สมาคมดาราศาสตร์ไทย

มังกรจีนผงาดฟ้า

มังกรจีนผงาดฟ้า

13 ธันวาคม 2546 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 7 ธันวาคม 2559
ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าผมกำลังจะพูดถึงภาพยนตร์จีนกำลังภายในหรือหนังสือนวนิยายจีนเล่มใหม่ แต่ผมกำลังจะพูดถึงความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีน ที่กำลังจะได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ ของโลกที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศด้วยยานที่สร้างขึ้นเอง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะส่งมนุษย์ขึ้นไปกับยานอวกาศเป็นครั้งแรกหลังจากทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบควบคุมจรวด การก่อสร้างยานอวกาศ การส่งยาน และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มานานเกือบครึ่งศตวรรษ

เริ่มต้นยุคอวกาศของรัสเซียและสหรัฐฯ

รัสเซียเปิดศักราชของการสำรวจอวกาศเมื่อวันที่ ตุลาคม พ.ศ. 2500 ด้วยการส่งสปุตนิค ดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นไปโคจรในอวกาศ หลังจากนั้นเพียง เดือนสหรัฐฯ ก็ส่งเอกซ์พลอเรอร์ ดาวเทียมดวงแรกของตนเองขึ้นไปในวันที่ 31 มกราคม 2501 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาติทั้งสองก็ส่งดาวเทียมและยานอวกาศออกไปมากมาย เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การสื่อสาร อุตุนิยมวิทยา สำรวจพื้นดินด้วยภาพถ่าย และการเดินเรือ

รัสเซียส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์ขึ้นไปด้วยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2504 ขณะที่สหรัฐฯ ส่งมนุษย์สองคนแรกไปเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้วยยานอะพอลโล 11 ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 หลังจากนั้น สหรัฐฯ ก็ส่งนักบินอวกาศไปลงดวงจันทร์อีก 10 คน ในเที่ยวบินของโครงการอะพอลโล ลำถัดมา นักบินอวกาศทั้ง 12 คนที่ได้ไปเดินบนดวงจันทร์ได้เก็บข้อมูลจำนวนมาก รวมทั้งนำหินดวงจันทร์กลับมายังโลก นาซาและรัสเซียได้รับความรู้ใหม่ๆ ในการสำรวจอวกาศยุคต่อมา เช่น สามารถถ่ายภาพระยะใกล้ของดาวเคราะห์ สร้างสถานีอวกาศเพื่อทำการทดลองบนวงโคจร สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นผลพลอยได้จากการสำรวจอวกาศ คือ ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ในยุคปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีการทำอาหารแช่แข็งที่ใช้ในโครงการอะพอลโล ฉนวนกันความร้อนที่ใช้ในจรวด แม้กระทั่งระบบฝึกฝนการตัดสินใจเร่งด่วนภายใต้ความกดดันที่นำมาประยุกต์ใช้กับนักผจญเพลิง

ภาพจำลองยานเสินโจว-2 ขณะโคจรรอบโลก (ภาพจาก Space.com) 


ยุคอวกาศของจีน

จีนเริ่มก้าวเดินบนเส้นทางของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้วยการใช้ "แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 12 ปี" ในปี พ.ศ. 2499 ซึ่งได้แก่การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ด้านจรวด การส่งสัญญาณวิทยุ การควบคุมอัตโนมัติ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำ การพัฒนาในยุคแรกเริ่มได้รับการถ่ายทอดจากอดีตสหภาพโซเวียต แต่หลังจากนั้นจีนก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเองโดยการก่อตั้งสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์ส่งยานอวกาศ สถานีควบคุมภาคพื้นดิน และโรงงานก่อสร้างยาน จีนส่งดาวเทียมดวงแรกของตนเองในเดือนเมษายน พ.ศ. 2513 นับเป็นชาติที่ ในบรรดาประเทศที่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งได้แก่ โซเวียต สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น หลังจากนั้นจีนก็เริ่มต้นให้บริการส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์แก่ประเทศอื่น 

สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 การแทรกแซงของนาโตในโคโซโวเมื่อปี 2541 สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานในปี 2544 และเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในการทหารของสหรัฐฯ ล้วนเป็นแรงผลักดันให้จีนมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของตนเอง บางคนถึงกับกล่าวว่า สงครามเย็นและการแข่งขันด้านอวกาศครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ยานเสินโจว-4 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2545 (ภาพ AP) 

