมฤดูร้อน, กระจุกดาว, เนบิวลา, ดาราจักรต่าง ๆ, ทางช้างเผือก และตำแหน่งของดาวฤกษ์ชื่อไทย “ดาวชาละวัน” ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (ดาวจระเข้)
   ๒. หาตำแหน่งและเวลาขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในแต่ละวัน
   ๓. สามารถใช้ข้อมูลจากปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ หาตำแหน่งของดาวเคราะห์ ได้แก่ ดาวพุธ, ดาวศุกร์, ดาวอังคาร, ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์, ดาวหาง, ฝนดาวตก, ดาวเคราะห์น้อย และดวงจันทร์โดยใช้แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ประกอบ สามารถระบุตำแหน่งลงบนแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ได้เพื่อสะดวกในการสังเกต

ส่วนประกอบต่างๆ ในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ รุ่น “ดาวชาละวัน”



แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้มีสองหน้า ได้แก่ หน้าขั้วฟ้าเหนือ (ทิศเหนือ) และหน้าซีกฟ้าใต้ (ทิศใต้) แต่ละหน้ามีรายละเอียดแสดงส่วนประกอบต่างๆ ในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ดังต่อไปนี้
  ๑. ทิศ   ทิศหลัก ๔ ทิศ เช่น ทิศเหนือ, ทิศตะวันออก, ทิศใต้, และทิศตะวันตก  ทิศรองอีก ๔ ทิศ เช่น ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, ทิศตะวันออกเฉียงใต้, ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ, และทิศตะวันตกเฉียงใต้
  ๒. เวลา  กรอบนอกที่อยู่เหนือแผ่นหมุนแสดงนาฬิกา ๒๔ ชั่วโมง (หนึ่งขีดแทนค่าเท่ากับ ๑๐ นาที) 
  ๓. เดือน บนด้านนอกของแผ่นหมุนสีขาว มี ๑๒ เดือน (มกราคม – ธันวาคม) 
  ๔. วันที่ บนแผ่นหมุนสีขาว แต่ละเดือนมี ๓๐ วัน (ขีดหนึ่งขีดแทนค่าเท่ากับ ๑ วันของเดือน) 
  ๕. อันดับความสว่างปรากฏ (Magnitude) ของดาวฤกษ์ ตัวเลขมากมีค่าความสว่างน้อย ตัวเลขน้อยมีค่าความสว่างมาก เช่น เลข ๕ มีค่าความสว่างน้อย    ๑ มีค่าความสว่างมาก (ทางมุมล่างซ้าย)
  ๖. สัญลักษณ์แสดงชนิดของวัตถุท้องฟ้า และบัญชีรายชื่อ (อยู่ล่างกลางแผนที่)
  ๗. QR code คือ คู่มือการใช้แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ ให้ดาวน์โหลดฟรี ทั้งด้านขั้วฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้(ด้านล่างมุมขวา)
  ๘. ส่วนโค้งของแผนที่ขั้วฟ้าเหนือ และซีกฟ้าใต้ แทนตำแหน่งของขอบฟ้า ของผู้สังเกต
  ๙. หมุดกึ่งกลางแผ่นหมุน ด้านขั้วฟ้าเหนือแทนตำแหน่งของดาวเหนือ (Polaris) ที่มุมเงย ๑๕ องศาเหนือ ด้านซีกฟ้าใต้แทนขั้วฟ้าใต้ ซึ่งมองไม่เห็นที่ละติจูด ๑๕ องศาเหนือ
๑๐. เส้นโค้งนอนสีเขียว (บนแผ่นใส) บอกค่ามุมเงย (Altitude) บนท้องฟ้าแบ่งช่องละ ๑๕ องศา
๑๑. เส้นโค้งตั้งสีเขียว (บนแผ่นใส) บอกค่ามุมทิศ (Azimuth) แนวราบขอบฟ้า ๔๕ องศา (แบ่งช่องละ ๑๕  องศา)
๑๒. จุดตัดของเส้นสีเขียว (บนแผ่นใส) เรียกว่า จุดจอมฟ้า (Zenith) จุดกึ่งกลางศีรษะบนท้องฟ้าของผู้สังเกต
๑๓. เส้นตรงที่ลากจากขอบฟ้าทิศเหนือผ่านดาวเหนือตรงไปทางทิศใต้ถึงขอบฟ้าใต้ (บนแผ่นใส) เรียกว่า เส้นสูงเที่ยง หรือ เมริเดียน (Meridian)
๑๔. เส้นประ (บนแผ่นหมุน) คือ เส้นสุริยวิถีที่ดาวคราะห์และดวงจันทร์โครจรผ่าน จุดแต่ละจุดในแผ่นหมุน แทนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในแต่ละวันตลอดทั้งปี  (ใช้หาดวงอาทิตย์ขึ้น และตกแต่ละวัน)
๑๕. เส้นทึบ (บนแผ่นหมุน) เส้นที่ลากจากทิศตะวันออกโค้งมาที่ทิศตะวันตก เรียกว่า เส้นศูนย์สูตรฟ้า
๑๖. จุด คือ ดาวฤกษ์ และเส้นที่ลากเชื่อมจุด คือ ดาวเรียงเด่น (asterism) ซึ่งเป็นหมายสังเกตของกลุ่มดาว
๑๗. แถบเส้นสีเทาพาดผ่านท้องฟ้า แทนแนวทางช้างเผือก (Milky Way)
๑๘. คำแนะนำการใช้แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้

วิธีการใช้แผนที่ฟ้า/ใต้


๑. กำหนดเดือน วันที่ และเวลา ในค่ำคืนที่เราจะดูดาว แล้วหันหน้าไปทางทิศเหนือ เช่น
ถ้าต้องการดูดาวในคืนวันที่ ๒๐ สิงหาคม เวลา ๒๐:๐๐ น. ให้หันแผนที่ฟ้า ด้านขั้วฟ้าเหนือเข้าหาตัวเรา แล้วหมุนแผ่นหมุนสีขาว ให้ขีดวันที่ ๒๐ เดือนสิงหาคม มาตรงกับขีดช่องเวลา ๒๐:๐๐ น. ดังรูปที่ ๑.

รูปที่ ๑ ตั้งวันที่ ๒๐ สิงหาคม  เวลา ๒๐ :๐๐ น. หน้าขั้วฟ้าเหนือ 

๒. ยกแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ขึ้น แล้วเอียงเล็กน้อย จะเห็นทิศต่างๆ บนแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้จะตรงกับทิศจริงบนพื้นโลก คือ ข้างหน้าเราเป็นทิศเหนือ (ตรงหมุดหมุน ชี้ไปที่ทิศเหนือ) ทางขวามือเป็นทิศตะวันออก ทางซ้ายมือเป็นทิศตะวันตก และด้านหลังของเราเป็นทิศใต้ (ข้อความบนแผนที่ทิศใต้ ชี้ไปข้างหลังเรา)

๓. เปรียบเทียบดาวฤกษ์ เส้นเชื่อมเป็นกลุ่มดาวบนแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้กับกลุ่มดาวบนท้องฟ้าจริง จะตรงกัน โดยใช้เส้นพิกัดบอกค่ามุมเงยและมุมทิศ จะเห็นกลุ่มดาว วัตถุท้องฟ้า ทางช้างเผือก ของคืนวันที่ ๒๐ สิงหาคม เวลา ๒๐:๐๐ น. ดังรูปที่ ๒.

รูปที่ ๒ กลุ่มดาวบนแผนที่ปรากฏเหมือนบนท้องฟ้าจริงทางขั้วฟ้าเหนือ 

๔. ดูที่แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ (บนแผ่นหมุนสีขาว)จะเห็นดาวฤกษ์สว่างดวงหนึ่งอยู่ในกลุ่มดาวพิณ คือ ดาวเวกา อยู่สูงจากขอบฟ้าเป็นมุมเงย ๖๕ องศาทางทิศเหนือ และเห็นดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งอยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ คือ ดาวดวงแก้ว อยู่สูงจากขอบฟ้า เป็นมุมเงยประมาณ ๔๐ องศาทางทิศตะวันตก เห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ (ดาวจระเข้) อยู่ที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มุมเงย ๑๕ องศา และเห็นแนวทางช้างเผือกที่เป็นแถบสีเทาในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศใต้ เมื่อดูดาวบนท้องฟ้าจริงก็จะเห็นกลุ่มดาว ทางช้างเผือกเหมือนกันในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ ดังรูปที่ ๒.