เที่ยวบินสำหรับมนุษย์ในอวกาศ

โครงการเพื่อเตรียมส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศของจีนที่มีชื่อว่า "โปรเจค 921" เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง สถานะทางเศรษกิจที่ตกต่ำลงของรัสเซียกลับเป็นผลดีกับจีน เพราะรัสเซียขายเทคโนโลยีทางการบินและอวกาศของตนให้กับจีน หลังจากการเดินทางเยือนรัสเซียของประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน ในเดือนกันยายน 2537 จากนั้นในปี 2539 นักบินอวกาศของจีนสองคนก็ได้เข้ารับการฝึกที่ศูนย์ฝึกนักบินอวกาศรัสเซีย จีนได้ทดสอบการส่งยานเสินโจว-1 ซึ่งเป็นยานอวกาศลำแรกในโครงการส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2542 จนล่าสุดการทดสอบมีขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2546 เสินโจว-4 ปฏิบัติงานในอวกาศนาน วัน และการทดสอบนำแคปซูลที่ให้มนุษย์อยู่อาศัยได้กลับสู่โลกอย่างปลอดภัย

เป้าหมายของจีนทำให้เรานึกย้อนกลับไปถึงการแข่งขันสู่อวกาศของสหรัฐฯ และรัสเซียในยุค 1960 ซึ่งทำให้เกิดวีรบุรุษของชาติอย่างยูริ กาการิน จอห์น เกลน และนีล อาร์มสตรอง จีนประกาศเป็นทางการแล้วว่าจะส่งยานที่มีมนุษย์อวกาศขึ้นไปเป็นครั้งแรกภายในปีนี้ โดยหนังสือพิมพ์ของฮ่องกงรายงานเมื่อวันศุกร์ว่าจีนจะส่งนักบินอวกาศหนึ่งคนเดินทางไปกับยานเสินโจว-5 ในเดือนตุลาคม 2546


ในอดีตสุนัขและลิงถูกใช้ในยุคแรกของการทดสอบการส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นไปกับยานของสหรัฐฯ และรัสเซีย แต่ยานเสินโจวของจีน ได้นำหุ่นจำลองมนุษย์ขึ้นไปแทนที่จะเป็นสัตว์ทดลอง เจ้าหน้าที่ของจีนกล่าวว่าหุ่นจำลองนี้เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ใช้ชื่อว่าไทโคบอต (TaikoBot) มีระบบที่จำลองสภาวะทางเคมีและกายภาพของมนุษย์ เช่น ระบบการหายใจ การเผาผลาญอาหาร เพื่อใช้ทดสอบกับสภาพแวดล้อมภายในยานซึ่งเป็นระบบที่มีการควบคุมความดัน อุณหภูมิ ความชื้น ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ เพื่อให้รองรับการอยู่อาศัยของมนุษย์

จีนตั้งเป้าหมายระยะสั้นไว้ว่าจะสามารถสร้างระบบดาวเทียมที่รองรับการเติบโตในหลายด้านเช่น ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมทางสมุทรศาสตร์ ดาวเทียมติดตามภัยธรรมชาติ ดาวเทียมสื่อสาร รวมทั้งดาวเทียมที่ใช้ในการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในด้านอื่นๆ แต่ในระยะยาว จีนตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถส่งยานอวกาศไร้มนุษย์ไปยังดวงจันทร์ได้ภายในสองปีครึ่งนับจากปัจจุบัน รวมทั้งส่งยานไปทำแผนที่ และลงจอดบนดวงจันทร์เพื่อเก็บตัวอย่างหินกลับมายังโลก และจีนยังมีแผนในการสร้างสถานีอวกาศหลังจากนั้น และเชื่อว่าจีนจะเตรียมการในการส่งคนไปยังดวงจันทร์ภายใน 20 ปีข้างหน้า แม้ว่ายังไม่มีเป้าหมายเหยียบดวงจันทร์ที่ชัดเจนในขณะนี้

วาระซ่อนเร้น

ในมุมมองของตะวันตก พัฒนาการทางด้านอวกาศและการส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศของจีน อาจไม่ได้เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศ จีนกระหายที่จะเป็นประเทศที่มีอำนาจทางด้านอวกาศผ่านแรงผลักดันจากการเมืองภายใน ความภาคภูมิใจ และเกียรติยศของชาติ นักวิเคราะห์ในตะวันตกกำลังมองว่าจีนกำลังใช้พัฒนาการดังกล่าวในการสร้างความภาคภูมิใจและความสามัคคีของชนในชาติ จีนกำลังจะเป็นชาติที่สามที่ส่งมนุษย์ก้าวออกสู่อวกาศ โดยทิ้งญี่ปุ่นและชาติในยุโรปอยู่เบื้องหลัง สหรัฐฯ อาจกำลังเริ่มวิตกว่าโครงอวกาศที่ดำเนินโดยรัฐบาลทหารของจีนที่มีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์นี้ อาจมีวัตถุประสงค์ทางการทหารอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ว่าจีนกำลังดำเนินนโยบายไปในทิศทางใดก็ตาม โลกจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของจีนอย่างแน่นอน