รูปที่ ๓. วันที่ ๒๐ สิงหาคม  เวลา ๒๐:๐๐ น. หน้าซีกฟ้าใต้ 

๕. ถ้าต้องการดูดาวทางซีกฟ้าใต้ ให้กลับหลังหันไปทางทิศใต้พร้อมกับพลิกด้านของแผนที่ซีกฟ้าใต้เข้าหาตัวเรา แล้วทำตามขั้นตอนเหมือนข้อ ๓. จะเห็นว่าขีดวันที่ ๒๐ สิงหาคม ตรงกับขีดเวลา ๒๐:๐๐ น. ดังรูปที่ ๓.  ซึ่งตรงกับหน้าขั้วฟ้าเหนือเหมือนกัน เราจะเห็นดาวฤกษ์สว่างชื่อ ดาวปาริชาต (หัวใจแมงป่อง) อยู่ในกลุ่มดาวแมงป่องสูงจากขอบฟ้ามุมเงย ๔๕ องศาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และเห็นดาวฤกษ์สว่างชื่อ ดาวดวงแก้ว อยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ สูงจากขอบฟ้ามุมเงยประมาณ ๔๐ องศา เห็นแนวทางช้างเผือกสีเทาพาดผ่านกลางท้องฟ้าจากทิศใต้ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งศูนย์กลางของทางช้างเผือก (Milky Way) อยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู  รูปที่ ๔.

รูปที่ ๔. กลุ่มดาวบนแผนที่ปรากฏเหมือนบนท้องฟ้าจริงทางซีกฟ้าใต้ 

การหาตำแหน่งเวลาขึ้นและตกของดวงอาทิตย์บนแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้

     เราทราบแล้วว่าโลกหมุนรอบตัวเองด้วยกฎมือขวา ครบ ๑ รอบเท่ากับ ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๑ วัน พร้อมกับโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หมุนทิศทางเดียวกับกฎมือขวาเช่นเดียวกัน หมุนครบรอบ ๓๖๕ วันหรือ ๑  ปี ถ้าเราอยู่บนโลกใน ๑ วันเราจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางขอบฟ้าทิศตะวันออกเคลื่อนสูงขึ้นไปกลางท้องฟ้าแล้วเคลื่อนต่ำลงมาทางขอบฟ้าทิศตะวันตก เราจะหาเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละวันได้ในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ ดังต่อไปนี้
หาดวงอาทิตย์ขึ้นวันที่ ๒๑ มีนาคม เวลากี่โมง


๑.แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ ด้านหน้าขั้วฟ้าเหนือ (ทิศเหนือ) กำหนดวันที่และเดือนที่จะหาเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก เช่น ในวันที่ ๒๑ มีนาคม อยากจะรู้ว่าวันนี้ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้ากี่โมง และดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้ากี่โมง
๒.หาวันที่ ๒๑ เดือนมีนาคม ที่จุดประบนเส้นสุริยวิถี (ในแผ่นหมุนสีขาว) หมุนแผ่นหมุน ให้จุดประวันที่ ๒๑ มีนาคม มาชนขอบฟ้าทางทิศตะวันออก (มุมทิศ ๙๐ องศา) 
๓.ดูขีดวันที่ ๒๑ เดือนมีนาคม (บนแผ่นหมุนด้านนอกสุด) ขีดวันที่ ๒๑ มีนาคมจะตรงกับขีดเวลาที่ ๖ นาฬิกานั่นหมายความว่า วันที่ ๒๑ มีนาคม ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา ๐๖:๐๐ น. 
หาดวงอาทิตย์ตกวันที่ ๒๑ มีนาคม กี่โมง


๔.หาวันที่ ๒๑ เดือนมีนาคม ที่จุดประบนเส้นสุริยวิถี (ในแผ่นหมุนสีขาว) หมุนแผ่นหมุน ให้จุดประวันที่ ๒๑ มีนาคม มาชนขอบฟ้าทางทิศตะวันตก (มุมทิศ ๒๗๐ องศา) 

๕.ดูขีดวันที่ ๒๑ เดือนมีนาคม (บนแผ่นหมุนด้านนอกสุด) ขีดวันที่ ๒๑ มีนาคมจะตรงกับขีดเวลาที่ ๑๘ นาฬิกานั่นหมายความว่า วันที่ ๒๑ มีนาคม ดวงอาทิตย์ตกขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเวลา ๑๘:๐๐ น. 
หมายเหตุ  การหาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกแต่ละวัน ของเดือนทำตามขั้นตอนข้างต้นตามข้อ ๑ – ๕ ตามรูป

การหาตำแหน่งดาวเคราะห์ ๕ ดวงที่มองเห็นได้ ดาวหางและดวงจันทร์ในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้

แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ ไม่มีตำแหน่งให้เห็นของดาวเคราะห์ทั้ง ๕ ดวงที่มองเห็นได้เช่น ดาวพุธ, ดาวศุกร์, ดาวอังคาร, ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ รวมทั้งดาวหาง, ดวงจันทร์ เพราะดาวเคราะห์และดวงจันทร์ หมุนรอบตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์เคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปแต่ละเดือนทำให้ไม่สามารถระบุตำแหน่งลงในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ได้ แต่เราสามารถหาตำแหน่งดาวเคราะห์ทั้ง ๕ ดวง, ดาวหางและดวงจันทร์ได้ โดยใช้ข้อมูลปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ หาตำแหน่งดาวเคราะห์ประจำปี จากตารางดาวเคราะห์มาลงจุดในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ ได้ดังนี้

ตารางตำแหน่งดาวเคราะห์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙)


รายละเอียดตารางดาวเคราะห์มีดังนี้
๑.แถบเดือน มกราคม – ธันวาคม                              
๒.ขีดเล็กๆ ๑ ขีด แทน ๑๐ วันของเดือน                                 
๓.เส้นแบ่งเขตเดือน หรือวันที่ ๓๐, ๓๑                                 
๔.ชื่อกลุ่มดาวจักรราศี                                                         
๕.แถบเส้นทึบ สว่างแบ่งขอบเขตกลุ่มดาวจักรราศี               
๖.แถบทึบและสว่างกลุ่มดาวจักรราศี                                    
๗.ตรงลูกศรเส้นสีแดงตรงกลางเป็นตำแหน่งดวงอาทิตย์
๘. ดูดาวเคราะห์ตอนเช้ามืด
๙. ดูดาวเคราะห์ตอนหัวค่ำ
๑๐. ระยะมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตก
๑๑. ระยะมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออก
๑๒. ขีดเล็กๆ ๑ ขีด แทน ๑๐ องศาของระยะห่างดวงอาทิตย์
๑๓. เส้นทึบ เส้นประ เป็นเส้นทางโคจรของดาวเคราะห์ทั้ง ๕ ดวง

วิธีหาตำแหน่งดาวเคราะห์โดยใช้ตารางดาวเคราะห์มาลงจุดในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้
 

เตรียมอุปกรณ์ดังนี้
ปากกาสีแดง, ดินสอ, ยางลบ, ไม้บรรทัด, แผ่นสติ๊กเกอร์สี สีแดง, สีชมพู, สีเขียว, สีส้ม, สีฟ้า, สีม่วง และสีเหลือง ตัวตุ๊ดตู่เจาะกระดาษ (แผ่นสติ๊กเกอร์สีไม่ต้องแผ่นใหญ่ใช้นิดเดียว)

๑.เอาปากกาสีแดงขีดเส้นตรงลงมาที่ตำแหน่งดวงอาทิตย์ ๐ )
๒.กำหนดดูดาวเคราะห์วันที่ ๒๐ เมษายน เอาไม้บรรทัดวางที่ขีดที่ ๒ เล็กๆ เดือนเมษายน (วันที่ ๒๐) ทั้ง ๒ ข้างซ้ายขวา เอาดินสอขีดเป็นเส้นตรงนอนจนจดสองข้าง
๓.เราจะดูดาวเคราะห์ตอนเช้ามืด (ท้องฟ้าเวลาเช้ามืด มุมห่างตะวันตก) เราจะเห็นดาวเคราะห์ ๔ ดวง ดาวพุธ, ศุกร์, พฤหัสบดีและดาวเสาร์ สังเกตที่เส้นทึบทางโคจรของดาวพฤหัสบดี เอาดินสอขีดเส้นตรงลงมา (แทนสีส้ม) ตัดกันระหว่างเส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนตัดเส้นทึบของดาวพฤหัสบดี ปลายเส้นตรงนี้ทั้งบนและล่างอยู่ที่ตำแหน่งระยะมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตกที่ประมาณมุมห่าง ๑๒๕ องศา 
๔.จุดตัดนี้เป็นตำแหน่งดาวพฤหัสบดี อยู่ในแถบสว่างของกลุ่มดาวแมงป่อง
๕.เอาดินสอขีดเส้นตรงลงมา (แทนสีม่วง) ตัดกันระหว่างเส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนตัดเส้นทึบของดาวเสาร์ ปลายเส้นตรงนี้ทั้งบนและล่างอยู่ที่ตำแหน่งระยะมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตกที่ประมาณมุมห่าง ๑๐๐ องศา
๖.จุดตัดนี้เป็นตำแหน่งดาวเสาร์ อยู่ในแถบทึบกลุ่มดาวคนยิงธนู
๗.เอาดินสอขีดเส้นตรงลงมา (แทนสีฟ้า) ตัดกันระหว่างเส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนตัดเส้นทึบของดาวศุกร์ ปลายเส้นตรงนี้ทั้งบนและล่างอยู่ที่ตำแหน่งระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตกที่ประมาณมุมห่าง ๓๐ องศา
๘.จุดตัดนี้เป็นตำแหน่งดาวศุกร์ อยู่ในแถบสว่างกลุ่มดาวปลา
๙.เอาดินสอขีดเส้นตรงลงมา (แทนสีเขียว) ตัดกันระหว่างเส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนตัดเส้นประของดาวพุธ ปลายเส้นตรงนี้ทั้งบนและล่างอยู่ที่ตำแหน่งระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตกที่ประมาณมุมห่าง ๒๘ องศา
๑๐.จุดตัดนี้เป็นตำแหน่งของดาวพุธ อยู่ในแถบสว่างกลุ่มดาวปลา
๑๑.มาดูดาวตอนหัวค่ำบ้าง (ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ มุมห่างตะวันออก) วันที่ ๒๐ เมษายน เราจะเห็นดาวเคราะห์ดวงเดียวคือ ดาวอังคาร เอาดินสอขีดเส้นตรงลงมา (แทนสีชมพู) ตัดกันระหว่างเส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนตัดเส้นประของดาวอังคาร ปลายเส้นตรงนี้ทั้งบนและล่างอยู่ที่ตำแหน่งระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออกที่ประมาณมุมห่าง ๔๐ องศา
๑๒.จุดตัดนี้เป็นตำแหน่งของดาวอังคาร อยู่ในแถบสว่างกลุ่มดาววัว

วิธีลงตำแหน่งดาวเคราะห์ในแผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้
เอาตัวตุ๊ดตู่มาเจาะสติ๊กเกอร์สีทั้ง ๗ สี จะได้สติ๊กเกอร์แผ่นกลมเล็กๆ เจาะสีละ ๒ แผ่นกลม
  

ดูดาวเคราะห์เวลาเช้ามืด (ท้องฟ้าเวลาเช้ามืด)


         จากข้อ ๓,๔. เส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายน และเส้นสีส้มมาตัดเส้นทึบโคจรของดาวพฤหัสบดี อยู่ในแถบสว่างคือ กลุ่มดาวแมงป่อง ปลายเส้นสีส้มอยู่ที่มุมห่างดวงอาทิตย์ ๑๒๕ องศา  ให้หมุนแผ่นหมุนแผนทีฟ้า หาวันที่ ๒๐ เมษายน บนจุดประ (เส้นสุริยวิถี จุดหนึ่งคือ ดวงอาทิตย์) นับจุดประทีละ ๕ ไปทางทิศตะวันตก (ขวามือ) ๑๒๕ จุด จะตกอยู่วันที่ ๑๕ เดือนธันวาคม นั่นคือ ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง (เอาสติ๊กเกอร์สีส้มแทนดาวพฤหัสบดีไปติดบนแผ่นหมุนตรงจุดประวันที่ ๑๕ เดือนธันวาคม (อ้าหน้ากากแผนที่ขึ้น เอาสติ๊กเกอร์ติดบนแผ่นหมุนสีขาวตรงวันที่ ๑๕ เดือนธันวาคม)
        จากข้อ ๕,๖. เส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนและเส้นสีม่วงมาตัดเส้นทึบโคจรของดาวเสาร์ อยู่ในแถบทึบคือ กลุ่มดาวคนยิงธนู ปลายเส้นสีม่วงอยู่ที่มุมห่างดวงอาทิตย์ ๑๐๐ องศา  ให้หมุนแผ่นหมุนแผนที่ฟ้า (ทำตามข้อ ๓,๔.) นับไปทางทิศตะวันตก ๑๐๐ จุด จะตกอยู่วันที่ ๑๒ เดือนมกราคม นั่นคือ ดาวเสาร์จะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู
       จากข้อ ๗,๘. เส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนและเส้นสีฟ้ามาตัดเส้นทึบโคจรของดาวศุกร์ อยู่ในแถบสว่างคือ กลุ่มดาวปลา ปลายเส้นสีฟ้าอยู่ที่มุมห่างดวงอาทิตย์ ๓๐ องศา ให้หมุนแผ่นหมุนแผนที่ฟ้า (ทำตามข้อ ๓,๔.) นับไปทางทิศตะวันตก ๓๐ จุด จะตกอยู่วันที่ ๒๑ เดือนมีนาคม นั่นคือ ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวปลา
       จากข้อ ๙,๑๐. เส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนและเส้นสีเขียวมาตัดเส้นปะโคจรของดาวพุธ อยู่ในแถบสว่างคือ กลุ่มดาวปลา ปลายเส้นสีเขียวอยู่ที่มุมห่างดวงอาทิตย์ ๒๘ องศา ให้หมุนแผ่นหมุนแผนที่ฟ้า (ทำตามข้อ ๓,๔.) นับไปทางทิศตะวันตก ๒๘ จุด จะตกอยู่วันที่ ๒๓ เดือนมีนาคม นั่นคือ ดาวพุธจะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวปลา
     
ดูดาวเคราะห์เวลาหัวค่ำ (ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ)
      จากข้อ ๑๑,๑๒. เส้นตรงวันที่ ๒๐ เมษายนและเส้นสีชมพูมาตัดเส้นประโคจรของดาวอังคาร อยู่ในแถบสว่างคือ กลุ่มดาววัว ปลายเส้นสีชมพูอยู่ที่มุมห่างดวงอาทิตย์ ๔๐ องศา ให้หมุนแผ่นหมุนแผนที่ฟ้า (ทำตามข้อ ๓,๔.) นับไปทางทิศตะวันออก ๔๐ จุด จะตกอยู่วันที่ ๓๐ เดือนพฤษภาคม นั่นคือ ดาวอังคารจะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาววัว


หมายเหตุ ตารางดาวเคราะห์ และตำแหน่งของดวงจันทร์สามารถ Download ได้ที่เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย
                    http://thaiastro.nectec.or.th เข้าไปที่ดาวเคราะห์ประจำปี

การใช้มือวัดมุมดาว

การวัดมุมดาวบนท้องฟ้าโดยใช้มือของเราเป็นเครื่องมือวัดมุมดาว เป็นวิธีที่สืบทอดมาจากขนบดาราศาสตร์ของชาวอียิปต์โบราณ และยังเป็นที่นิยมของนักดาราศาสตร์ทั่วไปนำมาใช้วัดมุมดาวบนท้องฟ้าในปัจจุบัน
     การใช้มือวัดมุมดาวบนท้องฟ้าทำขั้นตอนดังนี้
๑.คนทุกคนมีมือเป็นสัดส่วนตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่เท่ากัน  ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อเทียบกับดินและฟ้า
๒.ดินคือ ภูมิศาสตร์  ฟ้าคือ ดาราศาสตร์ ดังนั้น โลกหมุนรอบตัวเองด้วย กฎมือขวา ฟ้าหมุนด้วยกฎมือซ้าย
๓.เมื่อเรายืนอยู่บนโลก ให้ยื่นแขนขวาออกไปตรงหน้าให้ตรงและตึงระดับหัวไหล่ แล้วกางนิ้วยื่นออกไปทำตามดังนี้ 
            ๓.๑  กางนิ้วก้อย (กำนิ้วทั้ง ๔) ความหนานิ้วก้อย ๑ องศา
             ๓.๒  กางนิ้วชี้ (กำนิ้วทั้ง ๔) ความหนานิ้วชี้ ๒ องศา
             ๓.๓  กางนิ้วชี้กับนิ้วกลาง (กำนิ้วทั้ง ๓) ความหนาทั้งสองนิ้ว ๔ องศา
             ๓.๔  กางนิ้วชี้,กลาง,นาง (กำนิ้วทั้ง ๒) ความหนาทั้งสามนิ้ว ๕ องศา
             ๓.๕   กำมือหนึ่งกำปั้น ความหนาจากฐานนิ้วก้อยถึงนิ้วโป้ง ๑๐ องศา
             ๓.๖   กางนิ้วก้อยกับนิ้วชี้ (กำนิ้วทั้ง ๓) ให้กว้างที่สุดนิ้วก้อยถึงนิ้วชี้ ๑๕ องศา
             ๓.๗   กางนิ้วก้อยกับนิ้วโป้งหรือกางทั้งหมดให้กว้างที่สุดนิ้วก้อยถึงนิ้วโป้ง ๒๒ องศา


หมายเหตุ ข้อ ๓.๑ – ๓.๔  ใช้สำหรับวัดมุมดาว (ระยะเชิงมุม) ระยะห่างระหว่างดาวฤกษ์
                   ข้อ ๓.๕ – ๓.๗  ใช้สำหรับวัดมุมเงย (Altitude) และมุมทิศ (Azimuth)
แผนที่ฟ้ารุ่น “ดาวชาละวัน” ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย เมื่อมีการฝึกฝนฝึกทักษะใช้แผนทีฟ้า/ใต้ ทุกวันให้เกิดความชำนาญ สามารถดูดาวได้ด้วยตนเอง หากลุ่มดาวได้ ดูดาวเป็น สามารถนำไปแนะนำการดูดาวต่อเพื่อนๆ คนชอบดูดาวด้วยกัน ดังนั้นการใช้ประโยชน์ของแผนที่ฟ้า/ใต้  แบบใหม่รุ่น “ดาวชาละวัน” ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยยังสามารถรู้ตำแหน่งดาวฤกษ์ดวงแรกที่มีชื่อไทยสามัญในเอกภพ แผนที่ฟ้าเหนือ/ใต้ใช้ได้ตลอดอายุการใช้งาน ขอให้สนุกและเพลิดเพลินกับการดูดาวนะครับ
                                                                        
สมาคมดาราศาสตร์ไทย  เลขที่ ๙๒๘ ชั้น ๑ อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ถนนสุขุมวิท เขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐  โทร ๐๒ – ๓๘๑๗๔๐๙ – ๑๐  E-mail thaiastro@hotmail.com  เว็บไซต์ http://thaiastro.nectec.or.th
Facebook Fanpage: https://www.facebook.com/theThaiAstro/ Facebook: https://www.facebook.com/groups/thaiastro